ไม่พบผลการค้นหา
กรมการแพทย์ เตือนการดื่ม "ยาดองคางคก" ฤทธิ์รุนแรงถึงเสียชีวิตได้ ย้ำยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการยืนยันถึงประโยชน์และสรรพคุณทางยาของคางคก

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สุราออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อดื่มเข้าสู่ร่างกาย จะถูกดูดซึมและกระจายไปทุกส่วนของร่างกาย เข้าไปทำลายตับ เหยื่อบุกระเพาะ และลำไส้อักเสบ เป็นแผลในกระเพาะอาหาร การดื่มสุราปริมาณมากในระยะเวลาสั้นๆ อาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

"หากมีการนำสุราไปดองกับสัตว์มีพิษต่างๆ เช่น ตะขาบ แมงป่อง คางคก แล้วนำมาดื่ม ตามคำกล่าวอ้างในเรื่องสรรพคุณทางการรักษาโรคหรือเพื่อบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง อันตรายมาก ร่างกายจะได้รับพิษจากสัตว์เหล่านั้น เกิดอาการพิษทางร่างกายอย่างรุนแรงและอาจทำให้เสียชีวิตได้" นายแพทย์มานัส กล่าว

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า คางคกมีต่อมขับน้ำเมือกและผิวหนังที่มีพิษ ขับเมือกพิษออกมาที่ต่อมเล็ก ๆ ที่ผิวหนัง ใบหน้า ใต้ตา และระบบไหลเวียนเลือด ซึ่งเป็นสารกลุ่ม ดิจิทาลอยด์ (digitaloids) มีลักษณะทางเคมีและการออกฤทธิ์คล้ายกับสารกลุ่ม คาร์ดิแอก ไกลโคไซด์ (cardiac glycosides) มีผลต่อหัวใจ ซึ่งมีกลไกออกฤทธิ์ทำให้หัวใจบีบตัวมากขึ้น หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ ซึ่งนอกจากนี้ยังมีสารแอลคาลอยด์อื่นและสารระคายเคืองร่วมด้วย การบริโภคคางคก ทั้งนำมาทำเป็นอาหาร การให้ความร้อนหรือนำไปดองกับสุรา ไม่ทำให้พิษคางคกหายไป

ทั้งนี้ เมื่อนำมาบริโภคหรือดื่ม จะทำให้ได้รับพิษจากคางคก โดยช่วงแรกจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง หากบริโภคในปริมาณมาก จะทำให้รู้สึกสับสน เพ้อ ง่วงซึม มีอาการทางจิตประสาท ชัก และหมดสติ จำเป็นต้องพาผู้ป่วยมารักษาทันที เนื่องจากผู้ป่วยจะมีหัวใจเต้นช้าลงและหัวใจเต้นผิดจังหวะจนทำให้เสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลวได้ และขณะนี้ในทางการแพทย์ ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการยืนยันถึงประโยชน์และสรรพคุณทางยาของคางคก ย้ำเตือนกลุ่มที่กำลังจะทดลองดื่มสุราดองคางคกหรือสัตว์พิษอื่นๆ ให้ตระหนักถึงความอันตรายต่อสุขภาพให้มาก ฤทธิ์รุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้



ภาพ : pixabay.com/BaNNanE007