ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.ศรีสะเกษ จี้รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้โรงงานไปผลักดันในพื้นที่เหมาะสม

ที่ศาลาวัดบ้านตาจวน ตำบลสำโรงพลัน อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ นายธงชัย เจริญพานิชย์กุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอย่าง ลงพื้นที่รับฟังข้อเสนอและทางเลือกต่อกรณีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล จากกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษโดยมีชาวบ้านกว่า 500 คนร่วมรับฟังและนำเสนอให้รองผู้ว่าฯ ร่วมกันผลักดันโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลไปอยู่ในพื้นที่เหมาะสม

นายเอกลักษณ์ โพธิสาร อายุ 36 ปี กรรมการกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า หลังจากที่ตัวแทนกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษให้ลงพื้นที่จริง เพื่อรับฟังข้อเสนอและทางเลือกต่อกรณีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลตามข้อเรียกร้องของกลุ่ม วันนี้ทางผู้ว่าราชการศรีสะเกษ ได้มอบหมายให้รองผู้ว่าฯ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาลงพื้นที่ ทางกลุ่มได้เตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอบนพื้นที่ฐานความเป็นจริง ว่าทำไมชาวบ้านถึงไม่เอาโรงงานดังกล่าว

เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ไม่มีวัตถุดิบหลักคืออ้อย ที่ต้องใช้หลักในการป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิต เพราะว่าพื้นที่บ้านเรามีวิถีชีวิตทำนาเป็นหลัก ทำเกษตรอินทรีย์ ทำเกษตรผสมผสาน และโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลก็อยู่ติดกับชุมชน บ้าน วัด โรงเรียน เราก็พยามบอกให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้รับรู้มาตลอด ดังนั้นการพูดคุยวันนี้ราจึงอยากรู้ทั้งความคืบหน้าหลังจากที่เราเรียกร้องในประเด็นที่ว่าพื้นที่เราไม่เหมาะสมเราจะมาช่วยกันผลักดันให้โรงงานไปอยู่ในพื้นที่เหมาะสมจริงที่มีอ้อยเป็นหลักได้ไหม อย่านำนโยบายมายัดเยียดให้กับคนในพื้นที่เลย

ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก อายุ 40 ปี ผู้ประสานงานคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (คปน.ภาคอีสาน) กล่าวว่า เราได้ระดมข้อเสนอและทางเลือกต่อกรณี โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลขนาด 40 เมกะวัตต์ ให้บริษัทไปดำเนินการจัดตั้งโรงงานในพื้นที่ซึ่งมีวัตถุดิบอ้อย เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มกำไรให้ชาวไร่อ้อย ในวันนี้เราก็พยายามเสนอให้ทางรองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันผลักดันโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลไปดำเนินแผนงานในพื้นที่เหมาะสมที่มีวัตถุดิบอ้อยจริง ๆ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ทางกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษมองว่าไม่เหมาะสม 

โดยเฉพาะประเด็นตั้งแต่การกำหนดพื้นที่ที่จะมีแผนผลักดันโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เพราะว่าจากตัวเลขการปลูกอ้อยในพื้นที่อำเภอไพรบึง 0 ไร่ อำเภอขุนหาญ 182 ไร่ อำเภอขุขันธ์ 661 ไร่ ฉะนั้นตัวเลขสะท้อนให้เห็นชัดแล้วว่าปริมาณอ้อยมีอยู่อย่างจำกัดด้วยเงื่อนไขหลายเรื่องทั้งการลงทุน พื้นที่ไม่เหมาะสมแต่ทำไมถึงมีความพยายามผลักดันโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลให้เกิดขึ้นในเขตพื้นที่อำเภอไพรบึงและอำเภอขุนหาญ ที่ขัดแย้งกับบริบทพื้นที่อย่างสิ้นเชิง

เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ดำเนินวิถีชีวิตในการปลูกข้าวหอมมะลิ ซึ่งทางกลุ่มยังยืนยันถึงข้อเสนอที่ได้ศึกษาและนำเสนอในวันนี้คือ 1.ให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันยุติโครงการงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่จุดนี้และให้ไปดำเนินโรงงานในพื้นที่เหมาะสมที่มีวัตถุดิบอ้อยจริง ๆ 2.ให้จังหวัดดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและประเมินยุทธศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อมของพื้นที่

ด้านรองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่าให้ทางกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดฯ รวมประเด็นที่นำเสนอในวันนี้แล้วยื่นหนังสืออีกครั้ง เพื่อหาจุดที่เหมาะสมในการดำเนินการจัดตั้งโรงงานที่ชาวบ้านไปชี้จุดว่าไม่เหมาะสมในพื้นที่