อย่างไรก็ดี จากคำแถลงทั้งหมดของทูตไทยบนเวทีสหประชาชาติ ถึงการงดออกเสียงไม่ประณามรัสเซียนั้น ทูตไทยไม่มีการกล่าวถึงชื่อของรัสเซียทั้งในทางตรงและทางอ้อม โดยเอกสารคำแถลงต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติความยาวหนึ่งหน้ากระดาษ ไม่มีการระบุถึงชื่อประเทศรัสเซียแม้แต่จุดเดียว ทั้งนี้ การแถลงของไทยเกิดขึ้นหลังจากที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ตอบรับการเดินทางมาร่วมประชุม APEC ในเดือนหน้าที่จะถึงนี้ที่กรุงเทพฯ
นอกจากไทยที่ลงมติงดออกเสียงการประณามรัสเซียแล้ว ชาติสมาชิกอีก 2 ชาติที่ลงมติงดออกเสียงเช่นเดียวกัน ได้แก่ ลาว และเวียดนาม ทั้งนี้ ไทยได้กล่าวในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ผ่านทูตไทยประจำสหประชาชาติ ต่อกรณีการงดออกเสียงในข้อมติประณามรัสเซียผนวก 4 ดินแดนของยูเครน ความว่า
“ในฐานะชาติอธิปไตยเล็กๆ ไทยยึดถือความศักดิ์สิทธิ์ของกฎบัตรสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศ” ทูตไทยกล่าวในที่ประชุม พร้อมระบุว่า ไทยเคารพต่อหลักการของอำนาจอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐตามกฎบัตรสหประชาชาติ
“เป็นเวลามาอย่างยาวนาน ที่ไทยมีจุดยืนและนโยบายที่สม่ำเสมอ ในการต่อต้านการข่มขู่หรือการใช้กองกำลังต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐใดๆ และการเข้าครอบครองอย่างไร้เหตุผล เหนือดินแดนของรัฐอื่นด้วยกองกำลัง” ทูตไทยระบุ
“อย่างไรก็ดี ไทยเลือกที่จะงดออกเสียงจากการลงมติบนข้อมติ เนื่องจากมติเกิดขึ้นในขณะที่มีความผันผวนรุนแรง และบรรยากาศและสถานการณ์ของความขุ่นข้องหมองใจ” ทูตไทยยังระบุอีกว่า การละเลยต่อการทูตในการนำพาสันติภาพ และกระบวนการเจรจาเพื่อหาทางออกของความขัดแย้ง อาจทำให้โลกเสี่ยงต่อสงครามนิวเคลียร์และเศรษฐกิจโลกที่ล่มสลายลง
ทูตไทยยังระบุอีกว่า ไทยวิตกกังวลอย่างแท้จริง ต่อการเพิ่มขึ้นของการทำให้หลักการระหว่างประเทศกลายเป็นเรื่องทางการเมือง ซึ่งจะขัดกระบวนการต่อวิถีทางและแนวทางในการยุติสงครามลง “การประณามส่งผลยั่วยุต่อการไม่ประนีประนอม และเป็นเหตุในการลดโอกาสอย่างมากต่อการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์” ทูตไทยอ้างถึงเหตุผลที่ตนงดออกเสียง แทนการลงมติประณามรัสเซียเหมือน 143 ชาติทั่วโลก
อย่างไรก็ดี ทูตไทยระบุว่าไทยโศกเศร้าต่อความเสียหายในทางกายภาพ สังคม และมนุษยธรรมของยูเครน และความยากลำบากต่อชาวยูเครน ไทยขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนลดระดับความขัดแย้งและความรุนแรง และหาวิถีทางสันติภาพเพื่อหาทางออกจากความแตกต่าง พร้อมกันนี้ ทูตไทยระบุว่าไทยยึดถือหลักการด้านสิทธิมนุษยชน พร้อมย้ำเตือนว่าสหประชาชาติมีพันธกิจและความรับผิดชอบ เพื่อฟื้นฟูสันติภาพและความปกติของชาวยูเครนกลับมา ผ่านวิถีทางที่ไม่ใช้ความรุนแรง แต่ผ่านทางกลไกทางการทูต