วันที่ 19 ม.ค. สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงเหตุการณ์ประชุมสภาฯ ล่มบ่อยครั้ง ซึ่งล่าสุดการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ก็ล่มอีกครั้ง โดยระบุว่า เหตุสภาฯ ล่มเกิดขึ้นก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงเข้าสู่ที่ประชุม และเมื่อร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เข้าก็ล่มอีก เป็นการสูญเสียงบประมาณโดยใช่เหตุ เพราะการประชุมสภาฯ แต่ละสัปดาห์ สภาต้องจ่ายเงินให้กับสมาชิกที่เดินทางมาประชุมเป็นเงินจำนวนมาก
ในแต่ละวันในการนัดประชุมสภาก็มีค่าใช้จ่ายในเรื่องของอาหาร และค่าใช้จ่ายของสภาด้วยซึ่งถ้าเป็นลักษณะนี้ไม่คุ้มค่าและไม่สามารถทำงานได้ มองว่าเหตุสภาฯ ล่มไม่ได้เป็นเฉพาะ ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ก่อนหน้านี้ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯที่เป็นประชุมร่วมรัฐสภาก็ล่ม บรรยากาศแบบนี้เกิดขึ้นในช่วงปลายสมัยการประชุมสภา ซึ่งตอนนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตกับประชาชนยังค้างอยู่ เช่นกฎหมายประมง ร่าง พ.ร.บ.ระบบราง
"ขณะนี้น่าจะมีสมาชิกจำนวนหนึ่งลงพื้นที่และไม่อยากเกี่ยวข้องกับงานสภาฯ แล้ว ถ้าสภาพเป็นอย่างนี้ควรยุบสภาฯ และเดินหน้าสู่การเลือกตั้งใหม่ให้ประชาชนตัดสินใจ" สิริพงศ์ กล่าว
เมื่อถามว่าร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ไม่ผ่านในวาระ 3 หรือพิจารณาไม่ทันในสมัยประชุมนี้ พรรคภูมิใจไทยจะนำไปหาเสียงต่อหรือไม่ สิริพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้กัญชาก็ยังมีประกาศของกระทรวงสาธารณสุขควบคุมอยู่ เช่น การสูบในที่สาธารณะ การจำหน่ายกัญชาให้กับเยาวชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่สามารถเอาผิดได้ แต่ในเรื่องรายละเอียดของการควบคุมที่จะปลูก ตนมองว่ากฎหมายยังมีความสำคัญและยืนยันว่าอย่างไรก็ต้องเดินหน้าออกกฎหมายควบคุมต่อไป
“สิ่งที่พรรคภูมิใจไทยดำเนินการ คือ กัญชานำมาซึ่งรายได้ให้กับประชาชน กัญชาจะสามารถสร้างความมั่นคงทางยาให้กับประชาชน และมั่นใจว่าสิ่งที่ทำคือทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน ส่วนใครที่จะใช้เป็นยาเสพติดตรงนี้ยังคงต้องมีกฎหมายควบคุม ดังนั้นจึงต้องเดินหน้าออกกฎหมายควบคุมแน่นอน” สิริพงศ์ กล่าว
ส่วนพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ พยายามเล่นเกมทำให้ร่าง พ.ร.บ.กัญชาเดินไปไหนไม่ได้ นั้น สิริพงศ์ มองว่า ทุกมาตราหากแต่ละฝ่ายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็มีผู้แปรญัตติไว้แล้ว แต่ก็ควรพิจารณาร่วมกัน สู้กันในสภา และลงมติ ไม่ควรไม่ร่วมประชุมจนทำให้รัฐสภาล่มทำให้เสียเวลา และเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ จึงขอฝากทุกฝ่ายทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ให้ช่วยกันดำเนินการกฎหมายนี้ให้ผ่านเพราะยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ประชาชนรออยู่
เมื่อถามว่าการที่สภาฯ ล่มบ่อยครั้ง มองว่าจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาหรือไม่ สิริพงศ์ กล่าวยอมรับว่าเหตุสภาล่มนั้นเป็นเงื่อนไขให้นายกรัฐมนตรียุบสภาแน่นอน โดยเฉพาะถ้าเป็นกฎหมายที่รัฐบาลเสนอแล้วยังล่ม แสดงให้เห็นว่าสภาฯ ไม่สามารถที่จะทำหน้าที่ได้ตามกลไกของสภาแล้ว