ไม่พบผลการค้นหา
FIDH ออกแถลงการณ์ ชี้รัฐบาลไทยไม่ตอบสนองความกังวลของ UN เรื่องทบทวนสถานการณ์สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

สหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (International Federation for Human Rights - FIDH) และองค์กรสมาชิกสององค์กรในประเทศไทย คือ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ร่วมกันแถลงเมื่อ 27 เม.ย.ว่า ประเทศไทยมิได้ตอบสนองต่อข้อกังวลเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในประเด็นสำคัญๆ ที่หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN) ได้เคยหยิบยกขึ้นมาแนะนำให้ปรับปรุง

FIDH สสส. และ iLaw ได้ยื่น 'รายงานเงา' หรือรายงานคู่ขนานติดตามผล ฉบับที่ 2 ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งได้ให้รายละเอียดถึงความล้มเหลวของรัฐบาลไทยในการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ เมื่อเดือน มี.ค.2560 ที่มีประเด็นสำคัญลำดับต้นๆ ดังนี้คือ 1) รัฐธรรมนูญและกรอบทางกฎหมายของประเทศ 2) การวิสามัญฆาตกรรม การทำให้บุคคลสูญหาย และการทรมาน และ 3) สภาพการคุมขัง  

FIDH สสส. และ iLaw ได้เคยเผยแพร่รายงานคู่ขนานฉบับที่ 1 ไปแล้ว เมื่อเดือน ส.ค. 2561 ว่า

"รัฐบาลไทยได้แสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่า ไม่เต็มใจหรือไม่สามารถที่จะสนองตอบข้อกังวลของประชาคมนานาชาติในเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ องค์การสหประชาชาติควรจะเน้นย้ำถึงความล้มเหลวของรัฐบาลไทยที่ยังมีอยู่ต่อไปในการปกป้องส่งเสริมสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และเสนอแนะเพื่อให้มีการปรับปรุงต่อไป" กิสซู จาฮานกิรี รองประธาน FIDH กล่าว

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะทบทวนรายงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยอีกครั้งในการประชุมสมัยที่ 129 ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. ถึง 24 ก.ค. 2563 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

สำหรับกรอบกฎหมายของไทย เมื่อได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญไปเมื่อเดือน เม.ย.2560 มีบทบัญญัติที่ยอมให้ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ออกมากดขี่ปราบปรามประชาชน ยังดำรงอยู่ต่อไปจนกว่าจะยุบคณะผู้ปกครองที่เป็นทหารดังกล่าวในเดือน ก.ค. 2562  ยิ่งไปกว่านั้นยังมีประกาศและคำสั่งที่กดขี่ปราบปรามอีกหลายฉบับที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่เป็นปัญหา ยังมีอีกมากมายที่ขัดแย้งอย่างร้ายแรงกับหลักการประชาธิปไตย และค้ำจุนให้กองทัพยังคงยึดกุมอำนาจได้ต่อไปอีกหลายปี:

"มรดกตกทอดในการใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามประชาชนของคณะผู้ปกครองทหารยังคงดำรงอยู่ แม้จะมีการยุบเลิกคณะผู้ปกครองนั้นไปแล้วอย่างเป็นทางการ องค์การสหประชาชาติควรส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลไทยว่า จำเป็นต้องมีปฏิบัติการที่เร่งด่วนและบรรลุผลได้อย่างจริงจังเพื่อฟื้นฟูนิติธรรม การเคารพสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พร้อมกับส่งเสริมหลักการประชาธิปไตย" จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการบริหารของ iLaw กล่าว

นับเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลไทยที่ยังไม่สามารถนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เกี่ยวกับปัญหาการทรมาน การวิสามัญฆาตกรรม และการทำให้บุคคลสูญหายไปปฎิบัติ มีรายงานว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะเช่นนี้ยังคงดำรงอยู่ เช่นเดียวกับมีรายงานถึงการไม่ลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยปล่อยให้เจ้าหน้าที่พ้นผิดลอยนวลจากเรื่องดังกล่าว เนื่องจากไม่มีการสอบสวนดำเนินคดีกรณีเหล่านี้อย่างจริงจัง ซึ่งขัดแย้งกับพันธกรณีที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

เกี่ยวกับสภาพการคุมขัง ประเทศไทยไม่สามารถกำหนดขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมเพื่อลดสภาพที่แออัดเกินไปของเรือนจำต่างๆ และที่ประกันว่าผู้ต้องขังจะได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมและมีศักดิ์ศรี หรือปรับปรุงให้สภาพการคุมขังในเรือนจำทุกแห่งของไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากล ตามที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้เสนอแนะ

"ประชากรในเรือนจำของไทยได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่องค์การสหประชาชาติได้ทบทวนสถานการณ์ในครั้งก่อนเมื่อเดือนมีนาคม 2560 เป็นต้นมา ความแออัดมากเกินไปและสภาวะที่ต่ำกว่ามาตรฐานย่อมหมายถีงว่าเรือนจำของไทยเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมจะระเบิดได้ทุกเวลา รัฐบาลไทยต้องปฏิรูปนโยบายอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหารากเหง้าของภาวะวิกฤตการณ์นี้โดยเฉพาะในสสถานการณ์ที่โรคโควิด 19 กำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในขณะนี้" กวิน ชุติมา รองประธานของสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าว

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มีบทบาทในการติดตามให้รัฐภาคีปฏิบัติตามพันธะผูกพันทางกฎหมายภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของกติกาฉบับนี้ คณะกรรมการได้ดำเนินการทบทวนรายงานระยะที่สองของประเทศไทย ไปแล้วเมื่อวันที่ 13-14 มี.ค. 2560

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: