ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์มองรัฐธรรมนูญต้องแก้ไข เพราะไม่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตยระยะยาว เชื่อชนชั้นนำ-กองทัพ ยื้ออำนาจได้ไม่นาน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วสันต์ เหลืองประภัสร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มองว่าพัฒนาการประชาธิปไตยของไทยไม่มีความต่อเนื่อง ต้องหยุดชะงักด้วยการรัฐประหาร ไม่มีพัฒนาการและเติบโตต่ออย่างเป็นระบบ เมื่อมองยุคสมัย คงเชยแล้วที่จะพูดว่าประชาธิปไตยไทยมีปัญหาเพราะประชาชนยังไม่พร้อม และไม่สามารถใช้คำนี้ได้มานานแล้ว ทั้งภาคการเมือง ภาคประชาชน องค์กรทางสังคม เกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด พร้อมระบุด้วยว่าภาคประชาชน องค์กรต่างๆจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งจะช่วยให้การขับเคลื่อนโครงสร้างทางการเมืองเกิดการปรับตัวไปสู่การเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะเป็นกลไกป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารซ้ำไปซ้ำมาเหมือนในอดีต

วสันต์ เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาหลายประการ ไม่เอื้อต่อกระบวนการสร้างความเข้มแข็งของ ประชาธิปไตยหรือสถาบันทางการเมืองในแบบที่เป็นประชาธิปไตยยั่งยืน ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ จะต้องปรับแก้ไข ให้สอดรับกับโครงสร้างระบบการเมือง พฤติกรรมทางการเมือง ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้ถูกออกแบบ ให้มองถึงพัฒนาการประชาธิปไตยในระยะยาว แต่เกิดขึ้นเพื่อให้อำนาจหรือโครงสร้างเดิมทางการเมืองมีความสืบเนื่องต่อไปได้ 

ส่วนชนชั้นนำของไทยรวมถึงกองทัพยังไม่ยอมปล่อยอำนาจ แต่เชื่อว่าความพยายามดังกล่าวจะอยู่ไม่นาน จากนี้คำถามสำคัญสำหรับประเทศไทยคือ จะทำอย่างไรไม่ให้การรัฐประหารกลับมาอีก ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์วัตสันเห็นว่า ความตื่นตัวทางการเมืองของภาคประชาชนจะทำให้การรัฐประหาร วนเวียนกลับมาเป็นเรื่องที่ยากขึ้น

ชี้ บุคคลผู้นำ เป็นตัวสะท้อนความเชื่อมั่นจากนานาชาติ

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวถึงการสื่อสารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ซึ่งมีหลายเวทีที่ต้องแสดงความคิดเห็น และแสดงวิสัยทัศน์ว่า นายกรัฐมนตรีเป็นตัวแทนของประเทศ และประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน ดังนั้นการสื่อสารของพลเอกประยุทธ์ ย่อมสะท้อนภาพลักษณ์ของประเทศ หากนายกรัฐมนตรีของไทยมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษได้ มิตรประเทศก็จะมีความเชื่อมั่น ในตัวของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะทำให้พลเอกประยุทธ์มีความโดดเด่นมากขึ้น 

แต่หากพลเอกประยุทธ์ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษได้ก็ไม่ถือเป็นความผิดแต่อย่างใด เพียงแต่จะไม่มีความโดดเด่นในเวทีการประชุม ส่วนการใช้ภาษาไทยสามารถใช้ได้แต่เนื้อหาสาระที่นำเสนอ ในลักษณะที่ไม่ใช่เป็นการพูดถึงทิศทาง หรือวิสัยทัศน์แนวทางการบริหารจัดการประเทศ หรือการเดินหน้าไปของประชาคมอาเซียน จะถือว่าเป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด โดยเฉพาะในแง่ของเนื้อหา

ดังนั้นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีจะต้องพูดคือทิศทางของประเทศไทยจะเดินหน้าไปอย่างไร และทิศทางของประชาคมอาเซียน จะมีวิสัยทัศน์ ในการขับเคลื่อนการอยู่ร่วมกันของ 10 ประเทศในประชาคมอาเซียนอย่างไร ซึ่งจะทำให้ไทย เป็นประธานอาเซียนอย่างสง่างาม แต่หากมีการสื่อสารโดยใช้ลักษณะเนื้อหาส่วนตัว อาจถูกตั้งคำถามจากประชาคมโลกว่านายกรัฐมนตรี เข้าใจบทบาทของตัวเองหรือไม่ ซึ่งต้องทำหน้าที่สื่อสารในฐานะประธานอาเซียน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นันทนา ระบุด้วยว่าบุคคลสาธารณะโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีหรือคนที่มีตำแหน่งหน้าที่ในรัฐบาล ช่วงเวลาที่สื่อสาร เป็นเสมือนการพูดแทนคนทั้งประเทศ ดังนั้นจะต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์ของประเทศเป็นสำคัญ จะพูดให้ประเทศดูดีให้โดดเด่นให้น่าสนใจ เป็นที่เชื่อถือก็จะต้องนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ บุคลิกภาพ การพูด การสื่อสารของผู้นำจะอยู่ในสายตาของประชาชน จะดำเนินการอย่างไร จะสื่อสารอย่างไร จะต้องถูกจับตาจากสังคม ถ้าสื่อสารดี บุคลิกภาพดี นำเสนอเนื้อหาเป็นประโยชน์มีวิสัยทัศน์ก็จะเกิดความเชื่อมั่น ในหมู่ประชาชนคนไทยและประชาคมโลก