นิกเคอิเอเชี่ยนรีวิว สื่อด้านธุรกิจการเมืองของญี่ปุ่น รายงานเรื่อง Chinese automakers move into Myanmar to battle Japanese rivals เมื่อ 12 เม.ย. ระบุว่า บริษัทรถยนต์จากจีนได้เพิ่มกำลังผลิตในเมียนมา หวังชิงส่วนแบ่งทางการตลาดจากรถยนต์ญี่ปุ่นซึ่งเป็นรายใหญ่ในภูมิภาค
สื่อญี่ปุ่นรายงานว่าตลาดรถยนต์มือหนึ่งในเมียนมาขยายตัวประมาณ 5 เท่าตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา หลังเมียนมาเปลี่ยนผ่านทางการเมือง จากรัฐบาลทหารมาสู่รัฐบาลพลเรือน จึงได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกเพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลเมียนมาบังคับใช้นโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นการจ้างงานและเศรษฐกิจในเมียนมา
ทั้งนี้ รัฐบาลเมียนมาเพิ่มภาษีนำเข้ารถยนต์มือสองตั้งแต่ปี 2559 ทำให้รถยนต์นำเข้าต้องเสียภาษีแพงกว่าเดิม เป็นมาตรการหนึ่งที่กระตุ้นให้คนหันมาซื้อรถยนต์มือหนึ่งเพิ่ม ทั้งยังยกเลิกการออกใบอนุญาตจอดรถยนต์ในนครย่างกุ้ง รวมถึงออกนโยบายลดดอกเบี้ยแก่ผู้กู้ซื้อรถยนต์ ทำให้ตลาดรถยนต์ในเมียนมาขยายตัวรวดเร็ว และมีแนวโน้มที่จะดึงดูนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น
ผู้บริหารบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นในเมียนมา ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ บอกกับนิกเคอิเอเชี่ยนรีวิวว่า รถยนต์จีนเป็นคู่แข่งที่สำคัญของญี่ปุ่น มีโอกาสที่จะเติบโตอีกมากในเมียนมา ประกอบกับตลาดรถยนต์ในประเทศของจีนชะลอตัวลงตั้งแต่ปี 2560 บริษัทจีนจึงมุ่งหน้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลกระทบต่อแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นที่เคยครองตลาดอยู่แต่เดิม
นอกจากนี้ คนวัยทำงานในเมียนมา อายุระหว่าง 30-40 ปี ไม่ได้ยึดติดกับแบรนด์ญี่ปุ่นมากนัก แต่เน้นประโยชน์ใช้สอยและความคุ้มค่าคุ้มราคา ประกอบกับมาตรการผลิตรถยนต์ของจีนพยายามปรับตัวอย่างต่อเนื่อง จึงดึงดูดคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น
ส่วนบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จีนที่เข้าไปลงทุนเพิ่มในเมียนมา ได้แก่ Soueast และ GAC ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในฝูเจี้ยนและกว่างโจวของจีน แต่กำลังรุกตลาดทั้งเอเชียและอเมริกา ขณะที่บริษัทซูซุกิมอเตอร์และโตโยต้าของญี่ปุ่นก็ประกาศเพิ่มกำลังผลิตรถยนต์ในเมียนมาเช่นกัน โดยโตโยต้าตั้งโรงงานแห่งใหม่เมื่อปีที่ผ่านมา และตั้งเป้าว่าจะดำเนินการผลิตอย่างเต็มรูปแบบได้ในปี 2564
อย่างไรก็ตาม องค์กรระหว่างประเทศด้านสถานการณ์วิกฤตทั่วโลก International Crisis Group หรือ 'ไอซีจี' ได้เผยแพร่รายงานเตือนรัฐบาลเมียนมา ให้พิจารณาข้อดีข้อเสียของโครงการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศให้ถี่ถ้วน เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในท้องถิ่นของเมียนมาเอง
เว็บไซต์ Myanmar Times สื่อเมียนมา รายงานอ้างอิงไอซีจี โดยพุ่งเป้าไปที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลจีน โดยเฉพาะโครงการ 'แถบและทาง' หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ที่รัฐบาลจีนยื่นขอเสนอต่อหลายประเทศเพื่อจะเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำจากจีนไปทั่วโลก
การขยายถนนและระบบสาธารณูปโภคในโครงการ BRI เอื้อประโยชน์ให้การคมนาคมของเมียนมาพัฒนาขึ้น เชื่อมโยงกับประชาคมโลกผ่านทางจีน ทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงาน แต่ก็อาจเกิดผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนในท้องถิ่น เพราะจะทำให้เกิดการเวนคืนที่ดิน ขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ และอาจเกิดการต่อสู้กันระหว่างกองทัพเมียนมาและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐต่างๆ ที่มีอิทธิพลอยู่ในพื้นที่
นอกจากนี้ ยังมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่อื่นๆ ของจีนที่เคยระงับไป เช่น เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำมิตโสน ถ้าเดินหน้าอีกครั้งหนึ่งอาจทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ เพราะคนพื้นที่มองว่าโครงการส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว กระทบวิถีชีวิตและความมั่นคงทางอาหารของประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: