สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในวันที่ 24 ส.ค.เฟซบุ๊กได้จำกัดการเข้าถึงกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ 'รอยัลลิสต์ มาร์เกตเพลส' แล้วสำหรับคนที่อยู่ในประเทศไทย หลังจากที่ทางรัฐบาลไทยข่มขู่ว่าจะใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการกับแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊ก เพราะไม่ยอมลบเนื้อหาในกลุ่มดังกล่าวที่มีสมาชิกมากถึง 1 ล้านคน และมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงสถาบันอย่างไม่เหมาะสม
ทางด้าน 'เฟซบุ๊ก' ออกมาแถลงระบุว่า ทางบริษัทเตรียมดำเนินการทางกฎหมายกับทางรัฐบาลไทย หลังจากตรวจสอบพบว่า เฟซบุ๊กถูกบังคับให้จำกัดเนื้อหาและปิดการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ในประเทศไทยกับ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส’ ที่ทางรัฐบาลไทยเห็นว่ากลุ่มดังกล่าวกระทำการผิดกฎหมาย
แถลงการณ์ของเฟซบุ๊ก ระบุว่า “หลังจากที่ตรวจสอบอย่างรอบคอบ เฟซบุ๊ก พบว่า ทางบริษัทถูกบังคับให้จำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่รัฐบาลไทยเห็นว่าผิดกฎหมาย” ซึ่งทางเฟซบุ๊กได้อ้างอิงถึงการตัดสินใจการปิดกั้นการเข้าถึงกลุ่มรอยัลลิสต์ มาร์เกตเพลส ในประเทศไทยที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา
“เฟซบุ๊กได้รับแรงกดดันจากทางรัฐบาลไทยให้จำกัดการแสดงออกทางการเมืองบางประเภทในไทย โดยรัฐบาลไทยออกมาขู่ว่าจะมีการดำเนินคดีอาญากับตัวแทนเฟซบุ๊กในไทย หากไม่มีการจัดการ” โฆษกของเฟซบุ๊ก กล่าว
เฟซบุ๊ก ระบุว่า ปัจจุบันทางบริษัทกำลังพิจารณาเตรียมดำเนินคดีตามกฎหมายกับทางรัฐบาลไทย โดยชี้ว่า คำร้องขอของรัฐบาลไทยขัดกับหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและส่งผลต่อความสามารถในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน
โฆษกของเฟซบุ๊กกล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า “เฟซบุ๊กทำงานเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทุกคนและกำลังเตรียมการดำเนินกฎหมายกับคำร้องขอนี้”
'ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์' แอดมินกลุ่มรอยัลลิสต์ฯ กล่าวกับ Business Insider ว่า การที่เฟซบุ๊กยอมรับคำร้องขอของรัฐบาลไทยในการปิดกั้นการเข้าถึงกลุ่มรอยัลลิสต์ฯ เท่ากับเฟซบุ๊กเป็นส่วนหนึ่งของอุปสรรคกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในไทย และ ยังเป็นการส่งเสริมการเซ็นเซอร์ข้อมูล และยังชี้ว่า การกระทำดังกล่าวของเฟซบุ๊กนั้นเป็นการขัดขวางสิทธิการแสดงออกอย่างเสรีและประชาธิปไตยในภูมิภาค
สำหรับเรื่องแผนการฟ้องร้องของเฟซบุ๊กกับทางรัฐบาลไทย ปวินแสดงความเห็นสนับสนุนการฟ้องรัฐบาไทยของเฟซบุ๊ก โดยชี้ว่า เสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมีเช่นกัน โดยเฉพาะในประเทศไทยเป็นสิ่งที่หาได้ยาก
กลุ่ม 'รอยัลลิสต์ มาร์เกตเพลส' ถูกสร้างขึ้นโดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการและนักรัฐศาสตร์ชาวไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อาศัยและใช้ชีวิตอยู่ที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น และในวันที่ 24 ส.ค.ได้มีข้อความแสดงขึ้นมาระบุว่าผู้ใช้งานในประเทศไทยไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มดังกล่าวได้ตามคำร้องขอทางกฎหมายจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ปวิน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า "กลุ่มของเราเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตย นี่คือพื้นที่แห่งอิสรภาพในการแสดงออก การกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเฟซบุ๊กได้ให้ความร่วมมือกับระบอบอำนาจนิยม เพื่อขัดขวางประชาธิปไตย และช่วยบ่มเพาะอำนาจนิยมในประเทศไทย" อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์ยังไม่ได้รับการตอบกลับจากตัวแทนของเฟซบุ๊ก
เฟซบุ๊ก ชี้ข้อเรียกร้องเกินขอบเขตของไทย บั่นทอนความสามารถในการลงทุน
เฟซบุ๊ก ออกแถลงการณ์ชี้ข้อเรียกร้องจากรัฐบาลไทย ขัดหลักสิทธิมนุษยชนสากล ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก ขณะนี้กำลังเตรียมความพร้อมเพื่อโต้แย้งข้อกฎหมายต่อข้อเรียกร้องครั้งนี้
โดยตัวแทนจากเฟซบุ๊ก เปิดเผยว่า "หลังจากที่ Facebook ได้พิจารณาอย่างระมัดระวังและถี่ถ้วนแล้ว เราตัดสินใจที่จะจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่ทางรัฐบาลไทยระบุว่าเป็นเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องจากรัฐบาลเช่นครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่รุนแรง และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล และยังส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก การดำเนินงานของ Facebook มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องและรักษาไว้ซึ่งสิทธิต่างๆ ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทุกคน และขณะนี้เรากำลังเตรียมความพร้อมเพื่อโต้แย้งในข้อกฎหมายต่อข้อเรียกร้องครั้งนี้ การแทรกแซงที่เกินขอบเขตของรัฐบาลเช่นในกรณีนี้ยังถือเป็นการบั่นทอนความสามารถของ Facebook ในการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ตลอดถึงการดำเนินงานของสำนักงานในประเทศไทย การคุ้มครองดูแลพนักงานของบริษัทฯ และการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนโดยตรงต่อธุรกิจต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์ม Facebook"
โดยข้อเรียกร้องของรัฐบาล มีทั้งประเด็นด้านเสรีภาพในการแสดงออกและกฎระเบียบที่ว่าด้วยการแสดงออกถือเป็นความท้าทายที่ซับซ้อนมากที่สุดและมีความสำคัญสำหรับเราในฐานะที่เป็นองค์กร โดยเป็นหัวข้อที่ต้องอาศัยการหาความสมดุลที่ละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่งระหว่างการช่วยให้ผู้คนสามารถแสดงออกถึงความคิดอย่างเสรีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่ขัดต่อกฎหมายท้องถิ่นและบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม
และเมื่อเราได้รับคำขอจากรัฐบาลหรือหน่วยงานทางกฎหมายให้จำกัดการเข้าถึงของเนื้อหา เราได้ทบทวนว่าเนื้อหานั้นขัดต่อมาตรฐานชุมชนของเราหรือไม่ หากพบว่าเนื้อหานั้นละเมิดมาตรฐานชุมชน เราจะลบเนื้อหาทั้งหมดออกจากแพลตฟอร์ม
ในกรณีที่เนื้อหานั้นไม่ได้ละเมิดมาตรฐานชุมชน เราจะนำเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบทางกฎหมาย โดยกระบวนการทั้งสองขั้นตอนนี้เป็นไปเพื่อให้มั่นใจว่าคำขอนั้นถูกต้องตามกฎหมาย และเนื้อหานั้นมีการละเมิดกฎหมายท้องถิ่นจริง และเราอาจจำกัดการเข้าถึงเนื้อหานั้นๆ ในประเทศที่ระบุว่าขัดต่อกฎหมาย โดยในประเทศไทย คำขอเหล่านั้นได้ถูกดำเนินการในรูปแบบคำสั่งศาลที่มีการยื่นคำร้องจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
เราดำเนินการอย่างโปร่งใสในการแจ้งถึงจำนวนเนื้อหาที่เราจำกัดการเข้าถึง โดยอิงจากกฎหมายท้องถิ่นในประเทศ ซึ่งสามารถดูรายละเอียดได้ที่รายงานเพื่อความโปร่งใส ซึ่งได้รับการปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบันทุกๆ 6 เดือน