เมื่อวันพฤหัสบดี (17 มี.ค. 65) ที่ผ่านมา ศาลกัมพูชาตัดสินจำคุก สม รังสี อดีตผู้นำฝ่ายค้าน 10 ปี สมาชิกอาวุโสฝ่ายค้านอีก 6 คนเป็นเวลา 10 ปีและนักเคลื่อนไหวอีก 13 คนเป็นเวลา 5 ปี ในข้อกล่าวหาที่ถูกมองว่าคลุมเครือ เกี่ยวกับการ "ยุยง" "ยุยงให้ทหารไม่เชื่อฟัง" และ "สมรู้ร่วมคิด"
จำเลยบางคนถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีนานถึง 2 ปีก่อนที่ศาลจะมีคำตัดสิน
(นักโทษการเมืองโบกมือออกมาจากรถของเรือนจำกัมพูชา, AFP)
มูลเหตุข้อหา ‘ล้มล้างรัฐบาลฮุน เซน’
การพิพากษาของศาลครั้งนี้มีเหตุมาจากแผนการเดินทางกลับกัมพูชาของ สม รังสี อดีตผู้นำพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ในปี 2562 ซึ่งเขาเรียกร้องให้ประชาชนลุกขึ้นต่อต้านฮุน เซน ฝ่ายค้านคนอื่นๆ และนักเคลื่อนไหวราว 150 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏและยุยง จากการแชร์ข้อความในโซเชียลมีเดียที่สนับสนุน สม รังสี ให้เดินทางกลับประเทศ
เซบาสเตียน สตราจิโอ บรรณาธิการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเดอะ ดิโพลแม็ท รายงานว่า ในระหว่างการพิจารณาคดี อัยการให้การว่า กลุ่มของจำเลยพยายามที่จะ “ล้มล้างรัฐบาล” และ “ท้าทายรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน” อัยการยังกล่าวหาว่า สมาชิกพรรคฝ่ายค้าน CNRP เป็นส่วนหนึ่งของ “เครือข่ายลับ” ที่พยายามขัดขวางเศรษฐกิจของกัมพูชาและใช้การระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อบ่อนทำลายรัฐบาลของพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ของฮุน เซน โดยอัยการอ้างว่า สมาชิกพรรคฝ่ายค้านที่เป็นจำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการตัดสินใจของสหภาพยุโรปในเดือนสิงหาคม ปี 2563 ที่จะระงับสิทธิพิเศษทางการค้าบางส่วนที่กัมพูชาได้รับภายใต้โครงการ Everything But Arms ของสหภาพยุโรป
(สม รังสี อดีตผู้นำพรรคฝ่ายค้านกัมพูชา ลี้ภัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส, AFP)
สม รังสี: “การต่อต้านเผด็จการเป็นหน้าที่ ไม่ใช่อาชญากรรม”
หลังคำตัดสินของศาล สม รังสี อดีตผู้นำพรรคฝ่ายค้าน โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ว่า
“ระบบยุติธรรมถูกนำกลับมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ตรงไปตรงมาอีกครั้ง เพื่อพยายามปราบปรามการต่อต้านระบอบเผด็จการของฮุน เซน การต่อต้านเผด็จการเป็นหน้าที่ ไม่ใช่อาชญากรรม”
สม รังสี ลี้ภัยไปประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2558 เพื่อหลีกเลี่ยงโทษจำคุกที่เขามองว่าไม่ยุติธรรม และเป็นการตัดสินที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 ศาลกัมพูชาตัดสินยุบพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักที่เคยเกือบจะเอาชนะพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ของฮุน เซน ในการเลือกตั้งใหญ่ปี 2556 ในการยุบพรรคครั้งนั้น ศาลยังสั่งห้ามสมาชิก CNRP 118 คน เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองใดๆ เป็นเวลา 5 ปี
เมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา ศาลกัมพูชาเคยตัดสินลงโทษจำคุกสม รังสี แล้วถึง 25 ปี
(ครอบครัว ญาติ และผู้สนับสนุนประท้วงอยู่นอกศาล บางคนล้มลงบนพื้นหลังมีการยื้อแย่งป้ายประท้วงกับเจ้าหน้าที่, AFP)
เสียงจากครอบครัวและทนาย: “ความอยุติธรรมกลายเป็นบรรทัดฐานไปแล้ว”
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า มีเหตุการชุลมุนเกิดขึ้นในวันที่ศาลมีคำสั่งลงโทษสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน เนื่องจากเจ้าหน้าที่พยายามยึดป้ายจากภรรยา ญาติ และผู้สนับสนุนของจำเลยที่มารวมตัวประท้วงนอกศาล ทำให้บางคนล้มลงกับพื้น
“ศาลไม่ยุติธรรมเลย ฉันคิดว่าเขาจะได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ ศาลไม่ควรตัดสินให้เขาติดคุกอีกต่อไป ได้โปรด ประชาคมโลกช่วยสามีของฉันด้วย”
โส อิธ ภรรยาของหนึ่งในนักโทษการเมืองบอกกับสำนักข่าวเอเอฟพี ด้าน เธียรี เส็ง นักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชา-อเมริกัน ให้สัมภาษณ์ว่าจะทำการยื่นเรื่องอุทธรณ์ให้กับนักโทษการเมือง
“นี่เป็นอีกวันแห่งความอยุติธรรมในกัมพูชา มันกลายเป็นบรรทัดฐานไปแล้ว ...คุณเห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับสมาชิกในครอบครัวของผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ พวกเขาแค่เรียกร้องความยุติธรรมอย่างสันติ เรียกร้องให้ปล่อยคนที่พวกเขารักจากสภาพอันเลวร้ายในคุกนี้”
สม จันทร์โถ ภรรยาของนักโทษการเมืองอีกคนหนึ่งที่ถูกคุมขังมานานเกือบ 2 ปี และถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกรวม 5 ปี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีพร้อมร่ำไห้ว่า
“ฉันจำได้ว่าระบอบการปกครองของพลพตยาวนานเป็นเวลาสามปีแปดเดือน ตอนนี้สามีของฉันซึ่งไม่ได้ทำอะไรผิดกลับถูกตัดสินจำคุกต่ออีกสามปีแปดเดือนด้วย สามีของฉันไม่ได้ขายประเทศ”
(ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชา, AFP)
‘ระบอบฮุน เซน’ ยังดำเนินต่อไป ในปีที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียน
ฮุน เซน เป็นหนึ่งในผู้นำที่ปกครองมายาวนานที่สุดในโลก โดยยังคงยึดอำนาจมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี นักวิจารณ์และกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า เขาได้บดขยี้ผู้เห็นต่างอย่างไร้ความปราณีโดยการจำคุกฝ่ายตรงข้ามและนักเคลื่อนไหว
ตามรายงานขององค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch (HRW) ขณะนี้มีนักโทษการเมืองมากกว่า 60 คนที่ถูกกักขังอยู่ในเรือนจำกัมพูชา ทั้งสมาชิกของฝ่ายค้านทางการเมือง นักเคลื่อนไหวในชุมชน และนักสหภาพแรงงาน
นับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดในปี 2561 เมื่อพรรคของฮุน เซน ชนะทุกที่นั่งในการเลือกตั้งโดยไม่มีฝ่ายค้านที่น่าเชื่อถือ ทางการกัมพูชาได้เพิ่มการจับกุมอดีตสมาชิกพรรคฝ่ายค้านที่ถูกยุบพรรค นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และคนอื่นๆ ที่แสดงจุดยืนคัดค้าน
ฟิล โรเบิร์ตสัน จาก HRW ระบุในแถลงการณ์ประณามคำตัดสินล่าสุดของศาลกัมพูชาว่า “การพิจารณาคดีครั้งใหญ่และการตัดสินโทษของฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูล เป็นการล่าแม่มดที่ทำให้ทั้งรัฐบาลกัมพูชาและศาลของประเทศเสียชื่อเสียง” พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศแสดงจุดยืน
อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องจับตามองคือบทบาทของอาเซียนในปีที่กัมพูชาเป็นประธาน ทั้งต่อสถานการณ์ในเมียนมา และสถานการณ์การลิดรอนสิทธิมนุษยชนโดยรัฐในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย
ที่มา: