ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ชี้แจงกรณีที่ผู้นำฝ่ายค้านฯ แสดงความกังวลถึงวิกฤตเศรษฐกิจ จากผลกระทบด้านเศรษฐกิจเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ซึ่งมีผลกระทบไปทั่วโลกมากที่สุดในรอบ 150 ปี และมีหลายประเทศได้รับผลกระทบมากกว่าไทย
นายอุตตม ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยเรื่องหลักคือ 1.ด้านสาธารณสุข ประเทศไทยก็ได้รับการยอมรับว่าสามารถจัดการได้ผลดี 2.เรื่องปากท้องความเป็นอยู่ประชาชน รัฐบาลดำเนินการเร่งเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการ เนื่องจากเกิดผลกระทบกระทันหัน ฉับพลัน และวงกว้าง จึงต้องดูแลเรื่องปากท้องก่อน โดยช่วยให้ประชาชนมีรายได้ มีสภาพคล่องเพียงพอดำเนินชีวิต มีการเยียวยาผู้ประกอบอาชีพอิสระกว่า 15 ล้านคน กลุ่มภายใต้ประกันสังคม เกษตรกร และกลุ่มเปราะบางที่เริ่มมีข้อมูลชัดเจน รวมทั้งหมดแล้วกว่า 30 ล้านคน
ที่รัฐบาลดูแลเยียวยาทันที ทั้งมาตรการชดเชยรายได้ ลดค่าใช้จ่าย มาตรการทางการเงิน สินเชื่อฉุกเฉิน ส่วนผู้ประกอบการ รัฐบาลก็เร่งดูแลเพราะเศรษฐกิจหดตัวฉับพลัน โดยมีมาตรการหลายอย่างให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะขนาดกลาง ขนาดเล็ก ให้มีสภาพคล่อง ด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ ขยายเวลาชำระภาษี พักชำระหนี้ และอีกหลายๆ มาตรการที่ออกมาแล้ว และปัจจุบันคณะรัฐมนตรีก็มีมาตรการเสริมสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงิน
ยันเยียวยาธุรกิจท่องเที่ยว ไม่ล่าช้า
นายอุตตม กล่าวว่า ที่กำลังเริ่มต่อไปในวันนี้คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยหลายภาคส่วนมองว่าธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป โดยรัฐบาลจะเข้าไปช่วยผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก ในการปรับตัว เน้นแผนงานกิจกรรมระดับพื้นที่และชุมชน เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ประชาชน เพราะเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวจากภายนอกต้องใช้เวลาฟื้นตัว จึงต้องประคับประคองในประเทศไปก่อน เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจะได้มีความพร้อมก้าวไปข้างหน้า ซึ่งแผนงานช่วยผู้ประกอบการปรับตัวถือเป็นความท้าทายและเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย
แต่ประเทศไทยก็มีความได้เปรียบเรื่องที่ตั้งในภูมิภาค สถานการณ์โควิด-19 เป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและผู้ประกอบการสามารถใช้โอกาสนี้ได้ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนการเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรม ทั้งที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล ชีวภาพ อุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งต้องพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง และเริ่มระดับพื้นที่แล้ว โดย ธ.ก.ส. ลงพื้นที่สร้างความเข้มแข็งชุมชน ยกระดับการเกษตรกับวิสาหกิจชุมชน พัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ สนับสนุนทายาทเกษตรกรที่กลับบ้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 60,000 ล้านบาท ให้ประกอบอาชีพได้ รวมถึงเยียวยาธุรกิจท่องเที่ยวและการส่งออก 40,000 ล้านบาท และมาตรการอื่นๆ ยืนยันว่ารัฐบาลเร่งดำเนินการไม่ล่าช้า ต้องเร่งทำวันนี้เพื่อเตรียมพร้อมฟื้นฟูเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัว
โทษรัฐบาลยิ่งลักษณ์ปรับลดภาษีเงินได้ กระทบต่อการจัดเก็บรายได้
สำหรับเสถียรภาพทางการคลัง นายอุตตม กล่าวว่า รัฐบาลดูแลใกล้ชิด มีวินัยการเงินการคลังที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไป ส่วนการกู้ยืมเพื่อดูแลสถานการณ์โควิด-19 ก็ยืนยันว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องนี้ใกล้ชิดรัดกุม ไม่กระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจและผู้ประกอบการ รัฐบาลตระหนักดีว่าผลกระทบรุนแรงและไม่ได้นิ่งนอนใจ
นายอุตตม ยังกล่าวถึงความสามารถการจัดเก็บรายได้ ซึ่งในอดีตต่ำกว่าเป้าว่า ที่ผ่านมาการประมาณการรายได้มีกลไกที่ใช้อยู่เป็นประจำ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ส่วนความกังวลว่าการจัดเก็บรายได้ภาษีอากรต่ำกว่าเป้าหมายนั้น เป็นเพราะรัฐบาลช่วงปี 2556 ปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และต่อเนื่องมาจากผลกระทบราคาน้ำมันลดลงรุนแรงในปี 2558 และ 2559 ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีอากร ซึ่งรัฐบาลช่วงกลางปี 2557 ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เริ่มเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้เข้ากับเป้าหมายมากขึ้น ปิดช่องว่างให้ลดน้อยลง จนเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายในปี 2562
รัฐบาลยังมีรายได้จากส่วนอื่นๆ นอกจากภาษีอากรอีก เพื่อทดแทนรายได้ภาษีอากรที่ชาดหายไปบางช่วงเวลา ทำให้การจัดเก็บรายได้ในภาพรวมสูงกว่าเป้าหมายตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง