ไม่พบผลการค้นหา
วัคซีนที่มีอยู่จะมีประสิทธิภาพพอไหม? หรือจำเป็นต้องมีวัคซีนใหม่เพื่อรับมือกับสายพันธุ์นี้โดยเฉพาะ?

แม้จะยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับความรุนแรงของโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่พบแล้วในหลายประเทศ แต่ความหวาดกลัวต่อ ‘โอไมครอน’ ได้ก่อให้เกิดความล่าช้าในแผนการเปิดเศรษฐกิจ การกำหนดมาตรการป้องกันและข้อจำกัดด้านการเดินทางที่เข้มงวดขึ้นไปจนถึงการปิดพรมแดนอีกครั้งในบางประเทศ

ในขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเร่งศึกษาโควิดสายพันธุ์โอไมครอน เพื่อตอบคำถามว่า วัคซีนที่มีอยู่จะมีประสิทธิภาพในการต้านทานได้ไหม? หรือโลกจำเป็นต้องมีวัคซีนชนิดใหม่เพื่อรับมือกับสายพันธุ์นี้โดยเฉพาะ?

มาดูกันว่า ผู้ผลิตวัคซีนแต่ละบริษัท พูดถึงสายพันธุ์ #โอไมครอน อย่างไร และมีความคืบหน้าเรื่องการปรับสูตรวัคซีนไปถึงไหนแล้วบ้าง


Pfizer & BioNTech: ต้องพัฒนาใหม่ไหมยังไม่รู้ แต่เริ่มปรับสูตรวัคซีนเพื่อรับมือกับโอไมครอนแล้ว

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (26 พ.ย.) ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค เคยบอกว่า ต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมในการที่จะประเมินว่าจะต้องปรับสูตรวัคซีนที่มีอยู่เดิมเพื่อรับมือกับสายพันธุ์โอไมครอนโดยเฉพาะหรือไม่ ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (29 พ.ย.) บริษัทแถลงว่า ได้เริ่มพัฒนาและปรับแต่งวัคซีนให้รับมือกับโอไมครอนแล้ว แม้ว่าจะยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือไม่

ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคยังระบุอีกว่า บริษัทคาดว่าจะสามารถจัดส่งวัคซีนตัวใหม่ที่ปรับให้เข้าสายพันธุ์ใหม่นี้ได้ภายใน 100 วัน


Moderna: วัคซีนที่มีอยู่อาจไม่มีประสิทธิภาพป้องกันโอไมครอนได้ดีเท่าเดิม

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (30 พ.ย.) สเตฟาน บันเซล ซีอีโอของบริษัทผลิตวัคซีนโมเดอร์นา ให้สัมภาษณ์กับ Financial Times ว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่อาจจะไม่สามารถรับมือกับสายพันธุ์โอไมครอนได้ดีเท่ากับสายพันธุ์เดลตา

“ผมคิดว่าประสิทธิภาพจะลดลง แต่ไม่รู้ว่าจะลดลงมากแค่ไหนเพราะเราต้องรอข้อมูล...”

ก่อนหน้านี้โมเดอร์นาเคยกล่าวในแถลงการณ์ว่า กำลังพัฒนาวัคซีนสำหรับฉีดกระตุ้น หรือ บูสเตอร์ ที่ปรับให้เข้ากับสายพันธุ์ใหม่ นอกจากนี้ยังทำการทดสอบการเพิ่มปริมาณบูสเตอร์เดิมที่มีอยู่ รวมทั้งศึกษาตัวเลือกบูสเตอร์อื่นๆ ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันสายพันธุ์ใหม่ๆ

โมเดอร์นาระบุในแถลงการณ์ว่า "การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นเพียงกลยุทธ์เดียวที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่เสื่อมลง”


Johnson & Johnson: กำลังติดตามอย่างใกล้ชิดและทดสอบวัคซีนเดิมของตัวเอง

จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน กล่าวว่า บริษัทกำลังติดตามสายพันธุ์ใหม่ของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และกำลังทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ในการรับมือกับโอไมครอน โดยระบุในแถลงการณ์ว่า

“ด้วยความร่วมมือกับกลุ่มนักวิชาการในประเทศแอฟริกาใต้และทั่วโลก บริษัทกำลังทำการประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งรวมถึงโอไมครอน สายพันธุ์ใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว”


AstraZeneca: กำลังทดสอบวัคซีนเดิมของตัวเอง และศึกษาข้อมูลในประเทศที่พบเชื้อ

แอสตร้าเซเนกากล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (26 พ.ย.) ว่ากำลังตรวจสอบผลกระทบของสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในแอฟริกาใต้ต่อวัคซีนเดิมที่มีอยู่ และต่อยาแอนติบอดีแบบผสม ยารักษาโรคโควิดที่บริษัทคิดค้นขึ้น โดยหวังว่าทั้งวัคซีนและยารักษารวมกันน่าจะมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรับมือได้

ในแถลงการณ์ระบุว่า บริษัทเพิ่งเริ่มทำการศึกษาในบอตสวานาและเอสวาตินี ซึ่งเป็นสองประเทศที่มีรายงานผู้ป่วยจากสายพันธุ์โอไมครอน


Sinovac: มั่นใจว่าเอาอยู่แน่นอน แต่ตอนนี้ยังเร็วไปที่จะตัดสินใจ

ซิโนแวค ผู้ผลิตวัคซีนของจีน ซึ่งที่ผ่านมาสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้มากที่สุดในโลก มั่นใจว่า หากมีความจำเป็นต้องปรับสูตรวัคซีนเพื่อรับมืกับสายพันธุ์โอไมครอน บริษัทจะสามารถผลิตวัคซีนสูตรใหม่ในปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติแล้วเท่านั้น

“เทคโนโลยีและการผลิตเหมือนกัน และสามารถเตรียมวัคซีนสำหรับการวิจัยได้อย่างรวดเร็วเมื่อเราสามารถเพาะแยกเชื้อไวรัสออกมาได้ การผลิตไม่ใช่ปัญหา” บริษัทกล่าว พร้อมระบุว่า ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าจำเป็นต้องผลิตวัคซีนสูตรใหม่หรือไม่

สำนักข่าว South China Morning Post รายงานว่า "ก่อนหน้านี้บริษัทซิโนแวคเคยพัฒนาวีคซีนแบบเชื้อตายเพื่อต้านสายพันธุ์แกมมาและเดลตา แต่ไม่ได้ปรับสูตรวัคซีนเดิม เพราะพบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันทั้งสองสายพันธุ์อยู่แล้ว"