ไม่พบผลการค้นหา
เข้าสู่สัปดาห์ ‘หัวเลี้ยวหัวต่อ’ ในทางการเมือง ในการโหวตเลือกนายกฯ ของทั้ง 2 สภาฯ ส.ส.-ส.ว. ที่ในเวลานี้ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ มีเสียง ส.ส. อยู่แล้ว 312 เสียง จาก 8 พรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล นำโดย ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ แต่ยังขาดเสียง ส.ว. อยู่ 64 เสียง เพื่อให้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง นั่นคือ 376 เสียง

สถานการณ์ที่จะมีการ ‘ลงถนน’ เริ่มมีการ ‘ส่งสัญญาณ’ กันออกมาในบางกลุ่มการเมือง โดยเฉพาะวันโหวตนายกฯ 13 ก.ค.นี้ ที่จะมีการชุมนุมด้านนอกรัฐสภาฯ ยังไม่นับรวมสถานการณ์หาก ‘พิธา’ ไม่ผ่านการโหวตในสภาฯ จะมีการ ‘ยกระดับการชุมนุม’ หรือไม่ อย่างไร ที่ไหน

เวลานี้ ‘พิธา-ก้าวไกล’ ก็เร่งเดินสายทั้งในกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด พบปะมวลชนที่สนับสนุน ‘พิธา’ เป็น นายกฯ คนที่ 30 เพื่อกดดันไปยัง ส.ว. ในเดิมพันครั้งนี้

หากสุดท้ายแล้ว ‘พิธา’ ได้เสียงไม่ถึง 376 เสียง ก็จะต้องมีการโหวตใหม่ ซึ่งในเบื้องต้นได้มีการกำหนดวันอย่างไม่เป็นทางการไว้วันที่ 19-20 ก.ค.นี้

ยังไม่นับรวมกรณีหาก ‘เพื่อไทย’ ต้องขึ้นมาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลก็ต้องหาเสียงสนับสนุนให้ได้เสียง 376 เสียง

เพราะ ‘เพื่อไทย’ ก็ต้องการเสียงจาก ส.ว. มาสนับสนุนเช่นกัน รวมทั้งท่าทีของพรรค ‘ขั้วรัฐบาลเดิม’ จะโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ ของ ‘เพื่อไทย’ หรือไม่ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็น ‘แผน 2-3’ ไปแล้ว

ฝ่ายความมั่นคงมีการประเมินสถานการณ์ ‘การเมืองบนถนน’ ซึ่ง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้สั่งให้ พล.ต.อ.รอย อิงไพโรจน์ รองผบ.ตร. จัดการดูแลในภาพรวม โดยให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล ดูแลความเรียบร้อยบริเวณโดยรอบอาคารรัฐสภา พร้อมสั่งการให้เตรียมกำลังพล อุปกรณ์-ยานพาหนะ ในการปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ สตช. จะมีการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ สั่งห้ามไม่ให้มีการจัดชุมนุม ในรัศมีไม่เกิน 50 เมตรรอบรัฐสภา ตามมาตรา 7 หากจะมีการจัดชุมนุม ต้องทำหนังสือแจ้งขอเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่ ล่วงหน้า 24 ชั่วโมง

ม็อบ ตำรวจควบคุมฝูงชน คฝ. ความขัดแย้ง

ก่อนหน้านี้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ทำบันทึกข้อความ เรื่อง ให้ใช้สถานที่ควบคุมของ สน.ทุ่งสองห้อง , สน.ฉลองกรุง , สน.จรเข้น้อย เป็น ‘สถานที่ควบคุมพิเศษเฉพาะคราว’ ตั้งแต่วันที่ 1-31 ก.ค. 2566 หรือจนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ ลงนามโดย พล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ปฏิบัติหน้าที่แทน ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

สำหรับ ‘บันทึกข้อความ’ ระบุว่า “ตามสถานการณ์ด้านการข่าว ปรากฏข้อมูลอันน่าเชื่อถือว่า ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีความเห็นต่างทางการเมือง และกลุ่มแนวร่วมอื่นๆ ได้นัดรวมกลุ่มจัดกิจกรรมชุมนุมภายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีลักษณะของการใช้ความรุนแรง และไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร นั้น เพื่อให้การดำเนินคดีผู้ต้องหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเกิดความปลอดภัย และเป็นไปตามมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อย กรณีที่มีการจับกุมตัวผู้ต้องหาเป็นจำนวนมาก หรืออาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือเกิดอันตรายประการอื่น”

พิธา ก้าวไกล ปทุมธานี IMG_7762.jpeg

ในขณะนี้เองทิศทางการชุมนุมจะมาจาก ‘หลายกลุ่ม’ แต่ที่มีกลุ่มที่นำเคลื่อนไหวผ่านโลกออนไลน์แล้ว คือ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group - DRG และ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ภายใต้แคมเปญร่วมกันคือ “Respect My Vote” เพื่อส่งเสียงไปยัง ส.ว. ที่ในเวลานี้ 

อย่างไรก็ตามมีรายงานเบื้องต้นว่าอาจมีบางกลุ่มมา ‘พักค้างแรม’ บริเวณใกล้กับรัฐสภา แต่สิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงกังวลคือการเผชิญหน้าของกลุ่มการเมือง ‘คนละขั้วกัน’ หากมีการนัดหมายมาชุมนุมด้านหน้ารัฐสภาในวันเดียวกัน

ในฝั่งเจ้าหน้าที่ ตร. เริ่มมีการเตรียมแผนรองรับ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงมีแผนรับมือการชุมนุมเดิม คือ ‘แผนกรกฎ 52’ ในวงการ ตร. จะทราบกันว่าเป็นแผนที่ใช้ควบคุมฝูงชน หรือควบคุมสถานการณ์การชุมนุม ซึ่ง ‘แผนกรกฎ 52’ เป็นการถอดบทเรียนจากสถานการณ์การชุมนุมเสื้อเหลือง-แดง เมื่อปี 2551 

สมาชิกวุฒิสภา โหวตเพื่อเปลี่ยน IMG_4175.jpeg

อย่างไรก็ตามในการชุมนุมใหญ่ปี 2563 ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ฝ่ายความมั่นคงได้ปรับแผนใหม่ ให้สอดรับสถานการณ์ยิ่งขึ้น เรียกว่า ‘แผนชุมนุม 63’ ที่ต้องยึดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และมติ ครม. ว่าด้วยเรื่องการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่ามีการฝึกซ้อม ตร. ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ตามวงรอบ ภายใต้แผนงาน ตร. ชื่อว่า ‘แผนพิทักษ์เลือกตั้ง 66’ ที่ครอบคลุมช่วงเวลาก่อน-หลังเลือกตั้ง หลังฝ่ายความมั่นคง ประเมินว่าจะเริ่มมีการชุมนุมเพื่อกดดันทางการเมืองเกิดขึ้น เช่น พื้นที่รอบรัฐสภาฯ โดยพุ่งเป้าไปที่วันโหวตเลือกประธานรัฐสภา และ วันโหวตเลือก นายกฯ และสถานการณ์หลังจากนั้น ซึ่งสอดรับกับการที่ บช.น. จัดเตรียมพื้นที่ 3 สน. เป็น ‘สถานที่ควบคุมพิเศษเฉพาะคราว’ ด้วย

อย่างไรก็ตามฝ่ายความมั่นคงได้มีการประเมินสถานการณ์ไว้ทั้งหมด ส่วนระดับของ ‘การชุมนุม’ จะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่ที่ผลลัพธ์ ‘กลเกมอำนาจ’ ของรัฐสภา จะจบอย่างไรด้วย

ดังนั้นการเตรียมรับมือสถานการณ์จึงต้อง ‘ทำเป็นระยะ’ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์

แต่ชนวนแรกที่จะเกิดการชุมนุม คือกรณี ‘ขั้วอำนาจเก่า’ ไม่ยอมให้ ‘พิธา’ ได้เป็น นายกฯ ในการโหวตนายกฯ ครั้งแรก