ราคาทองคำรูปพรรณไทยขายออกที่บาทละ 22,050 บาท เมื่อ 31 ธ.ค. 2562 ในสภาวะที่ทั่วโลกยังไม่ตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
เพียง 8 เดือนให้หลัง ท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 20 ล้านคน ราคาทองคำรูปพรรณไทยทะลุขึ้นไปขายที่บาทละ 30,000 บาท ขณะที่ราคาทองคำโลกทะยานเลย 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ออนซ์ หรือ 6.2 หมื่นบาทต่อบาททองคำ ในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำสถิติราคาสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ด้วยกันทั้งคู่ แม้ในเวลาไม่กี่วันต่อมา ราคาทองคำทั้งไทยและต่างประเทศจะลดฮวบอย่างมีนัยสำคัญ หลังรัสเซียออกมาประกาศข่าวเรื่องสามารถผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 สำเร็จ
นักลงทุนทั่วโลกมองทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อย ความผันผวนต่ำ และมูลค่าก็ดูจะมีแต่เพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป จนได้รับฉายาว่าเป็น 'สินทรัพย์ปลอดภัย' (safe haven) เช่นเดียวกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ, สกุลเงินเยนญี่ปุ่นหรือฟรังก์สวิส ไปจนถึงตราสารหนี้ของจีน
โดยนิยาม 'สินทรัพย์ปลอดภัย' ตามคำอธิบายของ จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ คือ สินทรัพย์ที่ราคาไม่ตกลงหรือเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤต หมายความว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ นอกจากการถือเงินสด นักลงทุนจะเลือกนำเงินกลับเข้ามาลงทุนในสิ่งเหล่านี้แทน
หลักการข้างต้นเป็นเหตุผลสำคัญที่ตอบคำถามว่าเหตุใดราคาทองคำจึงเพิ่มสูงขึ้นทุกครั้งที่มีวิกฤต เพราะเมื่อประชาชนรู้สึกกังวลใจและไม่สามารถแบกรับความเสี่ยงที่มีในตลาดทุนทั้งฝั่งตราสารหนี้และตลาดหุ้น เนื่องจากไม่แน่ใจว่าบริษัทที่ตนเองลงทุนไป จะสามารถพลิกฟื้นขึ้นมาได้มากน้อยแค่ไหน ยิ่งเมื่อดูจากสัดส่วนหุ้นที่ตกลงทุกครั้งที่เกิดวิกฤตขึ้น ผู้คนจึงวิ่งเข้าหาทองแทนเป็นผลให้มีราคาสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด
หากย้อนกลับไปดูสัดส่วนราคาทองคำเทียบกับดัชนีเอสแอนด์พี 500 หรือดัชนีของ 500 บริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เทียบกับราคาทองคำ จะพบว่า ในวิกฤตกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในช่วงปี 2519-2521 ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ติดลบไป 19.4% ขณะที่ราคาทองพุ่งขึ้นไปถึง 53.8% เช่นเดียวกับช่วงวิกฤตการเงินโลกระหว่างปี 2550-2552 ที่ราคาหุ้นตกไปกว่า 56.8% แต่ทองกลับขึ้นถึง 25.5%
เทรนด์ดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนผ่านวิกฤตโรคระบาดที่ส่งผ่านมาเป็นวิกฤตเศรษฐกิจของโลกครั้งนี้ เมื่อดัชนีเอสแอนด์พี 500 นับย้อนหลัง 6 เดือน จากวันที่ 16 ส.ค. 2563 ติดลบในระดับ 0.22% ขณะที่ราคาทองคำโลกในช่วงเวลาเดียวกันบวกขึ้น 22.87%
สำหรับทิศทางราคาทองคำในปัจจุบัน เอ็ดมัน มอย ผู้อำนวยการโรงงานกษาปณ์ของสหรัฐฯ ในยุควิกฤตการเงินโลกเทียบว่า สมัยนั้นราคาทองใช้เวลา 3 ปี ก่อนจะขึ้นไปแตะจุดสูงสุด หากนำมาเทียบกับวิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบัน จึงมีความเป็นไปได้ที่ราคาทองคำอาจกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อไป และจะไปแตะจุดสูงสุดก่อนปรับราคาลงเมื่อโลกมีวัคซีนที่ใช้ได้จริงแล้ว
อย่างไรก็ตาม เจฟฟรีย์ แฟรงเคิล ศาสตราจารย์ด้านการลงทุนจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด เตือนนักลงทุนรายย่อยว่า ราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าราคาดังกล่าวจะยืนระยะอยู่ต่อไปและไม่ตกลงมา
"ประวัติศาสตร์ตอกย้ำเสมอว่า นักลงทุนรายย่อยมักเป็นฝ่ายเสียในการแข่งขันระยะยาว" เจฟฟรีย์ กล่าว
เช่นเดียวกับ แมทธิว มิลเลอร์ นักวิเคราะห์ตลาดทุนจากสถาบัน CFRA ที่ชี้ว่า ท้ายที่สุดแล้ว ไม่อาจมีสินทรัพย์ใดเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยได้จริงๆ ในวิกฤตการเงิน
อ้างอิง; goldsilver, BI, WSJ, CNBC, CNN, goldprice
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;