ไม่พบผลการค้นหา
กทท.-กรมศุลากร-กรมการค้าภายใน ผนึกกำลังลงตรวจ 4 ตู้คอนเทนเนอร์ ออกจากท่าเรือแหลมฉบัง แจงเป็นของบริษัทผลิตเพื่อส่งออกตามเงื่อนไข BOI ได้สิทธิผลิตมาแล้ว 1 ปี

การท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) ออกเอกสารชี้แจงกรณีปรากฏเป็นข่าวทางสื่อ Social Media ระบุว่ามีการกักตุนหน้ากากอนามัยเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศที่ท่าเรือแหลมฉบัง(ทลฉ.) นั้น จากการลงพื้นที่ตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำท่าเรือแหลมฉบัง ได้ดำเนินการตรวจสอบตู้สินค้าจำนวน 4 ตู้พบว่าสินค้าดังกล่าวเป็นของ บริษัทฯ เอ็มเมอรัลด์ นอนวูเว่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ส่งออก “หน้ากากอนามัยทางการแพทย์” ที่มีลิขสิทธิ์ส่งขายในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น และได้ผลิตหน้ากากดังกล่าวมากว่า 1 ปี มีใบขนสินค้าขาออก 4 ฉบับ (4 ตู้คอนเทนเนอร์) 

โดยทางบริษัทฯ ได้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ประกอบกับหนังสืออนุญาตการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ของกรมการค้าภายใน อย่างถูกต้อง อีกทั้งจากการตรวจสอบพบชนิดและปริมาณตรงตามที่สำแดงในใบขนสินค้าและใบอนุญาตฯ ถูกต้องครบถ้วน ไม่ได้เป็นการกักตุนหน้ากากอนามัยเพื่อการส่งออกแต่อย่างใด 

สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังจึงได้อนุญาตให้ตู้สินค้าดังกล่าวส่งออกได้ โดยผู้ประกอบการที่ใช้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการนำเข้าวัตถุดิบ และผลิตเพื่อส่งออกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 

ทั้งนี้ กระบวนการตรวจสอบสินค้าในการนำเข้า-ส่งออกผ่านท่าเรือแหลมฉบังเป็นอำนาจของกรมศุลกากรในการเข้าตรวจสอบความถูกต้องของสินค้าตามมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ 

อย่างไรก็ตาม วานนี้(16 มี.ค.)ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณโกดังเก็บสินค้า ท่าเรือเอ 3 ภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายนิมิตร แสงอำไพ ผู้อำนวยสำนักงานศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมด้วย พ.ต.อ.ประสงค์ ศิริทิพย์วานิชย์ ผกก. สภ.แหลมฉบัง ตัวแทนกระทรวงพาณิชย์ ตัวแทนกรมการค้าภายใน และตัวแทนจากบริษัทผู้ส่งออกหน้ากากอนามัย ได้ร่วมกันเปิดตู้คอนเทนเนอร์ 4 ตู้ ซึ่งภายในบรรจุหน้ากากอนามัยหลากหลายชนิด ทั้งแบบธรรมดา แบบใช้ในทางการแพทย์ แบบพรีเมี่ยม รวมทั้งสิ้น 5.6 ล้านชิ้น แบ่งออกเป็นตู้คอนเทนเนอร์ละ 1.4 ล้านชิ้น

โดยสินค้าดังกล่าวผลิตที่บริษัทแห่งหนึ่ง ภายในประเทศไทย แล้วส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งขนถ่ายขึ้นเรือบรรทุกสินค้า ผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง โดยก่อนหน้านี้มีการนำตู้คอนเทนเนอร์ 6 ตู้ ที่บรรจุหน้ากากอนามัยของบริษัทดังกล่าวส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว

ทั้งนี้จากการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ ทั้ง 4 ใบ พบหน้ากากอนามัยหลากหลายชนิด ทั้งแบบธรรมดา แบบใช้ในทางการแพทย์ แบบพรีเมียม โดยมีตัวแทนบริษัทนำหลักฐานเอกสาร หลักฐานการเสียภาษี หลักฐานการอนุญาตส่งออกจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่

นายนิมิตร แสงอำไพ ผู้อำนวยสำนักงานศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า ปกติแล้ว บริษัทดังกล่าวมีประวัติการส่งออกหน้ากากอนามัยอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิค 19 และสำหรับบริษัทดังกล่าวก็ได้รับสิทธิจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อายุสัญญาเป็นเวลา 1 ปี ในการส่งออกหน้ากากอนามัย ส่วนสำนักงานศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง จะมีหน้าที่ตรวจสอบการนำเข้าและส่งออกตู้คอนเทนเนอร์ผ่านเครื่องเอกซเรย์ว่า ถูกหรือผิดกฎหมาย หรือการสำแดงเท็จเท่านั้น โดยสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดไม่ใช่การสำแดงหน้ากากอนามัย แต่เป็นพวกสำแดงเท็จ เช่น ชิ้นส่วนผ้า อย่างไรก็ตาม ตนยืนยันว่าสำนักงานศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดและตรงไปตรงมา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :