ประเทศที่ร่ำรวยหลายประเทศกำลังพาเหรดกันเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ด้วยมองว่าเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มความสะดวกสบายให้กับทั้งภาครัฐและประชาชน มีการคาดการณ์ว่าประเทศในยุโรปตอนเหนือใช้จ่ายผ่านเงินสดเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น ในขณะที่ประมาณร้อยละ 20 ของประชาชนชาวสวีเดนกล่าวว่าพวกเขาไม่เคยถอนเงินสดเลย ด้านภาคเอกชน บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง อาทิ แอปเปิล กำลังพนันอย่างสูงว่าผู้คนจะหันมาพึ่งพาบัตรเครดิตและเทคโนโลยีการจ่ายเงินแบบดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม งานวิจัย "การเข้าถึงเงินสด” (Access to Cash) ชี้ถึงเหรียญอีกหนึ่งด้านหนึ่งของสังคมไร้เงินสดที่อาจทอดทิ้งผู้คนนับล้านไว้เบื้องหลัง ผลของงานวิจัยชิ้นนี้ที่จัดทำขึ้นในประเทศอังกฤษออกมาเตือนว่า ความพยายามในการเปลี่ยนถ่ายไปสู่สังคมไร้เงินสดของอังกฤษนั้นจะนำมาซึ่งความยากลำบากของประชาชนในหลายกลุ่ม อาทิ คนจนและคนมีหนี้ คนพิการ ครอบครัวในพื้นที่ห่างไกล และผู้คนที่อยู่ภายใต้ความเสี่ยงของการมีผู้เอาเปรียบด้านการเงิน
"ผู้คนจำนวนมากยังคงประสบปัญหาการเข้ามาอยู่ในสังคมดิจิทัล ถ้าเราหลับหูหลับตาเดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเดียว เราจะทิ้งผู้คนนับล้านคนไว้เบื้องหลัง” รายงานดังกล่าวระบุ
ผู้คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้รับผลกระทบจากสังคมไร้เงินสด
ตัวอย่างของโลกในวันที่ไม่มีเงินสดอีกต่อไป
รายงานฉบับนี้ประเมินว่าครึ่งหนึ่งของประชากรชาวอังกฤษหรือประมาณ 25 ล้านคนใช้เงินสดเป็นหลัก อย่างไรก็ตามจำนวนการใช้เงินสดในการใช้จ่ายมีแนวโน้มลดลงประมาณร้อยละ 10 ภายใน 15 ปีต่อจากนี้
นาตาลี ซีนี หัวหน้าผู้เขียนรายงานฉบับนี้ สรุปว่า สังคมไร้เงินสดในประเทศอังกฤษนั้นไม่ใช่ "เรื่องที่เป็นไปไม่ได้หรือไม่เป็นที่ต้องการ" เพียงแต่เห็นได้ชัดเจนว่า อังกฤษยังไม่มีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินอย่างสมบูรณ์แบบ เนื่องจากยังมีความเสี่ยงในการเผชิญหน้ากับ "ความเสี่ยงในการถูกทอดทิ้ง, การแสวงหาผลประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง, หนี้ และต้นทุนที่สูงขึ้น” ยังไม่นับรวมถึงความเสี่ยงที่อาจเป็นหายนะต่อระบบการเงิน อย่าง การถูกจู่โจมทางไซเบอร์และความเสี่ยงในการล่มของระบบอินเทอร์เน็ต
ท้ายที่สุดแล้ว ทิศทางในการมุ่งไปสู่สังคมไร้เงินสดของประชาคมโลกคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ความพยายามเหล่านี้ต้องตั้งอยู่บนหลักความเป็นจริงว่าประเทศนั้นๆ มีโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลดีเพียงพอรองรับการถ่ายโอนระบบครั้งใหญ่นี้ไหม รวมถึงประชาชนมีความรู้เพียงพอหรือยัง หากตอบโจทย์ทั้งสององค์ประกอบสำคัญได้แล้ว การเดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสดย่อมไม่ตามมาด้วยปัญหาการทอดทิ้งคนไม่พร้อมไว้ข้างหลัง
อ้างอิง; CNBC