หลังจากรอบแรกการจ่ายเงินจำนวน 5,000 บาท ได้ให้กับผู้ที่ผ่านระบบการคัดกรองของกระทรวงการคลังประมาณเกือบ 2 ล้านคน ในวันที่ 8-10 เม.ย.ที่ผ่านมา 'ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์' จึงลงพื้นที่สำรวจประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการสั่งปิดเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพบว่ายังมีผู้ได้รับผลกระทบอีกมากที่พลาดเม็ดเงินช่วยเหลือในรอบแรกนี้ไป แม้จะมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังตั้งไว้หรือแม้แต่อยู่ในกรอบ 4 อาชีพที่จะได้รับเงินเยียวยาแน่นอน ได้แก่ มัคคุเทศก์ คนขับรถแท็กซี่ ผู้ค้าสลาก และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
'มะลิ กาสือ' แม่ค้าขายเสื้อผ้าย่านอนุเสาวรีย์ที่ผันตัวมานั่งปิ้งหมูปิ้งกล่าวกับเราว่าเธอเองก็ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาผ่านเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกันตั้งแต่วันแรกที่ระบบเปิดรับ แต่จนมาวันนี้สถานะความการขอรับความช่วยเหลือยังอยู่ในกรอบการตรวจสอบอยู่ซึ่งเธอก็ตั้งคำถามว่าระบบนั้นตรวจสอบกันอย่างไร เพราะเธอเองก็มีเอกสารทุกอย่างครบ "เรามีร้านของเราเห็นๆ ในทะเบียนการค้าก็มี ใบเสียภาษีก็มี ใบเสียค่าร้านก็มี"
ในทำนองเดียวกัน ทั้ง 'ลัดดา กริษน้อย' แม่ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล 'สมหวัง ปัญสุวรรณ์' เจ้าของแผงขายรองเท้า และ 'อังคณา นาคเสวก' เจ้าของร้านนวดที่ปิดกิจการชั่วคราวมาก่อนใครเพื่อนและกำลังติดสินใจว่าจะปิดกิจการถาวรเมื่อไหร่ ต่างลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือกันตั้งแต่วันแรกทั้งสิ้น และก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน
"ก็คือยังไม่ผ่าน ก็คือยังไม่มีเกณฑ์ว่าจะได้ ให้แบบว่ารอการตรวจสอบ" สมหวัง กล่าว
สำหรับ 'สมหวัง' เม็ดเงิน 5,000 บาทที่ครอบครัวต้องใช้ให้พอเป็นเรื่องที่ยากมาก โดยเฉพาะในทุกวันนี้ที่ครอบครัวต้องอยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมง และถึงแม้จะทำอาหารกินเอง ค่าใช้จ่ายก็ต้องมีอย่างต่ำ 500 บาทแล้ว แต่เนื่องจากปัจจุบันไม่มีรายได้เข้ามาแม้แต่บาทเดียว "เงิน 5,000 บาท เลยมีค่าหมดสำหรับทุกคน" แม้แต่กับตัวเธอเองที่ปกติหักรายจ่ายแล้วจะมีเงินใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาท
ขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงและยังเป็นอยู่ในเกณฑ์อาชีพที่กระทรวงการคลังรับรองว่าจะได้รับความช่วยเหลืออย่าง 'ลัดดา กริษน้อย' กลับดูไม่ได้มีความหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือเลย
ลัดดา อธิบายบรรยากาศการขายสลากฯ ให้ทีมข่าวฟังว่าตั้งแต่มีการประกาศยกระดับขึ้นมานั้นทำให้ประชาชนทั่วไปออกจากบ้านน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จากที่เธอเคยขายได้หลักหมื่นบาท ก็ลดลงมาแทบจะเป็นศูนย์ และในวันที่เราเดินทางไปสัมภาษณ์เวลาสายๆ เธอเพิ่งขายสลากฯ ได้เพียง 4 ใบ เท่านั้น
แม่ค้าขายสลากฯ อธิบายว่า เวลาบอกว่าขายได้วันเป็นหมื่นบาทก็อาจจะดูเหมือนพวกเธอรายได้ดี แต่แท้จริงแล้วการลงทุนต่อหนึ่งงวดก็เกือบแสนหรืออาจถึงหลักแสนได้แล้วแต่ครั้ง ซึ่งผู้ค้าสลากส่วนใหญ่ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนด้วยกันทั้งสิ้น แล้วหากินส่วนต่างที่ได้จากการหักต้นทุน แต่พอสถานการณ์เป็นแบบนี้ แม้กองสลากฯ จะเลื่อนวันออกสลากฯ ไปก็ช่วยไม่ได้อยู่ดีเพราะคนไม่ซื้อกัน ส่วนโอกาสที่ตัวเองจะถูกก็น้อยจนแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทุกวันนี้ตัวเธอเองหรือผู้ค้าสลากคนอื่นๆ ต้องขอข้าวพระกินบ้างก็มี
ด้าน 'อังคณา นาคเสวก' เจ้าของร้านนวดพูดคุยกับเราพร้อมกับลูกของเธออีก 2 คนว่า ตั้งแต่ปิดร้านมาก็ยังไม่ได้ทำอย่างอื่นเลยเพราะไม่รู้จะทำอะไรได้ เธอชี้ว่าจะให้ไปนวดตามบ้านนั้นลูกค้าก็คงกลัวเธอรวมถึงตัวเธอเองก็กลัวลูกค้า เลยทำอะไรมากไม่ได้ ก็ได้แต่รอความหวังกับเงินช่วยเหลือว่าจะมาประทังชีวิตช่วงนี้ได้บ้าง เพราะคนรอบตัวเธอก็หยิบยืมจนหมดแล้วและแต่ละคนก็มีภาระด้วยกันทั้งสิ้น
'อังคณา' ยังยอมรับว่า ครอบครัวของเธอก็ไม่ได้มีเงินเก็บเพียงพอให้การดำรงชีวิตโดยปราศจากรายได้จากการทำงานด้วย และตอนนี้ก็ไม่เห็นทางออกว่าจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร
ในฐานะเจ้าของร้านที่มีลูกน้องต้องดูแล 'สมหวัง ปัญสุวรรณ์' ชี้ว่าทางออกที่ภาครัฐจะช่วยพวกเธอได้ดีที่สุดคือรีบจัดการปัญหาการแพร่ระบาดอย่าให้เลยสิ้นเดือน เม.ย.นี้ แล้วกลับมาประกาศให้ผู้คนดำเนินชีวิตแบบปกติเสียที
'สมหวัง' สะท้อนว่าตัวเธอเองเลิกนึกถึงเงิน 5,000 บาทไปแล้ว ถ้าได้ก็ดีไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะเธอรู้ว่ายังมีคนที่เดือดร้อนมากกว่าเธอและเงินนั้นจะช่วยพวกเขาได้มากกว่า แต่สิ่งที่เธอวิงวอนคือให้ได้กลับมาเปิดร้านเพื่อให้มีรายได้จุนเจือครอบครัว รวมไปถึงเพื่อเลี้ยงดูบรรดาลูกจ้างในร้านด้วย
เธอกล่าวอย่างจริงจังว่า "5,000 บาท ได้ไม่ได้เราไม่ว่านะ คนไหนได้เราก็ดีใจคนไหนไม่ได้เราก็เสียใจด้วย ความหวังเดียวของเราก็คือรอให้รัฐบาลบอกว่าเปิดร้านค้าได้แล้วคนก็ออกจากบ้านได้ อันนั้นคือเราจะมีรายได้เข้ามา"
เช่นเดียวกับ 'อังคณา' ที่ยอมรับว่าหากร้านไม่สามารถกลับมาเปิดได้ภายในต้นเดือน พ.ค.ก็จำเป็นต้องปิดตัวลงเหมือนกัน เพราะแม้เจ้าของที่จะลดค่าเช่าให้แล้ว แต่ครอบครัวก็ยังมีรายจ่ายประจำเช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร ที่ต้องดูแล และคงแบกการจ่ายค่าเช่าที่โดยไม่มีรายได้ไม่ไหว
"ไม่ได้ทำมาหากินแต่ว่าค่าเช่าร้านต้องจ่าย มันไม่ไหวอ่ะ" อังคณา กล่าว
แม้สิ่งที่ผู้คนที่เราสัมภาษณ์ในครั้งนี้จะหวังไว้เหมือนกันคือการกลับมาเป็นปกติของเหตุบ้านการเมือง แต่ความปกตินี้ก็เป็นเพียงสภาวะที่พอมีชีวิตรอดเท่านั้น ไม่ใช้การมีชีวิตอยู่อย่างกินดีมีสุข
'มะลิ' ที่ต้องแบกราคาค่าเช่าที่ในหลักสองแสนกว่าบาทต่อเดือนชี้ว่า เป็นไปไม่ได้ที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวทันทีหลังจากที่รัฐบาลประกาศให้กลับมาใช้ชีวิตปกติหรือกึ่งปกติได้ เพราะสภาพเศรษฐกิจก่อนหน้านี้มันก็แย่อยู่แล้ว เธอมองว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน หรืออาจจะหนึ่งปีกว่าประชาชนจะเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอย ยิ่งกับสินค้าฟุ่มเฟือยแบบเสื้อผ้าที่เธอขายอีกยิ่งต้องทำใจ
เมื่อย้อนกลับไป ร้านของเธอเคยขายได้ในหลัก 50,000 - 60,000 บาท/วัน ซึ่งนับว่าใช้ชีวิตได้สบายในยุคที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบรถตู้และอนุเสาวรีย์ยังเป็นศูนย์กลางในการเดินทาง และเคยขายได้เป็นแสนบาท/วัน ในสมัยรัฐบาลก่อนๆ แต่เมื่อมาอยู่ในรัฐบาลปัจจุบัน รายได้ก็ไม่ได้ดีอย่างที่ควรตั้งแต่ก่อนจะมีโรคระบาดด้วยซ้ำ
เธอกล่าวกับเราว่า เศรษฐกิจมันแย่ มันแย่มาตั้งแต่ก่อนวิกฤตซึ่งรัฐบาลปัจจุบันก็รับรู้แล้วรับทราบ แต่ก็ไม่ได้ทำอะไร พร้อมบอกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็ดีแล้ว เธอยังมองอนาคตแบบโลกไม่สวยว่า ต่อไปก็จะแย่อีก หลังจบวิกฤตเศรษฐกิจก็ยังจะแย่อีก เพราะคนไม่มีเงิน
"เขาไม่ใช่นักธุรกิจ เราเป็นนักธุรกิจ เรารู้ว่าช่วงไหนมันไม่ดี เราก็พูดไปตรงๆ เขาก็คงไม่รับฟังหรอก ถ้าเขาฟังมันก็คงไม่เป็นแบบนี้" มะลิ กล่าว
'สมหวัง' เองก็มองไม่ต่างกัน ว่าเมื่อเปิดเศรษฐกิจกลับมาก็ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่าจะมีคนซื้อของไหม คนจะมีเงินไหม เศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือเลวลง เพราะ "นับวันมันยิ่งแย่ลงทุกวันประเทศไทยเราเนี่ย มันไม่มีอะไรดีขึ้นเลยนะ"
ภายใต้ปัญหาเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ที่ไม่ถึงประชาชนผู้เดือดร้อน ยังมีประเด็นอีกหลายอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ข้างใน ไม่ว่าจะเป็นระบบที่ออกมาแบบให้การช่วยเหลือเข้าถึงยากเกินไป พื้นฐานเศรษฐกิจที่่อ่อนแออยู่ก่อนแล้ว หรือแม้แต่การไม่รับฟังเสียงของประชาชนที่สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในยามที่ผู้คนหมดศรัทธาที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลแล้ว
วิกฤตครั้งนี้สะท้อนทุกอย่างที่ผิดเพี้ยนและบิดเบี้ยวในการบริหารประเทศของรัฐบาลยุคปัจจุบัน ความผิดที่ผิดทั้งในยามประเทศปกติและในยามที่ประเทศเผชิญหน้ากับวิกฤต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;