ตรงข้ามกับ เอพริล ทเวนตี้ไฟว์ คัลเจอร์ เฮาส์ (April 25 Culture House) โรงภาพยนตร์ในกรุงเปียงยาง ซึ่งตั้งชื่อตามวันที่คิม อิล ซุง ผู้นำคนแรกของโสมแดงก่อตั้งกองทัพประชาชนเกาหลี คือสถานที่ตั้งของ กรีน ลีฟ คอฟฟี ช็อป (Green Leaf Coffee Shop) คาเฟ่ที่เสิร์ฟทั้งอาหาร และวัฒธรรมอเมริกันให้กับชาวเกาหลีเหนือได้ลิ้มลอง
ดูผิวเผินที่นี่ไม่ได้แตกต่างจากร้านอาหารจานด่วนของนานาประเทศทั่วโลกบรรยากาศตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้โทนสีน้ำตาลย้อนยุค จับคู่เบาะโซฟา 2 ที่นั่งกับโต๊ะทรงสี่เหลี่ยม มีเคาน์เตอร์สั่งอาหาร พร้อมเมนูทำจากแผ่นพลาสติกแข็ง และยูนิฟอร์มของพนักงานเสิร์ฟ
ทว่าความแตกต่างเห็นจะอยู่ตรงภาพประดับตกแต่ง ซึ่งไม่ใช่ผู้ให้กำเนิดแบรนด์ มาสค็อตประจำร้านการกินแบบ หรือภาพผู้คนถืออาหารพร้อมด้วยรอยยิ้ม แต่กลับกลายเป็นดอกคิม อิล ซุงเกีย (Kimilsungia) และดอกคิม จอง อิลเลีย (Kimjongilia) ดอกกล้วยไม้ และดอกบีโกเนีย ที่ตั้งชื่อตามคิม อิล ซุง ผู้ก่อตั้งประเทศเกาหลีเหนือ และคิม จอง อิล อดีตผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ อีกทั้งทางร้านยังสร้างบรรยากาศให้มื้ออาหารด้วยการขับกล่อมของวงประสานเสียงจากรัฐบาลทางโทรทัศน์
เวลานี้ กรีน ลีฟ คอฟฟี ช็อป พยักหน้ารับรสนิยมคนท้องถิ่นอย่างไม่คัดค้าน ด้วยการหันมาเสิร์ฟเบอร์เกอร์คู่กับกิมจิ เมนูผักดองประจำชาติ แถมยังถอดขนมปังของจากเมนูบางส่วน และแทนด้วยข้าว เพื่อให้ถูกปากคนพื้นที่
เมนูแบบดั้งเดิมก็มีจำหน่ายเช่นกัน พวกเขาขายเบอร์เกอร์เนื้อแบบธรรมดาราคา 2 ดอลลาร์ และขายชีสเบอร์เกอร์มาคู่กับเบคอนราคา 4 ดอลลาร์ ไม่ว่าจะสั่งเมนูไหนเบอร์เกอร์จะถูกห่อมาด้วยกระดาษแผ่นบาง บางครั้งก็มาคู่กับมันฝรั่งทอดในกล่องสีแดง เสิร์ฟบนถาดพลาสติกสีน้ำตาลเข้ม แบบเดียวกับที่เห็นๆ กันจนชินตาตามร้านฟาสต์ฟู้ดทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม แม้ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือ และสหรัฐอเมริกาจะพัฒนาขึ้นตามลำดับ แต่ก็ยังห่างไกลจากคำว่า ‘เป็นมิตร’
ด้าน แพทริค โซห์ (Patrick Soh) นักธุรกิจสิงคโปร์ผู้ริเริ่มกรีน ลีฟ คอฟฟี ช็อป บอกว่า เขาต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่สื่อถึงความเป็นอเมริกันที่นี่ เพราะตอนแรกเริ่มไม่มีชาวเกาหลีเหนือคนไหนรู้จักแฮมเบอร์เกอร์ เขาต้องสอนพนักงานทุกคนตั้งแต่เริ่มต้นในเรื่องของขนมปัง เนื้อ มายองเนส ผักกาดหอม และชีส
แม้จะเป็นร้านอาหารที่แตกต่าง แต่กรีน ลีฟ คอฟฟี ช็อป กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร คิม ยอง อี (Kim Yong Ae) ผู้จัดการร้านบอกว่า ลูกค้าส่วนมากจะเป็นครอบครัวขนาดเล็ก หรือคู่รักวัยรุ่น ซึ่งทางร้านของเธอมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการต่อสัปดาห์เพียง 300 - 500 คนเท่านั้น
ยอง อี เท้าความว่า กรีน ลีฟ คอฟฟี ช็อป นำเบอร์เกอร์มาจากวาฟเฟิลทาวน์ (Waffletown) เฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ดในสิงคโปร์ที่โซห์เป็นเจ้าของ พร้อมบอกว่า ผู้คนที่นี่รู้จักแฮมเบอร์เกอร์ในรูปแบบของขนมปังวางซ้อนกัน และลูกค้าบางคนคิดว่าแฮมเบอร์เกอร์เป็นอาหารของสิงคโปร์
ด้วยความขัดแย้งที่มีมาเนิ่นนาน เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือยังคงสอนให้ประชาชนเกลียดชังสหรัฐฯ เซบาสเตียน เบอร์เกอร์ (Sebastian Berger) นักข่าวต่างประเทศที่มักเข้าไปทำงานในแดนโสมแดงบอกว่า ในพิพิธภัณฑ์สงครามของเกาหลีเหนือมีการแสดงภาพวาดของทหารผิวขาวเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งแสดงใบหน้าของความเกลียดชังออกมาอย่างชัดเจน
นอกจากนั้น เกาหลีเหนือได้ทำการควบคุมสื่อทุกชนิดภายในประเทศอย่างเคร่งครัด ทว่าบรรดาเนื้อหาที่ผิดกฎหมายก็ไหลเวียนเข้าสู่อาณาเขตของโสมแดงผ่านยูเอสบีและเสพอย่างเป็นความลับ โดยประชาชนที่ต้องถูกพบกับการลงโทษทางอาญาหากเจ้าหน้าที่ค้นพบ
โซคีล ปาร์ก (Sokeel Park) ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยและกลยุทธ์ของ LiNK (Liberty in North Korea) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ช่วยเหลือชาวเกาหลีเหนือในการลี้ภัยไปประเทศจีนบอกว่า ภาพยนตร์และดนตรีจากสหรัฐฯ ได้เข้าไปยังเกาหลีเหนือเรียบร้อยแล้ว แต่ยังเป็นจำนวนน้อย และชาวโสมแดงบางคนพยายามฟังข่าวสารภายนอกจาก Radio Free Asia และ Voice of America
ไม่ต่างจากที่หลายคนคาดไว้เมื่อ ไซมอน คอกเกอร์เรล (Simon Cockerell) ผู้จัดการของบริษัททัวร์ที่เดินทางไปเกาหลีเหนือมากถึง 176 ครั้งในรอบ 17 ปี เปิดเผยว่า ชาวโสมแดงที่ได้ทำการพูดคุยด้วยยืนอยู่ตรงข้ามสหรัฐฯ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมองว่าชาวสหรัฐฯ ทุกคนเป็นศัตรูกับตัวเอง เพราะสัญญานแห่งความเป็นมิตรอาจจะเกิดขึ้นได้ในการประชุมสุดยอมระหว่างคิม จอง อิล และโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนามระหว่างวันที่ 27 - 28 กุมภาพันธ์นี้
ผู้ที่ได้พบปะกับชาวเกาหลีเหนือจำนวนมากอย่าง คอกเกอร์เรล ยังบอกอีกว่า ชาวโสมแดงมีความยืดหยุ่น และชาญฉลาดพอที่จะเข้าใจ และปรับตัวให้เข้ากับเนื้อหาที่อาจจะเปลี่ยนไปจากความเชื่อดั้งเดิมของพวกเขา อย่างไรก็ตาม พวกเขามองว่า สหรัฐฯ ยังคงเป็นศัตรูกับเกาหลีเหนือ แต่หากข้อตกลงขั้นพื้นฐานเป็นไปด้วยดีทุกอย่างอาจจะเปลี่ยนไป