ภาวะตึงเครียดจากการสูญเสียพนักงานในกลุ่มวิจัยผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แม้ต้นตอที่แท้จริงจะฝังรากลึกมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว
ผู้ใกล้ชิดกับเหตุการณ์นี้จำนวน 8 คน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า พนักงานหลายคนต้องเผชิญหน้ากับความผิดหวังเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กร พนักงานบางส่วนเท่านั้นที่เติบโตในหน้าที่การงาน ขณะที่ความคิดของพนักงานอีกส่วนกลับไม่เคยถูกนำไปพัฒนาเป็นความจริง
แหล่งข่าว 4 จาก 8 คน กล่าวว่า พนักงานจำนวนหนึ่งต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความก้าวหน้าและความท้าทายในระบบสุขภาพ เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ เทคโนโลยีพูดคุยสื่อสารระหว่างแพทย์และคนไข้แบบเรียลไทม์ หรือระบบจ่ายเงินด้านสุขภาพ แต่แนวความคิดเหล่านี้กลับไม่เคยถูกหยิบขึ้นมาพัฒนาอย่างจริงจัง
ความสนใจด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพของแอปเปิลจำกัดตัวอยู่กับสินค้าสวมใส่ได้ หรือ แอปเปิลวอตช์ ที่ช่วยผลักดันการเติบโตของบริษัทอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่า 'ทิม คุก' ซีอีโอของแอปเปิล จะออกมาพูดถึงปณิธานเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ แต่นวัตกรรมใหม่ๆ ก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง
ยิ่งใหญ่แต่ใจไม่ถึง
หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่หยั่งรากลึกลงไปในวิสัยทัศน์ของทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพของแอปเปิลคือการขาดความทะเยอทะยานของบริษัท แหล่งข่าว 4 คน กล่าวว่า ทีมต้องการนำเสนอสินค้าที่ใช้เพื่อการแพทย์มากกว่านี้ แต่บริษัทกลับเน้นแค่สินค้าเพื่อการมีสุขภาพที่ดีเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะขาดทุน
แหล่งข่าวกล่าวว่า ความท้าทายของผู้วิจัยผลิตภัณฑ์ คือ การมุ่งเป้าไปที่ผู้ป่วยที่เผชิญหน้ากับโรคเฉพาะด้านต่างๆ ซึ่งร้อยละ 90 ของค่าใช้จ่ายในกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ย่อมต้องใช้เพื่อการรักษาบรรเทาอาการ แต่บริษัทต้องการมุ่งเป้าไปที่ 'ผู้บริโภคที่มีสุขภาพดีอยู่แล้ว' และมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตอบโจทย์เรื่องการรักษาสุขภาพ เช่น การออกกำลังกาย การนั่งสมาธิ และการนอนหลับ
ความขัดแย้งภายในและทิศทางบริษัทที่ไม่ท้าทายทำให้แอปเปิลสูญเสียพนักงานระดับสูงไปแล้วหลายคน ทั้ง 'โรบิน โกลด์สไตน์' ผู้ที่ทำงานให้แอปเปิลมานานกว่า 20 ปี และทำงานด้านกำกับดูแลสุขภาพก่อนจะลาออกไปช่วงกลางปี 2560 รวมทั้ง 'เอนิว เซติ' อดีตผู้อำนวยการแอปเปิลฝั่งสุขภาพที่ลาออกในช่วงปลายปี 2560
นอกจากนี้ก็ยังมี 'เครก เมอร์เมล' อดีตวิศวกรที่ทำงานให้กับแอปเปิลฝั่งสุขภาพที่ลาออกไปอยู่กับกูเกิล และ 'โยกี มัตสึโอกะ' ที่ปัจจุบันกลายเป็นรองประธานของกูเกิล