ไม่พบผลการค้นหา
ปัญหา 'โกงเลือกตั้ง' เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกที่ลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนราษฎร ไม่เว้นแม้แต่สหรัฐฯ หนึ่งในต้นแบบประชาธิปไตย แต่สื่อต่างชาติและองค์กรสังเกตการณ์ฯ แนะวิธีจับสัญญาณโกงเลือกตั้ง เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบและลงโทษผู้กระทำผิด

เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นในมลรัฐนอร์ทแคโรไลน่าของสหรัฐอเมริกา จับกุมและตั้งข้อหาผู้เกี่ยวข้องในขบวนการปลอมแปลงบัตรลงคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์ ทุจริตการเลือกตั้งกลางเทอม ซึ่งจัดขึ้นทั่วสหรัฐฯ เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว

ผู้ถูกตั้งข้อหาคือ นายเลสลีย์ แม็คเคร ดาวเลส ผู้จัดการโครงการหาเสียงของ 'มาร์ค แฮร์ริส' ผู้สมัครชิงตำแหน่ง ส.ส. สังกัดพรรครีพับลิกัน ซึ่งตอนแรกมีคะแนนนำ 'แดน แม็คเครดดี' ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต แต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตเรื่องคะแนนที่ได้จากบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ พบว่ามีความผิดปกติด้านตัวเลข

นายแม็คเครดดีร้องเรียนให้คณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์จาก 2 พื้นที่ในเขต 9 ของมลรัฐนอร์ทแคโรไลนา มีการลงคะแนนให้นายแฮร์ริสมากกว่าเขตอื่นๆ ผลการตรวจสอบข้อมูลพบว่า มีการปลอมแปลงลายเซ็นของผู้มีสิทธิลงคะแนน เพื่อแอบอ้างลงคะแนนให้แก่นายแฮริส ทำให้นายแฮริสมีคะแนนเสียงมากกว่านายแม็คเครดดี 905 คะแนน แต่หลังจากตรวจสอบได้ว่าคะแนนบางส่วนของนายแฮริสเกิดจากการปลอมแปลง ทางการสหรัฐฯ ก็ประกาศให้จัดเลือกตั้งซ่อมในเขตดังกล่าว

การทุจริตเลือกตั้งในสหรัฐฯ ครั้งนี้ ถูกกล่าวถึงในฐานะการโกงที่ใช้วิธีแบบ 'ดั้งเดิม' คือ การจ้างคนไปตามเก็บบัตรลงคะแนนทางไปรษณีย์ที่ส่งไปตามบ้านของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งคนจำนวนมากไม่สนใจลงคะแนน ทำให้นายเลสลีย์ แม็คเคร ดาวเลส ผู้จัดการโครงการหาเสียงของนายมาร์ค แฮริส พรรครีพับลิกัน ว่าจ้างให้คนไปลักลอบเก็บบัตรที่ไม่มีใครลงคะแนนมาปลอมแปลงลายเซ็นพยาน และกาบัตรเพิ่มคะแนนเสียงให้แก่นายแฮริส ก่อนจะส่งกลับไปยังสำนักงานกรรมการเลือกตั้ง โดยผู้สมรู้ร่วมคิดที่ถูกว่าจ้าง 2 ราย ให้การสารภาพในชั้นศาลแต่โดยดี


จับสัญญาณ 'โกงเลือกตั้ง' ดูได้จากอะไรบ้าง?

กรณีที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ บ่งชี้ว่ากระบวนการทุจริตเลือกตั้งถูกดำเนินการอย่างเป็นระบบ และประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็ต้องเผชิญกับการทุจริตในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยไม่ต่างกัน และวิธีการที่นักการเมืองหรือนักล็อบบีพยายามต่อสู้ให้ได้ชัยชนะ อาจไม่ใช่วิธีการซับซ้อนแบบที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นกับแฮกเกอร์ต่างชาติที่การแทรกแซงด้านข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2559 แต่รวมไปถึงการใช้วิธี 'แบบดั้งเดิม' โกงการเลือกตั้ง

ประชามติไอร์แลนด์-ทำแท้ง-แก้ กม.-หีบลงคะแนน

ก่อนหน้านี้มีการรายงานกรณี 'โกงเลือกตั้งครั้งใหญ่' ในประเทศกาบอง และสำนักข่าวบีบีซีได้เผยแพร่บทความของ 'เอลิซาเบธ บลันต์' ผู้สื่อข่าวบีบีซี ซึ่งทำหน้าที่ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งในหลายประเทศแถบแอฟริกาด้วย บลันต์แนะนำให้ประชาชนทั่วโลกจับสัญญาณผิดปกติ 6 ประการที่มักพบเห็นเมื่อมีการทุจริตเลือกตั้ง ดังนี้

  • จำนวนผู้มาใช้สิทธิสูงเกือบ 100%

แม้แต่ประเทศที่การเลือกตั้งถือเป็นหน้าที่ ใครไม่ไปใช้สิทธิถือว่าผิดกฎหมาย ก็ยังไม่เคยมีการเลือกตั้งครั้งไหนที่มีผู้มาใช้สิทธิครบ 100 เปอร์เซ็นต์ การที่รัฐบาลหรือผู้จัดการเลือกตั้งประกาศว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิมากถึงหลัก 98-99 เปอร์เซ็นต์ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีการโกงเลือกตั้งหรือตกแต่งตัวเลขเกิดขึ้น โดยบลันต์ยกตัวอย่างการเลือกตั้งที่ประเทศกาบองเมื่อปี 2559 ซึ่งผู้นำรัฐบาลเผด็จการที่อยู่ในอำนาจมานานหลายปีของกาบองระบุว่า ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งถึง 99.93 เปอร์เซ็นต์ เพื่อยืนยันว่ารัฐบาลของตนได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนเกือบทั้งหมด

จากการสังเกตการณ์ของบลันต์ พบว่า ไม่มีทางที่ผู้ใช้สิทธิจะมาลงคะแนนได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะในวันเลือกตั้งจะมีผู้ที่ต้องเดินทางไปนอกภูมิลำเนา ผู้ป่วย หรือผู้เสียชีวิต แม้แต่ประเทศออสเตรเลียซึ่งการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของพลเมือง ใครที่ไม่ไปใช้สิทธิถือว่ามีความผิด ก็ยังมีผู้ไปลงคะแนนมากที่สุดประมาณ 90-95 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดเท่านั้น

  • ผู้ใช้สิทธิบางเขต 'ทิ้งห่าง' เขตอื่นๆ 

แม้ว่าประชากรที่อาศัยในบางเขตจะมีความกระตือรือร้นออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่สถิติผู้มาใช้สิทธิบางเขตที่ทิ้งห่างกันถึง 10-20 เปอร์เซ็นต์เทียบกับเขตอื่นๆ ในละแวกใกล้เคียง เป็นสัญญาณ 'ผิดปกติ' ที่ควรติดตามตรวจสอบ เพราะจากประสบการณ์ของบลันต์ พบว่า การตรวจสอบคะแนนเลือกตั้งในเขตที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิมากกว่าเขตอื่น มักลงเอยด้วยการพบกลโกงเลือกตั้ง และกลุ่มการเมืองหรือนักการเมืองที่มีอิทธิพลในท้องถิ่นมักจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการโกงคะแนนเสียงประเภทนี้

  • 'บัตรเสีย' มากผิดปกติ

บลันต์ระบุว่า การทำให้บัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้ฝ่ายตรงข้ามของผู้ที่อยากเอาชนะการเลือกตั้งกลายเป็น 'บัตรเสีย' เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดในการเพิ่มหรือลดคะแนนให้กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่กำลังต่อสู้กันในเกมเลือกตั้ง และ การเลือกตั้งใดที่มีบัตรเสียสูงกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของบัตรทั้งหมด มีแนวโน้มว่าจะเป็นเรื่อง 'ผิดปกติ' เพราะหากการเลือกตั้งโปร่งใสและเป็นธรรม แม้แต่ในประเทศที่ประชากรเฉลี่ยไม่ได้มีการศึกษาในระดับสูง ก็ยังไม่เคยมีจำนวนบัตรเสียสูงกว่า 5 เปอร์เซ็นต์มาก่อน

หีบเลือกตั้ง.jpg
  • ผู้ใช้สิทธิ-จำนวนบัตรเลือกตั้ง 'ไม่ตรงกัน'

ตามปกติแล้ว เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งจะต้องนับจำนวนบัตรที่ได้รับมาทั้งหมดก่อนจะเปิดคูหาให้ประชาชนลงคะแนน และเมื่อถึงเวลาปิดคูหา ก็จะต้องนับจำนวนบัตรที่ยังเหลืออยู่ รวมกับบัตรที่ถูกฉีกหรือบัตรที่ชำรุดเสียหายด้วยเหตุอื่นๆ เพื่อคำนวณบัตรที่อยู่ในหีบเลือกตั้ง ซึ่งจำนวนดังกล่าวเมื่อรวมกันแล้วจะต้องเท่ากับรายชื่อของผู้มาใช้สิทธิที่มายืนยันตัวตนและลงคะแนนในคูหานั้นๆ 

เมื่อหีบเลือกตั้งถูกส่งไปยังจุดนับคะแนน สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการนับจำนวนบัตรในหีบว่าตรงกับตัวเลขผู้มาใช้สิทธิที่บันทึกไว้ที่คูหาเลือกตั้งหรือไม่ ถ้าหากตัวเลขไม่ตรงกัน ก็แสดงว่ามี 'เรื่องผิดปกติ' เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะพบปัญหาบัตรเกินจำนวนผู้ใช้สิทธิ อันเกิดจากวิธี 'ยัดบัตรเสริม' (stuffing)

  • ผลนับคะแนนรวม 'คลาดเคลื่อน' จากหน่วยเลือกตั้ง

เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งในโทโกเคยบอกกับบลันต์ว่า การเลือกตั้งในอดีตเคยมีปัญหาเจ้าหน้าที่นับคะแนน ณ คูหาเลือกตั้งเสร็จสิ้น และลงนามยืนยันคะแนนไปแล้ว แต่เมื่อบัตรเลือกตั้งและเอกสารทั้งหมดถูกส่งไปยังสำนักงานกลางของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลับพบว่าตัวเลขที่พวกเขานับได้กับตัวเลขที่ กกต.ประกาศสู่สาธารณะ 'ไม่ตรงกัน' ซึ่งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศบางรายเสริมว่าพวกเขาก็เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้ 

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีสมาร์ตโฟนที่สามารถถ่ายภาพได้ ช่วยให้การตรวจสอบข้อมูลการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งกับคะแนนที่ กกต.ส่วนกลางประกาศ เป็นไปอย่างแม่นยำมากขึ้น เพราะหากถ่ายภาพเก็บไว้ ก็สามารถนำไปเป็นหลักฐานในการตรวจคะแนนกับหน่วยงานส่วนกลางได้ว่าตรงกันหรือไม่ และบลันต์ย้ำว่า การประกาศผลเลือกตั้งจะมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นหากเจ้าหน้าที่เปิดเผยผลนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งให้สาธารณชนได้รับรู้โดยทั่วกัน

  • การประกาศผลนับคะแนน 'ล่าช้า'

ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งระบุว่า หลายประเทศแถบแอฟริกามีปัญหาทุจริตการเลือกตั้ง และสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ว่าการเลือกตั้งอาจถูกโกงหรือถูกแทรกแซง ก็คือ การประกาศผลคะแนนเลือกตั้งล่าช้า เนื่องจากช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระบวนการสังเกตการณ์การเลือกตั้งได้รับการส่งเสริมและถูกยกให้เป็นดัชนีชี้วัดความโปร่งใสและเสรีของการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ทำให้พรรคการเมืองท้องถิ่นและองค์กรระหว่างประเทศส่งคนไปร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งในหลายพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูลขั้นต้นเกี่ยวกับผลคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้สมัครจากพรรคต่างๆ รวมถึงองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้ง รวบรวมตัวเลขหรือผลคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งเอาไว้แล้ว ก็ย่อมจะนำข้อมูลดังกล่าวไปประเมินจำนวนที่นั่งในสภาและคำนวณหาผู้ชนะเลือกตั้ง แต่ในกรณีที่มีการวางแผนแทรกแซงหรือโกงการเลือกตั้งเกิดขึ้น การประกาศผลนับคะแนนโดยรวมมักจะใช้เวลานานกว่าปกติ แม้บางครั้งความล่าช้าอาจเกิดจากกระบวนการขนส่งบัตรเลือกตั้งหรือข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยีที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินการนับคะแนน ซึ่งเป็นประเด็นที่พบเห็นได้ในประเทศแอฟริกา ขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้สูงว่านี่คือการ 'ถ่วงเวลา' ประกาศผลเลือกตั้ง ซึ่งอาจเกี่ยวพันกับความพยายามโกงคะแนน