ไม่พบผลการค้นหา
ผู้นำที่ดีต้องไม่เพ้อเจ้อ ต้องพูดจาแบบมีวุฒิภาวะ รู้กาลเทศะ มีเป้าหมายที่ชัดเจน จะพูดอะไร เพื่ออะไร ต้องชัดเจน

เปิดศักราช 2564 ในภาวะเกิดวิกฤตโควิด-19 รอบใหม่ ได้สร้างความสับสนให้ประชาชนพอสมควรสำหรับการสื่อสารของรัฐบาลที่ไม่ตรงกัน ไม่ว่าจะเป็น กรณีที่กรุงเทพมหานคร เตรียมประกาศห้ามนั่งทานในร้านอาหารหลัง 19.00 น. แต่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เปลี่ยนใหม่ ให้ห้ามนั่งในร้านหลัง 21.00 น.

ไม่กี่ชั่วโมงถัดมา “สาธิต ปิตุเตชะ” รมช.สาธารณสุข โพสต์ล็อกดาวน์ 5 จังหวัด สร้างความตื่นตระหนกตกใจแก่ประชาชนอย่างมาก แต่ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ก็แก้ต่าง ว่าไม่ใช่การล็อกดาวน์ เป็นเพียงการยกระดับมาตรการเท่านั้น

กระทั่งมาถึงคิวคุณ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงผ่านรายการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ ไม่มีแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” มีความผิด นำมาซึ่งเสียงวิจารณ์ยกใหญ่ จนรัฐบาลยอมถอยให้ใช้เอกสารรับรองแทน

ในช่วงที่ประชาชนเกิดความวิตกกังวลกับสถานการณ์โรคระบาด เป็นเวลาเดียวกับที่รัฐบาลสร้างความสับสนต่อประชาชน

'วอยซ์' จับเข่าคุย รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารทางการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก โดยมีมุมมองต่อการสื่อสารของรัฐบาลอย่างน่าสนใจ

นักวิชาการ ดร.นันทนา
  • ภาพรวมการสื่อสารของรัฐบาลในช่วงโรคโควิด-19 ระบาดรอบใหม่นี้เป็นอย่างไร

สำหรับการสื่อสารของภาครัฐในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 รอบ 2 นั้น ต้องบอกว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง สร้างความสับสน ตื่นตระหนกให้กับผู้คน ซึ่งเกิดการจากสื่อสารที่ไม่ได้ประสานกันเลย ขาดเอกภาพ ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก ไม่รู้จะเชื่อใคร เพราะแต่ละหน่วยงานพูดเหมือนออกจากคนแลประเทศ คนละโลก ทั้งที่ในช่วงภาวะวิกฤตนี้ ประชาชนต้องการข้อมูลข่าวสาร

แม้ว่าการบริหารจัดการโรคโควิด-19 รัฐบาลจะมีประสบการณ์แล้วจากการจัดการการระบาดในรอบแรก แต่กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลทำให้ประชาชนสับสน สร้างความตระหนกตกใจให้กับผู้คน ทำให้คนเกิดความรู้สึกว่า แล้วเราจะดำเนินชีวิตอย่างไร จะเชื่อใครดี ควรจะวางใจตนเองไว้ตรงไหน ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ซึ่งตรงนี้เป็นความล้มเหลวในการสื่อสารยามวิกฤตโดยสิ้นเชิง

สาเหตุมาจากหน่วยงานภาครัฐ ไม่ได้ประสาน บูรณาการการทำงานร่วมกัน แต่ละหน่วยงานต่างออกมาตรการของตัวเอง สื่อสารเอง เช่น ศบค.พูดอย่างหนึ่ง นายกฯ พูดอย่างหนึ่ง ผู้ว่า กทม.อยู่อย่างหนึ่ง รมช.สาธารณสุข รมว.สาธารณสุข พูดอย่างหนึ่ง จึงจะเห็นความไม่ประสานร่วมมือ เหมือนกับอยู่คนละรัฐบาล

  • การสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพกระทบประชาชนอย่างไร

จะเห็นมีข้อมูลขัดแย้งกันอย่างน้อย 3 กรณี เริ่มจากผู้ว่า กทม.บอกให้รับประทานอาหารในร้านได้ถึง 1 ทุ่ม แต่นายกฯกลับบอกว่า ไม่ได้ ต้องหลัง 3 ทุ่ม ต่อมา รมช.สาธารณสุข บอกว่า จะล็อกดาวน์ 5 จังหวัด นายกฯ บอก ไม่ล็อกดาวน์ กระทั่งเกิดกรณีแอปพลิเคชันหมอชนะ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก ตกใจทั่วประเทศ เมื่อคุณหมอทวีศิลป์ ออกมาบอกว่าทุกคนจะต้องโหลดหมอชนะ ไม่โหลดมีความผิด จนต่อมา รมว.สาธารณสุข บอกว่า ไม่โหลดไม่เป็นไร ใช้เอกสารก็ได้

ตรงนี้เป็นปัญหาเมื่อสื่อสารออกมาแล้ว ประชาชนไม่เกิดความชัดเจนว่าควรทำตัวอย่างไร แล้วเป็นการสื่อสารเชิงข่มขู่ประชาชน เหมือนว่า ถ้าไม่มี คุณมีความผิดทางกฎหมาย มีโทษทางกฎหมาย อันนี้มันเป็นเรื่องร้ายแรงมากต่อชีวิตของเขา แล้วสื่อสารกันแบบไม่มีอะไรเกิดขึ้น คือประชาชนต้องทำ ถ้าสั่งก็คือต้องทำ ถ้าไม่ทำ ก็มีความผิดทางกฎหมาย จะต้องมีการลงโทษ อันนี้เหมือนกันเราไม่ได้อยู่ในประเทศประชาธิปไตย

ประเทศประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ การที่รัฐบาลจะออกมาตรการอะไร ควรเป็นในลักษณะของการขอความร่วมมือ แล้วสื่อสารออกมาให้ชัดเจนตรงประเด็น ถ้าสื่อสารรู้เรื่องเขาจะให้ความร่วมมือ สื่อสารให้ชัดเจน เป็นระบบ ให้รู้ว่าเขาควรจะทำยังไง ไม่ใช่การสื่อสารแบบท็อปดาวน์ เพราะประชาชนจะรู้สึกว่าฉันไม่ได้อยู่ในประเทศประชาธิปไตยหรือนี่ ทำไมถึงจะต้องมาบังคับ ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ สื่อสารให้รู้เรื่องได้ ขอความร่วมมือได้ อธิบายให้ชัดเจน เข้าใจตรงกันได้ แต่หน่วยงานรัฐบาลกลับละเลย มันจึงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ต่อกระบวนการจัดการโรค

นันทนา การสื่อสาร โควิด 533ddd7a08e097e538c.jpg
  • การสื่อสารเชิงข่มขู่ ไม่เหมาะกับภาวะวิกฤต?

ประชาชนอยู่ในภาวะที่ถูกกระทำจากการแพร่ระบาดของโรคอยู่แล้ว ไม่ใช่ในภาวะปกติ ทุกคนทราบว่าอยู่ในภาวะวิกฤต การทำมาหากินไม่ปกติ รายได้ไม่ปกติ ชีวิตไม่ปกติ รัฐบาลไม่ควรจะไปซ้ำเติมให้ชีวิตเขาแย่ลงไปอีก เขาควรจะได้รับการดูแล ช่วยเหลือจากรัฐบาล ได้รับความเข้าใจจากรัฐบาล รัฐบาลควรที่จะทำหน้าที่ของผู้ปกครอง ที่ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ให้การดูแลเชิงจิตวิทยา แล้วอธิบาย หาแนวทางการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมที่ให้ประชาชนดำเนินชีวิตได้ โดยชีวิตไม่แย่ไปกว่าเดิม แต่รัฐบาลเลือกใช้วิธีข่มขู่ สร้างความตื่นตระหนก มากกว่าให้คนรู้สึกผ่อนคลาย ได้รับการดูแล

ถ้ารัฐบาลเป็นผู้ปกครอง อย่างแรกผู้ปกครองที่ดีควรสื่อสารด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ปกปิด เป็นข้อมูลที่ชัดเจน พูดตรงกัน เสนอแนะแนวทางเดินอย่างเหมาะสมให้กับประชาชน รัฐบาลหรือผู้ปกครองที่ดีควรต้องให้ความเห็นอกเห็นใจกับผู้ที่ได้รับผลกระทบของทุกคน ทั้งคนที่ติด ไม่ติด และกำลังรักษาตัวอยู่ การสื่อสารตรงนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน อย่ามาใช้วิธีการประณาม คนที่ติดเขาก็ไม่ได้อยากจะติด แต่มันติดมาจากสาเหตุเจ้าหน้าที่รัฐบกพร่อง หรือละเลย ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ในการนำพาชาวต่างชาติเข้ามาตามตะเข็บชายแดน หรือให้มีการเปิดบ่อนการพนัน

ตรงนี้มันไม่ใช่ความผิดของประชาชน เมื่อประชาชนติด เมื่อประชาชนได้รับผลกระทบ รัฐบาลควรจะแสดงความเห็นอกเห็นใจ ไม่ใช่ประณาม แล้วทำให้คนที่เขาติดไปไม่มีที่ยืน แล้วสุดท้ายเขาก็ไม่อยากให้ข้อมูลกับรัฐบาล เพราะให้ไปแล้วเขากลายเป็นคนเลว กลายเป็นคนชั่ว เพราะมันไม่ใช่ความผิดพลาดที่เกิดจากประชาชน

เราต้องยอมรับความจริงว่าเจ้าหน้าที่รัฐต่างหากที่เป็นผู้ที่เริ่มในรอบที่ 2 นี้ ทำให้เกิดการแพร่ระบาด ดังนั้น ผู้ปกครองควรสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจ แล้วหาทางออกอย่างเหมาะสม ไม่ใช่การข่มขู่ ประณาม เพราะนั่นจะกลายเป็นสังคมที่น่าตื่นตระหนก คนจะอยู่ในภาวะหวาดกลัว

นักวิชาการ ดร.นันทนา
  • เหตุใดการสื่อสารของนายกฯ จึงถูกวิจารณ์หนัก

ท่านนายกฯ เป็นคนพูดไม่มีประเด็น พูดไปเรื่อยๆ แล้วยิ่งพูดมากเท่าไร ประเด็นก็จะหลุดไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ประชาชน ไม่ได้ประโยชน์จากการที่ท่านออกมาแถลง เพราะเวลาท่านแถลงประเด็นมันจะไม่มี แล้วมันจะลื่นไหลไปเรื่อยๆ ท่านควรจะสื่อสารแบบที่ชัดเจนในเป้าหมาย การออกสื่อของท่านต้องมีเป้าหมายเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น บอกถึงมาตรการที่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะดำเนินการอะไร ท่านไม่ควรพูดยืดยาว ควรพูดให้กระชับ ชัดเจน ตรงเป้าหมาย แค่นั้นพอ แต่เวลาท่านพูดเยอะๆ ท่านจะมีอารมณ์ แล้วไปใส่อารมณ์กับผู้สื่อข่าว ใส่อารมณ์กับคนที่ชมท่านอยู่ทางทีวี มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย ผู้นำไม่ต้องพูดเยอะ แต่พูดแล้วให้ได้ประเด็น สาระ ชัดเจน แล้วทำตามที่พูด

ถ้าท่านสื่อสารได้ดี วิกฤตจะไม่เกิด แต่สิ่งที่ท่านพูดอยู่ตอนนี้ ประเด็นไม่ได้คลุม พูดไปโน้นนี่นั่น หน่วยงานต่างๆพูดมาแล้วท่านก็พูดอีกอย่าง ซึ่งไม่ตรงกัน มันก็จะกลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต จริงๆแล้วนายกฯควรจะพูดเพื่อคลี่คลายวิกฤต เพราะคำพูดของท่าน การสื่อสารของท่านมีความหมายต่อประชาชนมากๆ จึงไม่จำเป็นต้องพูดมาก แต่พูดให้ชัด แล้วทำตามที่พูด ก็จะคลี่คลายวิกฤตได้

เช่นว่า ถ้าเกิดท่านพูดคำเดียวว่ามาตรการของรัฐ จะไม่ล็อกดาวน์ แค่นี้แหละ 3 วิ ทำให้เศรษฐกิจมันไปได้เลย ท่านไม่ต้องพูดเยอะ แต่ท่านพูดให้ชัด ตรงประเด็น แล้วทำตามนั้น จบ

นอกจากนี้ ท่านต้องออกมาขอโทษประชาชนเลยว่าข้อผิดพลาดในรอบที่ 2 เกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐ ขอโทษ แล้วจะไปดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น แค่นี้พอ จบ หรือท่านบอกเลยว่าขอความร่วมมือ จะให้ประชาชนโหลดแอปหมอชนะ เพราะมันเป็นประโยชน์ต่อคนที่โหลดและคนรอบข้าง ท่านพูดแค่นี้จบ ไม่ต้องเยอะ

นักวิชาการ ดร.นันทนา
  • มีความเห็นอย่างไรต่อกรณีนายกฯพูด “นะจ๊ะ , รักนะ” ขณะถ่ายทอดสด

สำหรับบุคคลสาธารณะ ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าเวลาที่ยืนอยู่หน้าสื่อมวลชน ท่านจะต้องสื่อสารกับสาธารณะ ท่านพูดไม่ได้ว่าตอนนั้นไม่รู้ว่ามีการไลฟ์สด เพราะสื่อมวลชนมาพร้อมกล้อง เครื่องบันทึกเสียงครบ ยังไงก็ตามสิ่งที่ท่านแถลง เขาสามารถนำไปตัดออกอากาศได้ ท่านต้องพร้อมสื่อสารกับประชาชน กล้องนั่นคือสายตาประชาชน สื่อมวลชนอาจจับจ้องท่าน ในอากัปกิริยาต่างๆ ท่านต้องระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา ท่านต้องสำรวม มีวุฒิภาวะ ท่านไม่สามารถที่จะนะจงนะจ๊ะ หรือ รักลุงตู่ ลุงตู่รักนะ อันนั้นมันเป็นส่วนตัวเกินไป แล้วมันไม่ใช่กาลเทศะที่ผู้นำจะมาพูดในภาวะที่ประชาชนกำลังตระหนก ตกใจ เคร่งเครียดอยู่กับเรื่องการระบาดของโรคโควิด แล้วพูดให้มีสาระ การที่ท่านจะมีคำสร้อยคำเกิน อันนั้นเอาไว้พูดส่วนตัว ไม่ควรพูดออกสื่อที่ถ่ายทอดไปทั่ว

อีกอย่างท่านไม่สามารถทราบได้ว่าสื่อจะนำส่วนใดไปออกอากาศบ้าง ท่านจะต้องควบคุมตัวเอง ต้องมีวุฒิภาวะ ไม่แสดงอารมณ์ที่รุนแรงออกไป ไม่แสดงความรู้สึกที่เป็นกันเองจนเหมือนไม่น่าเชื่อถือ อันนี้เป็นข้อผิดพลาดสำคัญของท่านนายกฯ

  • ช่วยยกตัวอย่างผู้นำที่สื่อสารกับประชาชนได้ดีหน่อย

ผู้นำที่สื่อสารแล้วสามารถคลี่คลายวิกฤตได้ดีที่สุด น่าจะเป็นนายกฯของสิงคโปร์ ลี เซียนลุง เขาไม่ได้พูดเยอะ แล้วเขาไม่ได้ออกสื่อบ่อยเหมือนนายกฯเรา แต่เวลาที่เขาออกมาแล้ว เขาสามารถที่จะสร้างความศรัทธา สร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวสิงคโปร์ได้ เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้นำ ไม่ต้องพูดเยอะ แต่ชัดเจนว่าต้องการมาสร้างความเชื่อมั่นให้คนหยุดกักตุนสินค้า ให้คนเข้าใจในสถานการณ์ที่ถูกต้อง แล้วสร้างความเชื่อมั่น จับมือเดินกันไประหว่างประชาชนกับรัฐบาล อันนี้คือการสื่อสารที่ดีของผู้นำ ผู้นำที่ดีต้องไม่เพ้อเจ้อ ต้องพูดจาแบบมีวุฒิภาวะ รู้กาลเทศะ มีเป้าหมายที่ชัดเจน จะพูดอะไร เพื่ออะไร ต้องชัดเจน

ประยุทธ์ โควิด ศบค 24 ธันวาคม 63 wwwd224.jpg
  • การสื่อสารที่ล้มเหลว สร้างความเสียหายให้รัฐบาลมากน้อยเพียงใด

การที่รัฐบาลสื่อสารในภาวะวิกฤตล้มเหลว ผลเสียที่จะเกิดขึ้นประการที่หนึ่งคือรัฐบาลจะเสียศรัทธาในหมู่ประชาชน

ประการที่สอง เป็นผลกระทบที่รุนแรง คือด้านเศรษฐกิจ ถ้ารัฐบาลไม่พูดจาให้ชัดเจน มีมาตรการที่เหมาะสม เอะอะจะใช้มาตรการที่รุนแรง โดยไม่สนใจว่าคนเล็กคนน้อยจะได้รับผลกระทบอย่างไร จะล็อกดาวน์จะปิดประเทศ จะทำกิจกรรมที่รุนแรง คนเล็กคนน้อยจะได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจจะพังไปทั้งระบบ

ประการที่สาม มันจะทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก ใช้ชีวิตอย่างหวาดระแวง ไม่มีความสุข จากเดิมที่ชีวิตของประชาชนแย่อยู่แล้วเพราะโควิด แต่การสื่อสารของรัฐที่ไม่รู้เรื่องนั้น จะยิ่งทำให้ชีวิตของประชาชนแย่ลงไปอีก

  • มีข้อเสนอแนะรัฐบาลอย่างไร

หน่วยงานภาครัฐ จะต้องบูรณาการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน จะออกมาตรการอะไรก็ต้องคุยกันให้รู้เรื่อง ไม่ใช่ออกมาแล้วยกเลิกภายหลัง โดยต้องมีมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด และสื่อสารให้ตรงกัน เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน นอกจากนี้ ยังต้องสื่อสารอย่างเข้าใจ เห็นอกเห็นใจประชาชน ว่าอยู่ในภาวะวิกฤต ให้ประชาชนรับทราบว่าเป็นการช่วยเหลือ ไม่ใช่การข่มขู่ บังคับ ควบคุม เมื่อประชาชนรับรู้ได้ว่ามาตรการต่างๆเป็นผลดี ประชาชนก็จะให้ความร่วมมือ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง