ไม่พบผลการค้นหา
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า เขารู้สึก "ผิดหวัง" ที่ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน วางแผนที่จะไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอด G20 ที่กำลังจะมีขึ้นในอินเดีย ทั้งนี้ สำนักข่าว Reuters รายงานถึงการคาดการณ์ว่า หลี่เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน อาจเป็นตัวแทนของรัฐบาลจีน ที่จะเข้าการประชุมสุดยอดในกรุงนิวเดลีช่วงสัปดาห์นี้แทน

“ผมผิดหวัง… แต่ผมจะต้องได้พบกับเขา” ไบเดนกล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงสี เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (3 ก.ย.) อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้ระบุว่า การประชุมของเขากับประธานาธิบดีจีนจะเกิดขึ้นเมื่อใด ทั้งนี้ ทั้งสองผู้นำได้พบปะหารือกันล่าสุด เมื่อการประชุม G20 ในอินโดนีเซียในปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้ สีเคยกล่าวไว้ว่าเขาจะเดินทางไปยังกรุงนิวเดลีของอินเดีย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G20 แต่ในช่วงการแถลงข่าวของกระทรวงการต่างประเทศจีน เมื่อช่วงวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (31 ส.ค.) กระทรวงการต่างประเทศจีนยังคงไม่มีการแถลงยืนยัน ถึงกำหนดการเข้าร่วมกาประชุมสุดยอด G20 ของประธานาธิบดีจีนแต่อย่างใด


นอกจากนี้ รายงานข่าวที่อ้างอิงแหล่งข่าวซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ และมีความเกี่ยวข้องกับการเตรียมการประชุมประจำปีระบุว่า ประธานาธิบดีจีนไม่มีแผนที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G20 ในปีนี้แต่อย่างใด


การไม่มีกำหนดการเดินทางไปร่วมการประชุมสุดยอด G20 ของสี เกิดขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ถดถอยระหว่างจีนและอินเดีย ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งสองประเทศกำลังเผชิญหน้ากันตามแนวชายแดน ที่มีข้อพิพาทในภูมิภาคหิมาลัย นอกจากนี้ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว อินเดียได้ประท้วงจีน หลังจากรัฐบาลจีนเผยแพร่แผนที่ ที่อ้างว่ารัฐอรุณาจัลประเทศและที่ราบสูงอักไซชิน ซึ่งมีข้อพิพาทกับอินเดียเป็นดินแดนของจีน


อย่างไรก็ดี สีและไบเดนยังอาจมีโอกาสที่จะได้พูดคุยกันในเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้ ในการประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ในนครซานฟรานซิสโก ของสหรัฐฯ


การถอนตัวไม่ร่วมการประชุมสุดยอด G20 ของสี ยังเกิดขึ้นในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงถดถอยอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อประมาณ 2 เดือนหลังจากที่ประธานาธิบดีทั้งสองพบกันที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย ในเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ทางการสหรัฐฯ ได้ออกมาอ้างการพบบอลลูนสอดแนมของจีน ที่ลอยอยู่เหนือน่านฟ้าของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำลายความหวัง ในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทวิภาคีของจีนกับสหรัฐฯ


ทั้งนี้ จีนและสหรัฐฯ ต่างมีความไม่เห็นด้วยในประเด็นต่างๆ รวมถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในซินเจียงและฮ่องกง การอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนต่อไต้หวันและทะเลจีนใต้ และการครอบงำด้านอุตสาหกรรมต่างๆ มากมายของรัฐบาลจีน อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ มีความพยายามที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์กับจีน ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ จำนวนหนึ่ง ให้เดินทางไปยังจีนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึง แอนโทนี บลิงเคนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และจอห์น เคอร์รี ทูตพิเศษสหรัฐฯ ด้านสภาพภูมิอากาศ


ในทางตรงกันข้าม สีพยายามสร้างภาพให้จีนเป็นผู้นำของประเทศกำลังพัฒนา และรณรงค์การสนับสนุนทางเลือกอื่น นอกเหนือจากระเบียบโลกที่นำโดยสหรัฐฯ ทั้งนี้ ในการเดินทางเยือนแอฟริกาใต้เมื่อเดือนที่แล้วเพื่อพบปะกับผู้นำของกลุ่มประเทศ BRICS ประธานาธิบดีจีนได้วิพากษ์วิจารณ์ "อำนาจนำ" ของชาติตะวันตก และเรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนา "ปลดแอกออกจากลัทธิล่าอาณานิคม" ในการกล่าวสุนทรพจน์ของเขา


ทั้งนี้ กลุ่ม BRICS เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 5 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ อย่างไรก็ดี มีกลุ่มประเทศใหม่อีก 6 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา อียิปต์ อิหร่าน เอธิโอเปีย ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีกำหนดการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ในเดือน ม.ค.นี้ ซึ่งถูกมองว่าเป็นชัยชนะทางการทูตอย่างเป็นวงกว้างของจีน เหนือสหรัฐฯ และชาติตะวันตก


ที่มา:


https://www.bbc.com/news/world-asia-china-66704059?fbclid=IwAR2M9Wz-bjn-aqPWUuFxGmm5WQXeEvl9KP2Z7x3UP7iqpoMEn7vWLPeTM-A


#VoiceOnline