ไม่พบผลการค้นหา
พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ 4 ข้อถึงรัฐ ระบุต้องไม่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม แก้รัฐธรรมนูญโดยประชาชนเป็นผู้ร่าง ตั้ง 15 รายชื่อ คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง

พรรคเพื่อไทย จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2563 นำโดยนาย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยพร้อมด้วย นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค และ นอ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรค โดยสมาชิกได้เดินทางมาประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยมีวาระสำคัญคือการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ที่จะต้องมีตัวแทนจากกรรมการบริหารพรรค 7 คน ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด และหัวหน้าสาขาพรรค อย่างละ 4 คน แทนชุดเดิม ที่เป็นการแต่งตั้งจากส่วนกลาง ตามที่ พ.ร.บ. พรรคการเมืองให้การยกเว้นไว้ในการเลือกตั้งครั้งแรก  

โดยผลการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย จำนวน 15 คน ประกอบด้วย สัดส่วนที่มาจาก กรรมการบริหารพรรค จำนวน 7 คน ได้แก่ (1.) นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ประธานคณะ (2.) นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการ (3.) นายชูศักดิ์ ศิรินิล กรรมการ (4.) นายเกรียง กัลป์ตินันท์ กรรมการ (5.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง กรรมการ (6.) นายวิทยา บุรณศิริ กรรมการ และ (7.) น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ กรรมการ และเลขานุการคณะ 

ประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทย

ส่วนที่มาจากหัวหน้าสาขาพรรคทั้ง 4 สาขา สาขาละ 1 คน รวม 4 คน ประกอบด้วย 1. นายสมัคร บุญปก หัวหน้าสาขาพรรค ลำดับที่ 1 จังหวัดอุดรธานี (2.) นายสุเทพ สายทอง หัวหน้าสาขาพรรค ลำดับที่ 2 จังหวัดเชียงใหม่ (3.) นายวิทวัส ดุลพินิจพัฒนา  หัวหน้าสาขาพรรค ลำดับที่ 4 จังหวัดภูเก็ต (4.) นายพันศักดิ์ จันทร์ใบเล็ก หัวหน้าสาขาพรรค ลำดับที่ 5 จังหวัดนนทบุรี 

สำหรับสัดส่วนที่มาจากตัวแทนพรรคประจำจังหวัด 4 คน ประกอบด้วย (1.) นายสัมพันธ์ แสงพรมชาลี ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดสกลนคร เขตเลือกตั้งที่ 2 (2.) นายประสิทธิ์ จันทาทอง ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดหนองคาย เขตเลือกตั้งที่ 2 (3.) นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดสุโขทัย เขตเลือกตั้งที่ 1 (4.) นายสมบุญ พูลผล ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดสระบุรี เขตเลือกตั้งที่ 3 

แถลงการณ์สนับสนุนม็อบสันติวิธี ร่วมร่าง รธน.-ห้ามใช้ความรุนแรงปราบผู้ชุมนุม

ทั้งนี้ภายหลังการประชุมนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อ่านแถลงการณ์ข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่ิอหาทางออกของประเทศว่า สถานการณ์ของประเทศขณะนี้ ได้ประสบกับปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหานับตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเมื่อรัฐได้ใช้มาตรการอย่างเข้มข้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ทำให้วิกฤตเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้วความรุนแรงยิ่งขึ้นส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนเกือบทุกภาคส่วน  

ประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทย

ขณะเดียวกันกำลังจะเกิดวิกฤตสำคัญทางการเมืองที่เป็นผลจากรัฐธรรมนูญที่ไม่มีความชอบธรรม และไม่เป็นประชาธิปไตย จึงทำให้เกิดข้อเรียกร้องของหลายฝ่าย ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง แต่ท่าทีของรัฐบาลกลับไม่ให้ความสนใจ ล่าสุดจึงได้เกิดการเคลื่อนไหวของบรรดานักศึกษาสถาบันต่างๆ นั้น

พรรคเพื่อไทย เห็นว่า สถานการณ์ของประเทศอยู่ในภาวะเปราะบาง และสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงตามมา หากรัฐบาลยังคงบริหารประเทศโดยที่ไม่ฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน และไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจได้ถูกทิศทาง พรรคเพื่อไทยจึงมีข้อเสนอ 4 ประการไปยังรัฐบาล คือ ขอให้รัฐบาลได้รับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน งดใช้กำลังและความรุนแรงทุกรูปแบบกับประชาชน รวมถึงอย่ามองคนที่เห็นต่างเป็นศัตรูทางการเมือง ขณะเดียวกันขอให้ผู้ชุมนุมทุกกลุ่มได้ใช้สิทธิของตนภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายและสันติวิธี 

รัฐบาลต้องสนับสนุนให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากเป็นที่ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างขึ้นจากผลพวงของการยึดอำนาจเมื่อ 22 พ.ค. 2557 และมีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมุ่งสืบทอดอำนาจ และพันธนาการประเทศไว้ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งพรรคเพื่อไทยและอีกหลายพรรคได้ร่วมกันผลักดันมาหลายปีแล้ว ให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยประชาชนและเห็นชอบโดยประชาชน ซึ่งขณะนี้มีประชาชนหลายกลุ่มรวมทั้งบรรดานิสิตนักศึกษาเริ่มออกมาเรียกร้องแล้ว จึงเห็นว่าถึงเวลาที่รัฐบาลและทุกฝ่ายต้องดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด  

ประการที่ 3 เพื่อให้ประชาชนทุกระดับ โดยเฉพาะคนตัวเล็ก สามารถทำมาหากินได้อย่างสะดวก แข่งขันกับโลกได้อย่างสอดคล้องกับยุค 4.0 และเพื่อให้ระบบรัฐราชการเปลี่ยนบทบาทจากผู้ควบคุมเป็นผู้สนับสนุนส่งเสริม พรรคเพื่อไทยเห็นว่าเราต้องปลดปล่อยและให้อำนาจแก่ประชาชนที่ทำมาหากินโดยพลิกวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาส ด้วยการงดเว้นการต้องขออนุมัติ อนุญาตในการประกอบกิจการต่างๆ เป็นเวลา 3 ปี เว้นแต่ที่กระทบต่อความปลอดภัยอย่างร้ายแรงของประชาชน  

ประการสุดท้าย รัฐบาลต้องให้ประชาชนมีอำนาจในการรวมตัวเพื่อการทำมาหากิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สร้างมาตรฐานระหว่างผู้ประกอบการในกิจการที่มีลักษณะทำนองเดียวกันหรือคล้ายกัน พรรคเพื่อไทยเห็นว่าการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชนจะสามารถปลดปล่อย และให้อำนาจประชาชนในการทำมาหากิน เป็นวิสัยทัศน์ ทิศทางและรูปธรรมที่ทุกฝ่าย ต้องเดินไปด้วยกันเพื่อให้ประเทศเดินต่อไปได้

อ่านเพิ่มเติม