กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ หลังจากที่ไบเดนกล่าวระหว่างการเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการของ ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ว่าการเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นนั้น “ไม่มีทางแตกหักได้” ในขณะเดียวกัน อินเดียก็เป็นชาติหุ้นส่วนสำคัญของสหรัฐฯ แม้ว่าสหรัฐฯ จะกังวลต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพทางศาสนาในอินเดียก็ตาม
ในเวลาต่อมา ทำเนียบขาวได้ออกมาชี้แจงว่า ไบเดนไม่มีเจตนาที่จะกล่าววิจารณ์รุนแรงต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง หลังจากที่ไบเดนกล่าวกับมวลชนเชื้อสายเอเชีย-สหรัฐฯ ในงานหาเสียงเมื่อเย็นวันพุธที่ผ่านมา (2 พ.ค.) ว่า การเลือกตั้งสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. นี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ "เสรีภาพ อเมริกา และประชาธิปไตย"
“ทำไมล่ะ เพราะเรายินดีต้อนรับผู้อพยพ” ไบเดนกล่าวระหว่างการหาเสียง “ลองคิดดูสิ ทำไมจีนถึงถ่วงเศรษฐกิจได้ขนาดนี้ ทำไมญี่ปุ่นถึงมีปัญหา ทำไมรัสเซีย ทำไมอินเดียล่ะ เพราะพวกเขาเกลียดชาวต่างชาติ พวกเขาไม่ต้องการให้ผู้อพยพ”
ทั้งนี้ แม้ว่าญี่ปุ่น อินเดีย และจีนจะเปิดรับแรงงานต่างชาติที่เกิดในประเทศของพวกเขาค่อนข้างน้อย แต่รัสเซียยังคงพึ่งพาแรงงานข้ามชาติเป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานลี้ลี้ภัยมาจากประเทศในแถบเอเชียกลาง
แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในญี่ปุ่นและจีนจะซบเซา แต่เศรษฐกิจทางทหารของรัสเซียดีดตัวขึ้นเล็กน้อยในปีที่แล้ว ขณะที่สงครามกับยูเครนยังคงดำเนินต่อไป แม้จะถูกนานาชาติคว่ำบาตรก็ตาม ในขณะเดียวกัน อินเดียมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และแซงหน้าสหราชอาณาจักรเมื่อปีที่แล้ว จนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก
ทำเนียบขาวออกมาชี้แจงว่า ความคิดเห็นของไบเดนไม่ได้มีเจตนาเพื่อเป็นการดูหมิ่นญี่ปุ่นและอินเดีย โดย จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังเน้นประเด็นที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับนโยบายการย้ายถิ่นฐานของสหรัฐฯ
“พันธมิตรและหุ้นส่วนของเรารู้ดีในรูปแบบที่จับต้องได้ว่า ประธานาธิบดีไบเดนให้ความสำคัญกับพวกเขา มิตรภาพ และความร่วมมือของพวกเขาอย่างไร” เคอร์บีกล่าว “พวกเขาเข้าใจว่าเขาให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องพันธมิตรและหุ้นส่วนมากเพียงใด”
ในช่วงปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา รายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ พบว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน "อย่างมีนัยสำคัญ" ในอินเดีย ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้ออกมาระบุว่ารายงานดังกล่าว "มีอคติอย่างลึกซึ้ง และสะท้อนให้เห็นความเข้าใจที่ย่ำแย่มากเกี่ยวกับอินเดีย" ของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีนโยบายการย้ายถิ่นฐานที่เข้มงวดที่สุดในโลกมาหลายทศวรรษแล้ว แต่เมื่อไม่นานมานี้ ญี่ปุ่นได้พยายามที่จะจัดการกับจำนวนประชากรที่ลดลงอย่างต่อเนื่องของประเทศ ด้วยการอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้ามาของแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่น
อย่างไรก็ดี ไบเดน ซึ่งกล่าวโจมตี โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในหลายครั้งว่าเป็นคนที่เกลียดชาวต่างชาติในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเมื่อปี 2563 กลับได้ใช้แนวทางที่เข้มงวดมากขึ้นในด้านนโยบายการเข้าเมือง ท่ามกลางความไม่พอใจที่แพร่หลายจากทั้งฝ่ายพรรครีพับลิกันและเดโมแครตในทางการเมือง โดยเฉพาะนโยบายด้านการจัดการชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก
ที่มา: