แม้หลายข้อสันนิษฐานที่เกิดขึ้นว่าใครคือผู้บงการในครั้งนี้ รัฐ เจ้าหน้าที่อุทยาน หรือผู้มีอิทธิพล เรื่องนี้ยังคงรอการพิสูจน์ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ต้องรอการพิสูจน์ใดๆ ก็คือ “หัวใจของมึนอ” เธอต่อสู้ยาวนานกว่า 5 ปี เพื่อตามหาสามีผู้สูญหาย รวมถึงการต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดินทำกินของชุมชนชาวกะเหรี่ยง กระทั่งวันที่เธอรับรู้ว่าสามีของเธอเสียชีวิต
‘มึนอ’ ในบทบาทของแม่ และหัวหน้าครอบครัว เธอเล่าว่า เธอกับบิลลี่มีลูกด้วยกัน 5 คน เป็นผู้หญิง 3 คน และผู้ชาย 2 คน ทั้งหมดกำลังอยู่ในวัยเรียน ถึงวันนี้ไม่มีบิลลี่อยู่แล้ว มึนอกล่าวว่า เธอก็จะต้องดูแลลูกๆ ต่อไป คอยสอนเขาให้เป็นคนดี ตั้งใจเรียน เพื่อให้มีอนาคตที่ดีและสุขสบาย
เช่นเดียวกับครอบครัวของสามัญชนทั่วไปเมื่อพวกเขามีครอบครัว ผู้เป็นสามีและภรรยาต่างก็มีภาพฝันที่พวกเขาอยากจะเห็นเมื่อลูกของพวกเขาเติบโตขึ้น ‘บิลลี่’ ก็เหมือนกัน มึนอเล่าว่า บิลลี่เคยวางแพลนไว้ว่าถ้าลูกคนโตอยากให้เป็นแม่บ้าน ทำงานง่ายๆ ส่วนคนถัดๆ มาอยากให้เรียนเป็นนักกฎหมาย ทั้งสองคน ส่วนลูกผู้ชายอีกสองคน อยากให้เรียนเป็นทหาร หรือตำรวจ
"พอมาถึงตอนนี้แล้ว เราไม่ได้บังคับเด็กๆ ปล่อยให้เด็กคิดว่าเขาจะเป็นอะไร ก็ให้เขาเป็น" มึนอ กล่าว
ในฐานะของแม่ และต้องทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวแทนสามี ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มึนอ เล่าว่า เธออยู่อย่างลำบาก ทั้งความเหน็ดเหนื่อยที่ต้องติดตามคดีของบิลลี่ รวมถึงงานข้างนอกที่ต้องไปอบรม ประชุม เรียนรู้ การไปร่วมงานกับเครือข่าย รวมถึงการที่จะต้องไปทำไร่ ทำสวน ส่วนงานในบ้าน เธอต้องคอยส่งเด็กๆ ทั้ง 5 คน ไปโรงเรียน มึนอสะท้อนผ่านใบหน้าที่อิดโรยว่า “นี่เป็นความเหน็ดเหนื่อยที่เกินกว่าจะบรรยาย”
“ถ้าบิลลี่อยู่ เขาไม่ปล่อยให้เราต้องลำบาก เขาจะรับงานข้างนอก ทำหมดเลย เขาจะให้เราทำงานภายในบ้านอย่างเดียว ให้อยู่แบบสบายๆ”
หากย้อนไปถึงวันสุดท้ายที่มึนอและบิลลี่จากกัน เธอเล่าว่า เหมือนกับชีวิตในปกติทุกๆ วัน “บิลลี่ออกจากบ้าน เขาบอกกับเราว่าจะกลับไปทำหน้าที่ อบต. ที่หมู่บ้านเขา กลับไปเยี่ยมแม่เขา เขาไม่ได้บอกว่าจะกลับมาเมื่อไหร่”
มึนอกล่าวต่อว่า หลังจากที่บิลลี่ออกจากบ้านไปพอรู้อีกทีพี่ชายของบิลลี่โทรศัพท์มาบอกว่าถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ด่านแม่เรียว แล้วก็พี่ชายเขาก็ไม่ได้คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขาจนถึงชีวิตขนาดนี้ พี่ชายเขาคิดว่าอาจจะเหมือนคดีอื่นๆ ทั่วๆ ไป ที่จะส่งไปดำเนินการต่อตามกระบวนการกฎหมาย พี่ชายของบิลลี่จึงไม่ได้รีบลงมา พอมาติดตามอีกทีก็ไม่สามารถติดต่อได้แล้ว
“ความยุติธรรมในความหมายของเราคือ เราไม่ควรที่จะเอาเปรียบกัน เราไม่ควรที่จะพรากชีวิตคนๆ หนึ่งไป ถ้าเรามีปัญหาอะไร เราก็ควรที่จะหันหน้าเข้าหากัน คุยกัน เจรจากันให้เข้าใจ นี่เป็นความยุติธรรมในความหมายของเรา”
นอกจากบทบาทในครอบครัวแล้ว ทั้งมึนอ และบิลลี่ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงที่ลุกขึ้นสู้เพื่อ “สิทธิ” ของหมู่บ้านที่เขาเกิดและเติบโตมาชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่นี้อาศัยอยู่มานานกว่า 100 ปี ก่อนที่จะมีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ
ในปี 2554 พวกเขาถูกเผาหมู่บ้านจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อุทยานแก่งกระจานที่ต้องการขับไล่ชาวกะเหรี่ยงออกจากพื้นที่ป่า ต่อมา นายทัศน์กมล โอบอ้อม อดีตผู้สมัคร ส.ส.เพชรบุรี พรรคเพื่อไทย เป็นคนหนึ่งที่เข้ามาร่วมต่อสู้กับชาวกะเหรี่ยงในการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อค่ำของวันที่ 10 ก.ย. 2554
ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยรวมถึงบิลลี่ ได้ลุกขึ้นต่อสู้ฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ที่เผาหมู่บ้านของพวกเขา บิลลี่ ซึ่งเป็นชายหนุ่มในหมู่บ้านที่ใช้ภาษาไทยได้ดี เขาจึงเป็นเป็นพยานปากสำคัญ ในคดีที่ชาวกะเหรี่ยงเป็นโจทก์ฟ้องศาลปกครองเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2555 เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่เผาทำลายทรัพย์สินชาวกะเหรี่ยง รวมถึงขอสิทธิอาศัยในพื้นที่เดิมที่ตั้งรกรากมายาวนาน
ทั้งนี้ บิลลี่มีนัดเบิกความต่อศาลปกครองในวันที่ 18 พ.ค. 2557 ทว่า วันที่ 17 เม.ย. 2557 บิลลี่ถูกควบคุมตัวขึ้นรถยนต์ ขณะนั้น นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อ้างว่าควบคุมตัวบิลลี่เพื่อตักเตือนที่บิลลี่ครอบครองน้ำผึ้งป่าเท่านั้น และปล่อยตัวไปบริเวณแยกหนองมะค่า โดยนายชัยวัฒน์ เป็นคนสุดท้ายที่พบเห็นบิลลี่ ก่อนที่จะหายตัวไป บิลลี่ถูกพบว่าเสียชีวิต เหลือเพียงกระดูกในถังน้ำมัน ในอีก 5 ปีถัดมา ตามที่ปรากฏในข่าว
มึนอกล่าวว่า เธออยากให้ชุมชนมีสิทธิในเรื่องที่ดิน อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยอมรับวิถีชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยงชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง ยอมรับในสิทธิชุมชน และยอมรับในสิทธิมนุษยชน เลิกอคติกับกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะที่ผ่านมาอคติที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ คือการถูกกล่าวหาว่า "เป็นพวกตัดไม้ทำลายป่า ทำให้น้ำท่วม"
“น้ำท่วมแต่ละครั้งจะมีนักข่าวบางสื่อออกข่าวว่าเนี่ยคนชาติพันธุ์ที่อยู่ต้นน้ำทำลายป่าแล้วทำให้น้ำท่วม อันนี้เราดูแล้วมันไปคนละเรื่องเลย มันไม่เกี่ยวกันเลยที่จะทำให้น้ำท่วม ถ้าอย่างนี้น้ำท่วมในที่อื่นก็ต้องเป็นชาวกะเหรี่ยงไปตัดไม้ทำลายป่าสิ ในความรู้สึกมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อคติกับกลุ่มชาติพันธุ์ ก็อยากให้เลิกอคติ เข้าใจชุมชนกะเหรี่ยง วิถีชีวิต และสิทธิมนุษยชนของชาวชาติพันธุ์ เราอยู่ด้วยกันถ้าเรามีความเข้าใจกัน เราก็สามารถอยู่ด้วยกันได้ทุกคน อยู่ร่วมกันได้ทุกอย่าง” มึนอ กล่าว
ตั้งแต่มึนอจำความได้ในความรับรู้ของเธอ วิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงคือการอยู่กับป่า ใช้ธรรมชาติร่วมกับป่า ที่พวกเขาเรียกว่า "ไร่หมุนเวียน" มึนนอเกล่าวว่าปัจจุบัน เจ้าหน้าที่อุทยานไม่ให้เรียกว่าไร่หมุนเวียน ให้เรียกว่า "ไร่ข้าว" ซึ่งเธอมองว่าไร่ข้าวก็จะมีแต่ข้าว ซึ่งไม่มีอะไรอยู่ในนั้นเลย แต่ไร่หมุนเวียนที่ชาวกะเหรี่ยงเรียกมาตลอดจะมีพืชหลายอย่าง ซึ่งเป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน มีทั้งข้าว ทั้งมะเขือ แตงกวา พริก เป็นต้น
“มันเปรียบเหมือนร้านค้า ถ้าเราเข้าไปเราก็สามารถเก็บมากินได้ มีหลายอย่างที่อยู่ในนั้น โดยที่เราอยู่ในป่า เราไม่ต้องใช้เงินสักบาท เราอยู่ได้ค่ะ เราทำในพื้นที่ที่เป็นไร่ของเรา เราไม่ได้ไปเปิดป่าใหม่ เราไม่ได้ไปเปิดป่าใหญ่ๆ อย่างที่ตามข่าวที่ออกมา เราก็หมุนเวียนในไร่เราปีต่อปี ไม่ได้ไปเปิดป่าใหม่เลย แล้วต้นไม้มันก็จะฟื้นตัวขึ้น ป่าก็ยังอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม ไม่ได้เป็นภูเขาหัวโล้นอย่างที่ถูกกล่าวหามาอย่างในบางข่าว” มึนอ กล่าว
มึนอเล่าต่อว่า ปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงถูกทำให้ลงมาอยู่ข้างล่าง เมื่อต้องเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ ชาวกะเหรี่ยงก็มีที่ทำกินอย่างจำกัดและน้อยลง ไม่สะดวกเหมือนก่อน ทำให้ต้องใช้เงินมากกว่าเดิม ถ้าไม่มีเงินใช้ก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะต้องใช้เงินในการซื้อน้ำมัน ข้าว ที่ต้องซื้อข้าวเพราะปลูกข้าวไม่พอที่จะกิน ต้องไปซื้อจากร้านค้ามากินเพิ่ม รวมทั้งต้องซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงเติมรถมอเตอร์ไซค์เพื่อใช้ในการเดินทาง มึนอยังกล่าวว่านโยบายทวงคืนผืนป่ากระทบกับชุมชนหลายพื้นที่ไม่ใช่เฉพาะป่าแก่งกระจานพื้นที่เดียว คือทำให้พื้นที่ถูกจำกัด บางพื้นที่ก็ถูกเอาคืนไป ประชาชนไม่มีพื้นที่ทำกิน จนเกิดปัญหาตามมามากมาย
“คนที่ไม่เคยอยู่กับป่า ไม่เข้าใจหรอก ปัญหามันเกิดจากโครงสร้างการเรียนรู้ ถ้าจะแก้ปัญหาต้องมาแก้ที่กฎหมาย คือในกฎหมายก็ต้องมีให้เรียนรู้ด้วยว่า คนอยู่กับป่าได้ มันใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันได้”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง