ตัวอย่างบางส่วนในรัฐธรรมนูญของไทยและเมียนมา
แม้การเมืองของทั้งสองประเทศ เมียนมา-ไทย จะมีประวัติศาสตร์และรูปแบบแตกต่างกันมาก และต่างมีโจทย์ยากในกระบวนการสร้างประชาธิปไตยเป็นของตัวเอง แต่ประชาชนของสองประเทศดูเหมือนกำลังประสบสภาวะเดียวกัน เมื่อทหารมีบทบาทนำทางการเมืองภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตย และมีการใช้เครื่องมือสกัดการเติบโตของรัฐบาลพลเรือนอย่างการรัฐประหาร
สืบทอดอำนาจกองทัพพม่าผ่านรัฐธรรมนูญ
สถานการณ์ไม่กี่วันก่อน กองทัพเมียนมาหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า ‘รัฐประหาร’ หากยึดอำนาจพรรคเอ็นแอลดีโดยอ้างรัฐธรรมนูญ 2551 ที่กองทัพเองมีบทบาทนำในการยกร่าง มีหลายมาตราที่เอื้อต่อการครองอำนาจของกองทัพ และเอื้อต่อการยึดอำนาจเมื่อสถานะนำของกองทัพในการเมืองเริ่มสั่นสะเทือน เช่น
- ร้อยละ 25 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสภากลุ่มชาติพันธุ์มาจากกองทัพ แต่งตั้งโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.)
- ทหารมีส่วนกำหนดและผลักดันนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ รวมถึงปัญหากลุ่มชาติพันธุ์
- สมาชิก 6 คนใน 11 คนของสภาความมั่นคงและป้องกันแห่งชาติต้องเป็นทหารที่ยังไม่เกษียณ
- ผบ.สส.เป็นผู้เสนอชื่อ รมต.กลาโหม รมต.มหาดไทย และ รมต.กิจการชายแดน
- หากมีความแตกแยกหรือเสี่ยงต่อการสูญเสียอธิปไตย กองทัพมีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และเปิดช่องให้โอนอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ไปยัง ผบ.สส.
-ล็อกการแก้รัฐธรรมนูญให้ยากยิ่ง โดยต้องได้เสียงสนับสนุนกว่าร้อยละ 75 ของสภา
ทหารกระชับอำนาจ หลังพลเรือนขยับแตะรัฐธรรมนูญ
พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย ชี้ชวนให้มองว่า เมียนมาเป็น รัฐเสนานุภาพ หรือ a praetorian state ซึ่งต่างจากความเข้าใจเกี่ยวกับเผด็จการทหารแบบที่คนไทยเข้าใจ เพราะสิ่งนี้แนบเนียนกว่า สามารถแทรกแซงการเมืองทั้งระบบเป็นเวลายาวนาน บางช่วงเวลาเป็นผู้ปกครองโดยตรง บางช่วงเวลาอยู่ข้างหลังฉาก ทำตัวเป็น a deep state บ่อนเซาะทำลายเสถียรภาพและประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเมื่อกองทัพเมียนมาสามารถคุมด้านความมั่นคงได้อย่างเบ็ดเสร็จ แล้วยังมีอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างยิ่งอีกด้วย
จุดแตกหักกับรัฐบาลพลเรือนมาถึง เมื่อการเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคเอ็นแอลดีชนะเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง ได้คะแนนเสียงถึงร้อยละ 80 และน่าจะสานต่อความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญจากที่ทำมาหลายครั้งก่อนหน้านี้แต่แพ้โหวตในสภาซึ่งกำหนดว่าต้องได้เสียงร้อยละ 75 ขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นแผนลดสัดส่วนทหารในสภาจากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 15 หลังการเลือกตั้งปี 2563 และทยอยลดลงเรื่อยๆ, ลดสัดส่วนทหารในสภาป้องกันชาติและความมั่นคงของชาติ, ลดอำนาจของกองทัพที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน, ไม่ให้ศาลฎีกาอยู่ใต้ศาลทหาร, แยกกำลังตำรวจให้มาขึ้นตรงกับรัฐบาล, การแก้ไขคุณสมบัติของประธานาธิบดี เป็นต้น
ทหารไทยกับความประณีตในการสืบทอดอำนาจ
ขณะที่กรณีของไทย แม้การรัฐประหารที่เกิดขึ้น 13 ครั้ง (นับเฉพาะที่ประสบความสำเร็จ) จะไม่ได้อ้างรัฐธรรมนูญ แต่คณะรัฐประหารล้วนมีแพตเทิร์นในการ ‘ฉีกแล้วร่างใหม่’ รัฐธรรมนูญอย่างสม่ำเสมอ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการประวัติศาสตร์เคยคำนวณว่า ตลอดชีวิตประชาธิปไตยไทยเกือบ 89 ปี เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบริหารประเทศรวมแล้วไม่ถึง 30 ปี ส่วนที่เหลืออยู่ภายใต้ระบบการแต่งตั้ง/สรรหากันเองของผู้ยึดอำนาจ ส่วนรัฐธรรมนูญที่มีมาแล้ว 20 ฉบับก็ทำคลอดโดยเผด็จการเสีย 15 ฉบับ มีเพียง 5 ฉบับเท่านั้นที่มาจากฝ่ายประชาธิปไตย (ฉบับแรก 2475, ฉบับ 10 ธันวาคม 2475, ฉบับ 2489, ฉบับ 2517, ฉบับ 2540)
รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นนวัตกรรมล่าสุดของคณะทหารไทย หลังการยึดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จในปี 2557 ก็มีการแต่งตั้งคณะกรรมาการยกร่าง เมื่อยกร่างออกมาไม่เป็นที่พอใจก็ใช้สภานิติบัญญัติที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งโหวตคว่ำแล้วยกร่างใหม่ ทั้งยังออกแบบเพิ่มความชอบธรรมโดยให้มีทำประชามติ ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่มีเสรีภาพ มีผู้ถูกดำเนินคดีก่อนถึงวันออกเสียงประชามติอย่างน้อย 195 คน จากการแสดงความเห็นหรือรณรงค์ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่นับรวมคำข่มขู่ประเภทหากไม่รับฉบับนี้ไม่แน่ว่าฉบับหน้าจะเป็นเช่นไร เป็นต้น และแม้จะผ่านประชามติแล้วก็ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมภายหลัง โดย คสช.ใช้อำนาจพิเศษ ม.44 เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังถูกวิจารณ์เรื่องเรียนฟรี 12 ปีเป็น 15 ปีตามเดิม, แก้ให้รัฐอุปถัมภ์พุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นอุปถัมภ์ทุกศาสนาเท่ากัน รวมไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อสังเกตพระราชทาน
เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เคยอธิบายไว้ว่า รัฐธรรมนูญทั่วโลกมีอายุเฉลี่ย 9 ปี แต่ของไทยเพียง 4 ปีกว่า ไม่มีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุด แต่มีสถานะเป็นคู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และในกรณีรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นเนื้อหาไม่เหลือความต่อเนื่องจากพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นฉบับประชาชนแล้ว ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เป็นการเอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาปรับปรุง อีกทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 ยังเป็นฉบับอ่านยากยิ่ง เพราะมีการทำ cross references หรือการอ้างโยงไปมาตราต่างๆ อย่างสลับซับซ้อน
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ชี้ให้เห็นการสืบทอดอำนาจของ คสช.ผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 ในหลายจุด แนบเนียน ซับซ้อนและใช้เครื่องมือที่หลากหลายยิ่ง สะท้อนชัดเป็นรูปธรรมผ่านการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับล้างอำนาจ คสช.ที่เคยรวบรวมรายชื่อประชาชนกว่าแสนชื่อเสนอสภาและถูกปัดตกไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งมีหลักใหญ่ใจความคือ ยกเลิกช่องทางนายกฯ คนนอก แล้วแก้ไขให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส., ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี แผนปฏิรูปประเทศที่คสช.เขียนล็อครัฐบาลทุกชุด, ยกเลิกการนิรโทษกรรม คสช., แก้ไขที่มาของ ส.ว. ให้มาจากการเลือกตั้ง, แก้ไขที่มาองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญพร้อมสรรหาใหม่ยกชุด, แก้ไขวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่าย ใช้แค่เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา และมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับ
ปัจจุบันการแก้ไขรัฐธรรมนูญของไทยกำลังเดินหน้าอย่างเงียบๆ บนหนทางยาวไกลที่พร้อมจะมีจุดหักเลี้ยวได้เสมอ เบื้องต้นยังไม่แน่ว่าสภาจะพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสองแบบรายมาตราได้ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์นี้ตามที่กำหนดกันไว้ หรือต้องผ่านด่านศาลรัฐธรรมนูญก่อนและผลลัพธ์จะออกมาเป็นเช่นไร
สถานการณ์ประชาธิปไตยของสองประเทศที่ดูเหมือนสลับกันก้าวหน้า-ถอยหลัง แต่โดยรวมแล้วก็ไม่ได้สดใสไปกว่ากันนัก อีกทั้งประเด็นความเป็นไปได้ในการปราบปราบประชาชนชนผู้ต่อต้านก็ยังเป็นปัญหาที่น่ากังวลด้วยเช่นเดียวกัน
ที่มา :