ไม่พบผลการค้นหา
'เรืองไกร' ร้อง กกต. สอบ 'ชลน่าน' บอก 'ไล่หนู ตีงูเห่า' เป็นเทคนิคการหาเสียง อาจเข้าข่ายหลอกลวง หรือจูงใจให้เข้าใจผิด

วันที่ 8 ส.ค. เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ส่งเอกสารให้ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับพวก ว่าเข้าข่ายกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่นเองหรือผู้สมัครอื่นหรือบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ด้วยวิธีการหลอกลวงหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 (5) และ จะมีโทษตามมาตรา 159 หรือไม่ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 เว็บไซต์มติชน หัวข้อ "ชลน่าน" ลั่นไล่หนูตีงูเห่า เป็นเพียงแค่เทคนิคหาเสียง ยืนยัน ภท. เป็นคู่แข่ง แต่ไม่คิดเป็นศัตรูกัน ลงข่าวไว้ว่า "ชลน่าน" ลั่นไล่หนูตีงูเห่า แค่เทคนิคหาเสียง ยืนยัน ภท.เป็นคู่แข่ง แต่ไม่คิดเป็นศัตรูกัน

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 7 สิงหาคม ที่พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค และ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รองหัวหน้าพรรค แถลงจัดตั้งรัฐบาลร่วม 2 พรรคระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย

ทั้งนี้ ช่วงหนึ่งผู้สื่อข่าวถามถึงช่วงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยออกแคมเปญไล่หนูตีงูเห่า แต่วันนี้พรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคภูมิใจไทย จะอธิบายประชาชนอย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไส่หนูตีงูเห่า มันเป็นภาพของการรณรงค์ เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงเลือกตั้งกิจกรรมแต่ละครั้งจัดบนวัตถุประสงค์ที่กิดขึ้นในขณะนั้นๆ มิติทางการเมือง เราไปขอเสียงสนับสนุนจากพี่น้องประชาชน เราไม่เคยประกาศว่าเราเป็นศัตรูกับใคร เราเป็นคู่แข่งกันจริง เทคนิคการหาเสียง วิธีการหาเสียง ต่างฝ่ายต่างมี อันนี้เรียนด้วยความเคารพว่าเราไม่เคยคิดว่าเป็นศัตรูกัน

ข้อ 2 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (5) มาตรา 159 บัญญัติไว้ดังนี้

"มาตรา 73 ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น หรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด ให้งดเว้น การลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือบัญชีายชื่อของพรรคการเมืองใด หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

(5) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิด ในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ” “มาตรา 159 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 73 (3) (4) หรือ (5) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปี ถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี และให้นำความในมาตรา158 วรรคสอง มาใช้บังคับด้วย"

ข้อ 3 กรณีการให้สัมภาษณ์ของนายชลน่าน ศรีแก้ว ต่อสื่อมวลชนดังกล่าว ซึ่งมีการลงข่าวอย่างแพร่หลายรวมทั้งคลิปวิดีโอด้วย จึงเป็นข้อเท็จจริงเพียงพอที่ควรจะ ขอให้ กกต. ตรวจสอบนายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับพวก ว่าเข้าข่ายกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น หรือบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ด้วยวิธีการ หลอกลวง หรือจูงใจให้เข้าใจผิด ในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 (5) และจะมีโทษตามมาตรา 159 หรือไม่

จึงเรียนมาเพื่อขอให้ กกต. ตรวจสอบ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับพวก ว่าเข้าข่ายกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น หรือบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ด้วยวิธีการหลอกลวง หรือจูงใจให้เข้าใจผิด ในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2561 มาตรา 73 (5) และจะมีโทษตามมาตรา 159 หรือไม่