ข้อมูลที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กในวันนี้ (20 ม.ค. 2562) ระบุว่า ผู้สั่งจ่ายเช็คและผู้รับเช็คจะต้องตรวจสอบสิ่งสำคัญ 4 ประการ ได้แก่
1. วันที่สั่งจ่าย เนื่องจากเช็คมีอายุไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่สั่งจ่ายบนหน้าเช็ค
2. ชื่อผู้รับเงิน เขียนถูกต้องตรงกับผู้รับเช็คหรือไม่
3. จำนวนเงินที่เป็นตัวเลขและตัวหนังสือต้องตรงกัน
4. ลายมือชื่อ หรือลายเซ็นผู้สั่งจ่าย ต้องปรากฏบนหน้าเช็ค
สิ่งที่ 'ผู้สั่งจ่ายเช็ค' ต้องรู้ ก็คือ ควรใช้ปากกาหมึกสีดำหรือน้ำเงิน กรอกตัวเลขให้ชิดกับสัญลักษณ์ ฿ และต้องหลีกเลี่ยงการแก้ไขข้อมูลบนหน้าเช็ค เพื่อป้องกันการทุจริตการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพิ่มเติม และเช็คที่มีการแก้ไขข้อความ จะสร้างความยุ่งยากแก่ผู้ได้รับเช็ค เพราะต้องใช้เวลาตรวจสอบนานกว่าจะขึ้นเงินได้ และผู้สั่งจ่ายอาจต้องออกเช็คฉบับใหม่ให้ ทั้งยังเป็นการเปิดช่องให้ผู้ไม่หวังดีกระทำการทุจริตจากการใช้เช็คได้ โดยการสวมรอยเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพิ่มเติม
ในกรณีของ 'ผู้รับเช็ค' ต้องสังเกตว่าเช็คที่ได้รับมามีการแก้ไขข้อมูลบนหน้าเช็คหรือไม่ ถ้ามีการแก้ไข และผู้รับเช็คมีบัญชีธนาคารผู้ออกเช็ค ให้นำฝากเช็คเข้าบัญชีนั้นได้เลย หากไม่มีบัญชีธนาคารผู้ออกเช็ค ให้ติดต่อผู้สั่งจ่ายเพื่อเปลี่ยนช่องทางการชำระเงิน หรือเปลี่ยนเช็คใหม่ หรือเปิดบัญชีเพื่อนำฝากเช็ค
ถ้าทำเช็คหาย ให้รีบดำเนินการแจ้งผู้ให้สั่งจ่ายทราบเพื่อทำการระงับการจ่ายเงิน และแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวัน