ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างวิจัยและพัฒนาการนำระบบ 5G ต่อยอดการให้บริการทั้งในส่วนของผู้บริโภค และส่วนภาคอุตสาหกรรม โดยการบริการสำหรับผู้บริโภค ประเมินว่า เทคโนโลยี 5G จะทยอยเพิ่มสัดส่วนขึ้น แต่กว่าที่จะแซง 4G ได้ ยังต้องใช้เวลาอีกนาน เนื่องจากผู้บริโภคยังต้องการอุปกรณ์จากบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ทั้งหลาย ทั้งแอปเปิ้ล, ซัมซุง และหัวเว่ยให้ผลิตอุปกรณ์ที่มีคุณภาพดีและราคาไม่แพง เนื่องจากขณะนี้อุปกรณ์สำหรับ 5G ราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นตลาดใหญ่อาจจะเกิดช้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อ 5G เป็นที่ยอมรับและมีราคาต่ำลง จะเห็น 5G ในหมู่ผู้บริโภคมากขึ้น โดยคาดว่าต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 ปี เพราะตอนนี้อุปกรณ์ 5G ยังมีเฉพาะบางย่าน แต่ในอนาคตคลื่นความถี่ย่าน 2,300 MHz และ 2,100 MHz จะนำกลับมาประมูล 5G ได้ ถ้าอุปกรณ์ใหม่ๆ ราคาใหม่ๆ เข้ามาในประเทศ 5G ก็จะมีการใช้งานมากขึ้น
ส่วนภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ การผลิต การเกษตร รวมถึงอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ขึ้นอยู่ที่ว่าแต่ละอุตสาหกรรมพร้อมจะปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรม 5G หรือไม่ เนื่องจากยังต้องการการลงทุน และต้องการผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากแต่ละอุตสาหกรรมไม่สามารถปรับด้วยตัวเองได้ และต้องอาศัยผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ สถาบันวิชาการต่างๆ ต้องมาให้ความรู้ หากสามารถปรับได้เร็วก็จะเห็นการเปิดตัวได้เร็ว ซึ่งการเปิดประมูล 5G ที่ผ่านมา ได้เน้นเรื่องพื้นที่อีอีซี ให้มีพื้นที่ 5G อยู่ที่ 50% ดังนั้นหากอุตสากรรมในอีอีซีนำ 5G มาประยุกต์ใช้ก็จะเกิดขึ้นทันที แต่ถ้าอุตสาหกรรมยังไม่พร้อมรับก็เกิดขึ้นช้าเช่นกัน
ขณะที่วันนี้ 6 ส.ค. 2563 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กสทช. ได้จัดแสดงผลงานการทดลอง/ทดสอบ Use cases ต่างๆ เพื่อใช้งานได้จริงบนเครือข่าย 5G เพื่อให้มีการพัฒนา วิจัยเทคโนโลยี พร้อมทั้งการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี 5G
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: