ไม่พบผลการค้นหา
"นักจำแนก" บน "ถุงสีดำ" ร่ายรำการคัดแยกขยะ ที่หลายคนเบือนหน้าหนี แต่หาใช่กับ "สายตรวจซาเล้ง" บนอ่าวนาง จ.กระบี่ มันอาจจะเป็นฟันเฟืองทางทรัพย์สิน ที่ขับเคลื่อนให้พวกเขามีชีวิตต่อ ภายใต้ซากขยะ 60-70 ตันต่อวัน

"อยากเห็นบ้านเราสะอาด ดังคำขวัญ อ่าวนาง เมืองสวย น้ำใส" ใครบางคนได้บอกไว้ ด้วยความตั้งใจเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ให้มันดีขึ้น และปกป้องสิ่งแวดล้อมที่อาจคร่าชีวิตผู้คนหรือสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร โดยปฏิเสธไม่ได้ว่า "กองขยะ" จำนวนมหาศาลต่อวันที่อ่าวนางนั้น มันไม่สามารถแก้ได้ในเร็ววันหากไร้กติกา

"ได้เดือนละเกือบ 2 หมื่นก็พออยู่ได้แล้วครับ" แมน -ชายหนุ่มอายุวัย 30 ปลาย อยู่ในชุดลำลองเกงยีนส์ซีดๆ เสื้อยืด คลุมด้วยเสื้อกั๊กสีเขียวเรืองแสง ระบุหมายเลข 26 ย้ำความไฝ่ฝันแม้เดิมทีจะเคยมีอาชีพซ่อมรถตามอู่แต่หาใช่สิ่งที่เขาไฝ่หา แต่เป็นเพียง 'ลูก' ที่เป็นเลือดเนื้อของเขาได้เติบโตขึ้นทัดเทียมกับเด็กทั่วไป แม้ว่าเขากำลังเปรอะเปรื้อนจากซากขยะที่หลายคนไม่ถวิลหาในพื้นที่ ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อที่คราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างแดน

ธรรมนูญเขยื้ยนขยะ

(แมน อดีตช่างซ่อมที่ผกผันมายึดอาชีพแยกขยะ)

"รายได้แต่ละเดือนมันก็ไม่คงที่ ถ้าเป็นช่วงเทศกาลก็จะได้เยอะเกือบเท่าตัว " แมน-กล่าวสำทับถึงรายรับที่แปลงสภาพจากเศษซากขยะนานาชนิด แม้ว่าจะมีภาระครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดู แต่รอยยิ้มที่เล็ดลอดออกมาบนใบหน้าที่ชุ่มเหงื่อของเขา กับพบว่าหาใช่ความทุกข์ไม่

โดยส่วนมากราคาขยะที่พวกเขาจำแนกออกมาจะแตกต่างกัน อาทิ ขวดน้ำเปล่า ตกราว ก.ก.ละ 15 บาท กระดาษลัง ก.ก.ละ 3-4 บาท ซึ่งราคาอาจมีการเปลี่ยนขึ้นอยู่กับโรงงานรับซื้อในการกำหนดเกณฑ์ราคาจากซากขยะ

รายรับของนักคัดแยกขยะนั้น จะทวีสูงขึ้นเมื่ออยู่ในช่วงไฮซีซั่น "ผมเคยแยกขยะได้ 30,000-40,000 บาทต่อเดือน" อี๊ด - อีกหนึ่งคู่หูที่เคียงข้างคัดแยกขยะในทุกค่ำคืนร่วมกับแมน กล่าวเสริมด้วยสำเนียงทองแดงสลับกับการคัดแยกขยะแต่ละประเภทอย่างช่ำชอง ราวกับเป็นศิลปินเอกที่ตวัดขีดเขียนพู่กันบนเฟรมที่อยู่ใน "ถุงสีดำ" ด้วยความชำนาญร่วม20 ปี จากอายุ 18 ถึง 37 ปี

"อย่างไม่ได้เลยคือวันละ 500 บาท" อี๊ด -ผู้ริเริ่มยึดถืออาชีพนี้ตั้งแต่วัยรุ่น ซึ่งอาจจะต่างจากคนหนุ่มสาวในวัยเดียวกัน แต่สิ่งที่เขาต้องการก็ไม่ได้ผิดแปลกใครอื่นนั่นคือ "เงิน" ถึงจะผ่านล่วงเลยมาหลายปี แต่เขาก็ไม่คิดถอยห่างจากอาชีพนี้ แม้จะต้องเสี่ยงต่อโรคภัยหรืออันตรายจากสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในขุมทรัพย์ที่เขากำลังค้นหา

ธรรมนูญเขยื้ยนขยะ

(อี๊ด นักคัดแยกขยะร่วม 20 ปี)

"บางทีเขาก็คิดว่าเราเป็นมิจฉาชีพ" นี่คืออีกสาเหตุที่ทำให้อี๊ดเข้าร่วมลงทะเบียนกับอบต.อ่าวนาง ผ่านโครงการ "สายตรวจซาเล้ง" ที่เป็นโมเดลการจัดระเบียบขยะในพื้นที่ มีเครื่องแบบชัดเจนเพื่อลบคำครหาเหล่านั้น อีกทั้งอยากเห็นบ้านเกิดของเขาสะอาด เป็นภาพแรกที่คอยเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นต่างธานี

"ตอนนี้มีสายตรวจซาเล้ง ลงทะเบียนกับอบต.อ่าวนาง 52 คัน เราหวังที่จะยกระดับคุณค่าของพวกเขาจากผู้ก่อสู่ผู้เก็บ" สุพจน์ ชดช้อย รักษาการผู้อำนวยการกองสาธารณสุข เล่าถึงวัตถุประสงค์ของโครงการที่เป็นการปฏิรูปวัฒนธรรมการจัดการขยะในพื้นที่อ่าวนาง เนื่องด้วยที่ผ่านมามีกลุ่มซาเล้งทั้งจากในพื้นที่และนอกพื้นที่ได้เข้ามาแย่งขยะ และบ่อยครั้งที่ละเลยการดูแลรักษาทำให้เกิดความสกปรกบนท้องถนน

ธรรมนูญเขยื้ยนขยะ

(หนึ่งในผู้ร่วมโครงการสายตรวจซาเล้ง)

ดังนั้นทางอบต.อ่าวนาง จึงเกิดแนวคิดระดมไอเดียกันมาหลายสิบวิธี ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวรยามเฝ้า หรือแม้กระทั่งการใช้ข้อบังคับกฎหมาย แต่ผลลัพธ์ก็ไม่ได้เป็นดังที่ตั้งเป้าไว้ เป็นเพียงการคงอยู่ของปัญหา อาจกล่าวได้จะด้วยการขาดจิตสำนึกหรือการขาดฉันทามติชุมชนคงไม่ผิดมากนัก

สุพจน์ เล่าต่อว่าหลังจากเริ่มมีการมองเห็นปัญหาร่วมกัน จึงมีแนวคิดผุดไอเดีย "ธรรมนูญสุขภาพ" ขึ้นมา ซึ่งเป็นความร่วมมือกันทั้งจากภาครัฐ ประชาชน และผู้ประกอบการ ผ่านการเปิดพื้นที่กลางหาข้อตกลงร่วมกัน เพื่อหาทางออกจากจุดนี้ ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น นับตั้งแต่เริ่มเข้าพื้นที่อ่าวจะเห็นได้ว่าขยะแทบไม่ปรากฎให้เห็นมากนัก สะท้อนถึงความเอาจริงเอาจังและการมีส่วนร่วมเข้ามาจัดการจากทุกฝ่าย

แม้มันยากที่จะทำให้หมดไป แต่จะทำอย่างไรให้พลาสติกมันมีคุณค่า นั่นคือโจทย์หลักของคนอ่าวนาง วันนี้อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หัวใจของมันคือเมล็ดพันธุ์ที่กำลังเติบโต ที่อาจแตกหน่อส่งผลไปยังพื้นที่อื่น ด้วยวิธีการจัดการผ่านธรรมนูญสุขภาพ

ไม่แน่ว่าผลพวงโมเดลของการจัดการขยะของพื้นที่แห่งนี้ เมื่อสัมฤทธิ์ผลจะถูกนำเข้าไปแปลงสภาพเป็นข้อบังคับใช้ร่วมกัน เพื่อสานต่อพันธะสัญญาทลายกำแพงของกองขยะที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์

โดยเฉพาะประเทศไทยที่ติดอันดับ 5 ของโลก สำหรับประเทศที่มีขยะพลาสติก จากผลชี้วัดที่สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมได้นำมาเผยแพร่ ในปี 2562 มีปริมาณขยะพลาสติกอยู่ที่ 2 ล้านตัน จากการสร้างขยะทั้งหมด 27 ล้านตัน

อีกชุดข้อมูลที่น่าสนใจคือผลสำรวจของทีมวิจัยจากต่างประเทศ มหาวิทยาลัยจอร์เจีย ได้จัดอันดับประเทศไทย อยู่ที่อันดับ 7 โดยมีปริมาณขยะพลาสติก 1 ล้านตัน เป็นขยะในมหาสมุทร 0.41 ล้านตัน 

สอดคล้องกับเหตุการณ์ล่าสุดที่ 'มาเรียม' พยูนเกยตื้น ที่ถูกคร่าชีวิตด้วยเศษพลาสติก หลังแพทย์ได้ผ่าชันสูตรศพ โดยดร.ธร ธํารง นาวาสวัสดิ์ ได้ระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา "เจ้าหน้าที่เดินเก็บขยะ 50 เมตร พบแก้วใช้แล้วทิ้งกว่า 1,800 ใบ พบหลอดเกือบ 1,200 หลอด" ซึ่งบริเวณที่พบอยู่ในชายหาดแห่งหนึ่งในอันดามัน

นับเป็นสถิติที่น่าเป็นห่วง หากวิฤติเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข สิ่งมีชีวิตไม่เว้นแต่มนุษย์มิอาจหลีกหนีจุดจบจากความรุนแรงที่เกิดจากปริมาณขยะได้ จึงจำเป็นเป็นต้องแก้ระบบแก้ให้ตรงจุดไม่ใช่การรณรงค์อย่างฉาบฉวย เมื่อไร้ซึ่งความจริงจัง คำว่า 'ศพสุดท้าย' ก็คงไม่ปรากฎ

ธรรมนูญเขยื้ยนขยะ


พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog