วันที่ 19 ก.ค. เวลา 9.30 น. ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 วาระพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
สุทิน คลังแสง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้รัฐสภาลงมติเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และมีสมาชิกเป็นผู้รับรองไม่น้อยกว่า 50 คน
จากนั้น อัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ลุกประท้วงว่า การเสนอชื่อ พิธา อาจขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 หากมีการเสนอญัตติใด การจะเสนอญัตติที่มีหลักการเดียวกัน หรือลงมติไปแล้ว ขึ้นมาซ้ำอีกนะทำไม่ได้ โดยในวันที่ 13 ก.ค. พิธา ได้รับเสียงเห็นชอบไม่เกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา จึงถือว่าเป็นญัตติที่ได้ลงมติไปแล้ว ไม่สามารถเสนอซ้ำอีกได้ อัครเดช ย้ำว่า ข้อบังคับการประชุมมีศักดิ์เทียบเท่า พ.ร.บ. จึงต้องปฏิบัติตาม
ขณะที่ สมชาย แสวงการ ส.ว. เสนอให้ประธานรัฐสภาเดินหน้าตามข้อตกลงของที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เมื่อวาน (18 ก.ค.) ที่มีความเห็นแล้วว่า การเสนอญัตติซ้ำทำไม่ได้ เพื่อให้การถกเถียงจบลง ทำให้ รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แย้งว่า ตนอยู่ในที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ขณะนี้เป็นระเบียบวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ขณะนี้สมาชิกกำลังอภิปรายแสดงความเห็นนอกระเบียบวาระ ที่ไม่เกี่ยวข้อง
ตามด้วย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยืนยันว่า ข้อบังคับการประชุมไม่ใหญ่ไปกว่ารัฐธรรมนูญ และการเสนอชื่อ พิธา ไม่ถือเป็นญัตติ แต่เป็นการให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ หากยังตีความว่าเป็นญัตติ จะส่งผลกระทบต่อรัฐธรรมนูญ
"แล้วผมจะอภิปรายให้ฟังว่า การตีความว่าเป็นญัตติจะทำให้รัฐธรรมนูญได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างไร และขอให้บันทึกไว้ด้วยว่า ผู้ที่เสนอให้ตีความเช่นนั้นต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" วิโรจน์ กล่าว
ด้าน จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ชี้ว่า ในรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ไม่ได้มีคำว่าญัตติแต่อย่างใด เพียงแต่มีกระบวนการเสนอชื่อเสมือนกับญัตติ แต่ไม่ใช่ญัตติ ขณะที่มีความเห็นแยกเป็น 2 ฝ่าย จึงเสนอให้มีการลงมติ หากมีเสียงเห็นชอบเกินกว่ากึ่งหนึ่งของที่ประชุม ก็เท่ากับเห็นชอบว่าข้อบังคับที่ 41 มีผลแล้ว การเสนอชื่อ พิธา ก็เป็นอันตกไป
โดยก่อนหน้านี้ ประธานรัฐสภา ได้จัดสรรเวลาให้แต่ละฝ่ายอภิปรายแสดงความเห็นของตนเอง ทั้งหมดเวลา 2 ชั่วโมง ฝ่าย 8 พรรคร่วมรัฐบาล ฝ่าย 10 พรรค และฝ่ายวุฒิสภา ได้เวลา 40 นาทีเท่ากัน