ระหว่างการรอขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค.นี้ โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมรื้อทิ้งนโยบายหลายสิบอย่างของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เป็นอุปสรรคและสร้างความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ โดย CNN อ้างถึงเอกสารรายละเอียดล่าสุดที่ถูกเปิดเผยโดย รอน เคลน ว่าที่หัวหน้าเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบขาวของรัฐบาลไบเดน ซึ่งระบุไว้ว่า ไบเดนเตรียมใช้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยกเลิกคำสั่งของทรัมป์ "หลายสิบคำสั่ง" เพื่อการเดินหน้าต่อของประเทศ
หนึ่งในตัวอย่างนโยบายที่จะได้รับการเปลี่ยนแปลงคือ การนำสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ ความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ความตกลงปารีส โดยทันที ซึ่งนโยบายการนำสหรัฐฯ ออกจากความตกลงปารีสคือสิ่งแรกที่ทรัมป์ลงมือทำหลังขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อ 4 ปี ก่อน และไบเดนก็มีแผนจะยกเลิกคำสั่งแบนการเดินทางเข้าประเทศของประชาชนจากกลุ่มประเทศมุสลิมอีกด้วย
นอกจากนั้น ไบเดนจะลงนามคำสั่งประธานาธิบดีในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการช่วยเหลือนักเรียนที่ต้องจ่ายหนี้เงินกู้เพื่อการศึกษาในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ไปจนถึงการออกคำสั่งให้ประชาชนทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ภายในอาคารสำนักงานของทางราชการเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะถอนนโยบายที่ทรัมป์เคยประกาศใช้ และผลักดันนโยบายที่จำเป็นซึ่งไม่เคยสามารถเกิดขึ้นได้มาก่อนในสมัยของรัฐบาลทรัมป์
เคลนระบุเพิ่มเติมว่า โจ ไบเดน เคยให้คำมั่นสัญญาไว้กับชาวอเมริกันว่าเขาจะเร่งดำเนินการทุกอย่างทันทีเพื่อให้ประเทศชาติกลับมาดีกว่าเดิม และในฐานะประธานาธิบดี ไบเดนจะรักษาคำมั่นสัญญาเหล่านั้นด้วยการลงนามในคำสั่งประธานาธิบดี รวมถึงการวางแนวทางนโยบายต่างๆ ให้กับคณะรัฐบาลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทำให้คำสัญญาของเขาบรรลุตามเป้าประสงค์
ไบเดนวางแผนที่จะทำงานอย่างหนักใน 100 วันแรกหลังขึ้นดำรงตำแหน่ง เขาต้องการที่จะส่งมอบแผนงานขนาดใหญ่ให้กับสภาคองเกรสเพื่อเดินหน้า ช่วยเหลือประชาชนผู้อพยพจำนวนหลายล้านคนที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ โดยไม่มีใบอนุญาตให้สามารถทำเรื่องขอสัญชาติได้ในที่สุด
ขณะเดียวกัน ไบเดนก็ต้องการที่จะช่วยเหลือชาวอเมริกันที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยการอนุมัติงบประมาณ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 57.60 ล้านล้านบาท เพื่อจ่ายเป็นแพ็กเกจเงินเยียวยาให้กับประชาชนชาวอเมริกัน โดยไบเดนประกาศไว้อย่างชัดเจนว่าต้องการให้เรื่องงบประมาณเยียวยานี้เป็นวาระแรกที่ผ่านสภาคองเกรสหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ