เหมือนจะเป็นข่าวที่น่ายินดีปรีดา หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 มีนาคม 2563 อนุมัติงบกลางให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) 45,000 ล้านบาท จัดทำมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 แจกเงินช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ อาชีพอิสระ คนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ก่อนขยายกรอบเป็น 6 เดือน และเพิ่มจำนวนผู้จะได้รับเยียวยาจาก 3 ล้านคน เพิ่มเป็น 9 ล้านคน
วุ่นตั้งแต่วันแรกที่เปิดลงทะเบียน
ทันทีที่เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” ในเวลา 18.00 น. วันที่ 28 มีนาคม 2563 ก็ดัน "ล่ม" ตั้งแต่นาทีแรก ด้วยจำนวนผู้เข้าใช้กว่า 2 ล้านคนที่มารอกันตั้งแต่เว็บยังไม่เปิดให้ลงทะเบียน แต่ภายหลังระบบก็กลับมาลงทะเบียนได้ตามปกติ ดันยอดลงทะเบียน 3 วันทะลุ 20 ล้านคน จนเป็นเหตุให้ต้องเพิ่มปุ่มกดยกเลิกลงทะเบียนในวันที่ 4 เมษายน 2563 แต่ก็มียอดกดยกเลิกแค่หลักแสนคนเท่านั้น
เข้าข่ายรับ 5,000 แค่ 8 ล้านคน
แม้จะมีผู้ลงทะเบียนรวมกว่า 27 ล้านคน แต่นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่า ผู้ที่เข้าข่ายที่จะได้รับเงินเยียวยาจะมีไม่เกิน 8 ล้านคน จากการตรวจสอบแรงงานที่มีงานทำอยู่ที่ 38 ล้านคน ประกอบการอาชีพอิสระ รับจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว กิจการส่วนตัว ค้าขาย จำนวน 3 ล้านคน ส่วนกลุ่มอาชีพอิสระที่อยู่ระบบกันสังคมตามมาตรา 39 และ 40 ที่รับมาดูแลเพิ่มมีอยู่ 5 ล้านคน รวมกันแล้วอยู่ที่ 8 ล้านคนเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มเกษตรกร เป็นพนักงาน มีรายได้ประจำ อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 และกลุ่มอื่นๆ เช่น ข้าราชการ และกำลังแรงงานที่ไม่ได้ทำงาน ว่างงาน และเรียนหนังสือจะไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทแน่นอน
แจกเงินวันแรก “ได้” แต่ “ไม่ได้ใช้” 4 อาชีพแรก รออย่างหมดความหวัง
ทันทีที่เริ่มโอนเงิน 5,000 บาท งวดแรก ในวันที่ 8-10 เมษายน 2563 จุดเป็นประเด็นร้อนแรงในโซเชียลหลัง “คนเดือนร้อนไม่ได้ คนได้ไม่เดือนร้อน” จนกระทรวงการคลังต้องสั่งทีมตรวจสอบบุคคลที่โพสข้อความ “5,000 บาท แค่เศษเงินหลังตู้เย็น” ขณะที่กลุ่มคนที่กระทรวงการคลัง แจ้งว่าจะได้รับเงินแน่นอน 4 อาชีพแรก คือ มัคคุเทศก์ คนขับรถแท็กซี่ ผู้ค้าสลาก และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง กลับต้องนั่งหง๋อยเหงาอย่างรอคอยความหวัง ขณะที่บางคน มีเงินโอนเข้าบัญชีแล้ว แต่ยังไม่ทันได้ใช้ก็ถูกหักชำระหนี้บัตรเครดิต ไปแบบชนิดที่ยังไม่ได้ร่ำลา
และหลังจากที่เริ่มโอนเงินเพียงวันเดียว นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็บอกว่า มาตรการให้เงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เดือนละ 5,000 บาท ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ยังไม่ได้ขยายเป็น 6 เดือน แต่ที่ผ่านมาได้บอกว่า รัฐบาลมีเงินเพียงพอสำหรับการดูแลกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทุกกลุ่มเป็นเวลา 6 เดือน โดยในเบื้องต้นจะช่วยก่อน 3 เดือน จนมีแนวคิดแจกเงินเกษตรกรครัวเรือนละ 15,000 บาทตามมา
แม้ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติได้รับเงินรอบแรกจะมีประมาณ 1.68 ล้านคน จากที่ตรวจสอบคุณสมบัติไปแล้ว 7.99 ล้านคน แต่ในจำนวนนี้กว่า 4.78 ล้านคน ไม่ผ่านเกณฑ์ ได้รับการแจ้งผ่าน SMS ว่าเป็น “เกษตรกร” “เจ้าของกิจการ” รวมไปถึง “ไม่มีข้อมูลในระบบ” จนหลายคนต้องมุ่งตรงมาที่กระทรวงการคลังตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2563 เพื่อขอคำชี้แจง แต่ก็ได้เพียงคำตอบให้รอยื่นอุทธรณ์เท่านั้น
คลังวุ่น คนชวดเงิน 5,000 บุก จี้ขอคำตอบจาก “อุตตม”
หลังจากในวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังติดป้ายประกาศ “เปิดบริการจุดรับเรื่องราวร้องทุกข์การขอรับเงินเยีวยา 5,000 บาท” ณ โรงอาหารกระทรวงการคลัง ชั้น 1 โดยจะเริ่มให้บริการในเวลา 08.00 น.ของวันที่ 14 เมษายน 2563 แต่ตกดึกเหล่าบรรดาผู้บริหาร กลับแจ้งว่าเป็นข่าวปลอม และขอให้คนอย่ามาแออัดกันที่กระทรวง เนื่องจากจะเปิดให้ยื่นอุทธรณ์ผ่านทางเว็บไซต์เท่านั้น แต่ไม่รู้ว่าการสื่อสารที่ไม่ได้อ่านไลน์กลุ่ม หรือ ดึกดื่นจนเกินไป ประชาชนจำนวนมากยังคงเดินทางมาที่กระทรวงการคลังแบบแน่นขนัดตั้งแต่เช้า
นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ต้องลงมารับหน้า แต่ไร้วี่แววของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยชี้แจงว่าให้ประชาชนรอลงยื่นอุทธรณ์ผ่านทางออนไลน์เท่านั้น เร็วสุดคือวันที่ 19 เมษายน หรือช้าสุดวันที่ 22 เมษายน 2563
การชี้แจงดังกล่าวไม่เป็นผล แต่กลับเพิ่มดีกรีความคับข้องใจของประชาชนที่ยื่นรอฟังคำตอบจากตัวแทนกระทรวการคลัง ทำให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวยกระดับรวมตัวจะบุกขึ้นตึกขอพบ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอคำชี้แจง เนื่องจากทนรอไม่ไหว
ในขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ขอให้ประชาชนอย่าเดินทางมาที่กระทรวงการคลัง เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยกระทรวงการคลังจะเปิดระบบ “เราไม่ทิ้งกัน” ซึ่งจะมีการเพิ่มปุ่ม “อุทธรณ์” อย่างช้าไม่เกินวันอังคารที่ 21 เมษายนนี้
"ไม่ได้รับสิทธิ" สถานะยอดฮิตเป็น “เกษตรกร”
สถานะยอดฮิตของผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ส่วนใหญ่ได้รับแจ้งว่าเป็น “เกษตรกร” หนึ่งในนั้นคือ นายบุญมา วงศ์สว่าง อายุ 50 ปี อาชีพขับรถแท็กซี่ เปิดเผยว่า ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันแรก แต่ได้รับ SMS ในวันที่ 13 เมษายน 2563 แจ้งว่าไม่ได้รับสิทธิใน เนื่องจากเป็น “เกษตรกร” ทั้งที่ขับแท็กซี่มาแล้วกว่า 13 ปี พร้อมตั้งคำถามถึงกระบวนการตรวจสอบว่า แม้จะใช้ระบบ AI แต่ผู้ออกแบบคือคน เหตุใดระบบจึงไม่ลิงก์กับหน่วยงานอื่น เช่น กรมการขนส่งทางบกที่มีฐานข้อมูลอยู่แล้ว เพราะตอนนี้รายได้เหลือเพียงวันละ 150-300 บาท จะอดตายอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามแม้กระทรวงการคลังมีการสรุปว่ากลุ่มเกษตรกร จะไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เนื่องจากเกษตรกรจะมีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทุกปีกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่คือ กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งการขึ้นทะเบียนจะเป็นราย “ครอบครัว” โดยให้หัวหน้าครอบครัวเป็นคนมาขึ้นทะเบียน
ทั้งนี้ในการกรอกรายละเอียดสมาชิกในครอบครัว จะให้ระบุด้วยว่ามีสมาชิกในครอบครัวกี่คน เป็นใครบ้าง และสมาชิกในครอบครัวที่ช่วยทำเกษตรเกษตรกรรมมีกี่คนคือใครบ้าง แต่ก็ยังเกิดคำถามถึงว่าการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงว่ามีความน่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน และ AI คือเครื่องการกำหนดชีวิตคนคนนึงจริงหรือ?
ท้ายที่สุดคงต้องถามหาการเชื่อมโยงข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและสมบูรณอยู่ที่ไหน เพื่อให้คนเดือนร้อนได้รับการเยียวยาอย่างถูกจุด เพราะอย่าลืมว่านี่ไม่ใช่การขอเงินบริจาค แต่คือเงินภาษีของทุกคน ที่คนเดือนร้อนควรที่จะได้รับอย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง ซึ่งอย่าให้เกิดข้อครหาว่ารัฐบาลเลือกปฏิบัติ...
ข่าวที่เกี่ยวข้อง