วันที่ 10 พ.ย. 2566 เวลา 08.30 น. ที่สำนักงาน กสทช. พหลโยธินซอย 8 สภาผู้บริโภค นำโดย สุพิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช. และ ประธานคณะอนุกรรการด้านการสื่อสารฯ สภาผู้บริโภค และ อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เดินทางมายื่นหนังสือถึง คณะกรรมการ กสทช. ก่อนการประชุมบอร์ด กสทช. เพื่อพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือ AIS และ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB
สุพิญญา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สภาผู้บริโภค เคยมายื่นค้านการลงมติของ กสทช. ในการพิจารณาการควบรวมกิจการโทรคมนาคมไร้สายระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ซึ่งขณะนี้ เราได้รับข้อร้องเรียนจำนวนมากจากผู้บริโภคถึงคุณภาพและราคาหลังควบรวม ที่ทำให้มีทางเลือกน้อยลง
ดังนั้น ในวันนี้ ที่ กสทช. จะมีการพิจารณาการควบรวมกิจการโทรคมนาคมประจำบ้าน (เน็ตบ้าน) ระหว่าง AIS และ 3BB จึงมีข้อกังวลว่าจะซ้ำรอยเดิม
“เราเข้าใจว่าเป็นสิทธิ์ของภาคเอกชนที่จะยื่นขอควบรวมกิจการ แต่ขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. โดยเฉพาะ กสทช. ชุดนี้ ที่ยืนยันมาตลอดว่า ตัวเองไม่มีอำนาจในการพิจารณาว่าจะให้ควบรวมกิจการได้หรือไม่ สิ่งนี้ถือว่ากระทบต่อเจตนารมณ์ของการเป็นองค์กรอิสระมากที่สุด ทั้งที่ควรพิจารณาบนประโยชน์สาธารณะ การปล่อยให้การควบรวมเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้” สุพิญญา ระบุ
สิ่งสำคัญ คือ เราต้องการเรียกร้องศักดิ์ศรีของ กสทช. ตั้งแต่ประธาน กสทช. ลงมาถึง คณะกรรมการฯ ให้ทำหน้าที่ของตนเองให้มากกว่านี้ ต้องยืนหยัดเรื่องการพิจารณาโดยยึดผลประโยชน์สาธารณะ หากท่านคิดว่าการควบรวมที่เกิดขึ้นไม่ผิด ก็ให้ลงมติ “อนุญาต” ให้ควบรวมโดยใช้อำนาจที่มี แต่ไม่ควรบอกว่าตัวเองไม่มีอำนาจ
อย่างไรก็ดี แม้การแสดงออกวันนี้ อาจจะไม่เป็นผล เหมือนการควบรวมครั้งที่ผ่านมา แต่อย่างน้อย เราได้เป็นตัวแทนในการแสดงออกของผู้บริโภคแล้ว
ด้าน อิฐบูรณ์ กล่าวว่า ผลกระทบจากการลงมติ “รับทราบ” โดย กสทช. ในการควบรวมครั้งที่ผ่านมา ที่มีการออกมาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคหลังการควบรวม จากการติดตามผล เราไม่เห็นการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว เช่น การลดค่าบริการโดยเฉลี่ยอย่างน้อยร้อยละ 12 ภายใน 90 วัน อีกทั้งยังพบว่าคุณภาพบริการแย่ลง โปรโมชั่นราคาถูกหายไป จึงเป็นเหตุให้วันนี้ เรานำผลการศึกษาทางวิชาการมายื่นประกอบการพิจารณาลงมติของ กสทช. ให้มีความรอบด้านมากขึ้น
นอกจากนี้ สุพิญญา กล่าวว่า เนื่องจากกสทช. มีประกาศและระเบียบ กสทช. อยู่มาก ที่ผ่านมา ในกรณีที่การดำเนินการไม่ได้กระทบต่อประชาชนมากนักอาจจะอ้างระเบียบที่อนุญาตให้ลงมติ “รับทราบ”ได้ แต่กสทช. มีระเบียบสำคัญอีกอันที่ระบุชัดเจนว่า หากส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในเชิงทำให้เกิดการผูกขาด กสทช. สามารถใช้อำนาจเต็มพิจารณากำกับดูแลได้ ถือว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและ พรบ. กสทช. ที่ต่างพูดถึงเรื่องการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภค คาดหวังว่า การที่ศาลปกครองรับฟ้องคดีควบรวมทรู-ดีแทค จะเป็นปัจจัยที่ทำให้กสทช. ลงมติแตกต่างออกไปจากการพิจารณาครั้งที่แล้ว พร้อมระบุถึงข้อเสนอถึงรัฐบาล ในการจัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมองว่าสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญนั้นดีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องปรับให้สามารถตรวจสอบการทำงานของ กสทช. ได้มากขึ้น ปรับลดงบประมาณ สร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะผู้บริโภคให้มากขึ้น