ไม่พบผลการค้นหา
'จุลเจิม' ถามตุลาการ เหตุใดให้ประกันตัวผู้ต้องหา ม.112 ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก สงสัยตุลาการต้องรับผิดชอบต่อประเทศชาติ-สังคมหรือไม่ ด้าน 'วิญญัติ' แนะนำคุณต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์ที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง

วันที่ 2 ก.พ. ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือท่านใหม่ ตั้งคำถามต่อการพิจารณาของ 'ตุลาการ' ในการให้ประกันตัวผู้ถูกกล่าวหาดำเนินคดีอาญา มาตรา 112

เนื้อหาทั้งหมดระบุผ่านเฟซบุ๊กดังนี้

"คำถามถึงตุลาการ ในประเด็นที่มีการให้ประกันตัวผู้กระทำความผิดมาตรา 112 ออกมาทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก"

ผมในฐานะประชาชนเกิดความสงสัยหลายๆ ประการ ดังนี้

ข้อหนึ่ง การที่ตุลาการปล่อยให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 ได้รับการประกันตัว แล้วออกมาทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ถือว่าตุลาการบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก่อให้เกิดความเสียหายต่อชาติบ้านเมืองเป็นภัยความมั่นคงแห่งรัฐและสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ อย่างไร

ข้อสอง หากตุลาการบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายตามข้อ 1 ประชาชนที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จะดำเนินการไปแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้มีการดำเนินการฟ้องร้องตุลาการผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ที่มีการปล่อยให้มีการประกันตัวให้จำเลยออกมากระทำผิดในมูลฐานความผิดเดิมซ้ำแล้ว ซ้ำอีก หรือมีช่องทางทางกฎหมายใดๆ ที่จะดำเนินคดีกับตุลาการได้หรือไม่

ผมอยากรู้จริงๆ ครับ หากมีผู้รู้ทางกฎหมายท่านใดจะกรุณาอธิบายให้ผมและสังคมได้กระจ่างจะเป็นเรื่องที่สังคมอยากทราบมากครับ

ข้อสาม การปล่อยให้ผู้กระทำผิด ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นปัญหากับชาติและความมั่นคงของชาติ ตุลาการต้องรับผิดชอบต่อประเทศชาติและสังคมหรือไม่

ประชาชนหรือสังคมมีสิทธิที่จะตั้งข้อสงสัยได้หรือไม่ว่าตุลาการมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อความวุ่นวายในการยุยงปลุกปั่นให้เกิดการล้มล้างระบอบการเมืองการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วย

ข้อสี่ การที่ตุลาการได้ถวายสัตย์ปฎิญาณต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก่อนการปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธย แต่กลับปล่อยตัวผู้ต้องหาให้ได้รับการประกันตัว ออกมากระทำผิดในการทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติองค์พระประมุขของชาติ ซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นการสมควรหรือไม่ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ แต่กลับไม่สามารถปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยการรักษาความยุติธรรม ตามหน้าที่ให้ดี เคร่งครัด และเป็นธรรม

ข้อห้า ตุลาการได้รักษาหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมในการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ได้อย่างเคร่งครัดและเป็นธรรมสักแค่ไหน

การได้รับการประกันตัวเป็นส่วนมากหรือแทบทั้งหมด ประชาชนหรือสังคมอาจจะตั้งคำถามได้หรือไม่ว่า การกระทำของตุลาการดังกล่าวมีส่วนที่ทำให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ เพราะไม่เกรงกลัวว่าจะต้องได้รับโทษคุมขัง จึงทำให้ผู้กระทำผิดและผู้ที่ตั้งใจกระทำความผิดซ้ำตามมาตรา 112 เกิดความย่ามใจ ไม่เกรงกลัวต่อการลงโทษ เลยทำผิดซ้ำได้อย่างสบายใจ

ข้อหก แม้จะมิได้คาดหวังว่าตุลาการจะคาดการณ์ หรือพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าหากปล่อยให้ผู้กระทำผิดได้รับการประกันตัวแล้วจะไม่กระทำผิดซ้ำเลย โดยเฉพาะในกรณีมาตรา 112 แต่สังคมก็คงอยากจะทราบสถิติว่าคดีมาตรา 112 รายที่ตุลาการให้ประกันตัว ออกมาก่อคดีซ้ำแล้วซ้ำอีกร้อยละเท่าใด

และหากสถิติดังกล่าวมีค่าสูงมาก สังคมจะสามารถตั้งคำถามได้หรือไม่ว่า ตุลาการใช้วิจารณญาณหรือหลักเกณฑ์ใดในการให้ประกันตัวผู้ต้องหาในความผิดมาตรา 112

ข้อเจ็ด ตุลาการคิดอย่างไรที่ปล่อยให้ ส.ส. คนเดิมใช้ตำแหน่งในการประกันตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่มีการจำกัดจำนวน เพราะเท่าที่ทราบทางสำนักงานศาลยุติธรรมน่าจะมีระเบียบข้อห้ามเกี่ยวกับเรื่อง การใช้ตำแหน่งประกันตัวว่าจะให้วงเงินคนละเกินไม่เกินกี่บาท เท่าทีเห็น ส.ส. ท่านนี้ น่าจะใช้สิทธิเกินจำนวนเงินในระเบียบแล้ว

ตุลาการท่านไม่ทราบหรือไม่ได้ดูระเบียบ หรือตั้งใจทำให้ผิดระเบียบ หากพบว่าเป็นการให้ประกันตัวโดยผิดระเบียบตุลาการก็จะเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง

ข้อแปด ผมคิดว่าตุลาการทราบว่า ผู้ต้องหาที่ให้ประกันตัวไปแล้ว ไปกระทำผิดอีก แต่ก็งงๆ ว่า ทำไมตุลาการไม่เพิกถอนประกัน จะมาอ้างว่าพนักงานสอบสวนไม่มายื่นคำร้องขอถอนประกัน จึงเพิกถอนไม่ได้

ผมคิดว่าประชาชนทั่วไปยังทราบ สื่อสารมวลชนก็ทราบเพราะว่า ออกข่าวคึกโครม ตุลาการจะอ้างว่าไม่ทราบย่อมไม่ได้ เพราะว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องดูแลสอดส่องคนที่ให้ประกันตัว เพราะว่าหากมีการกระทำที่ผิดเงื่อนไขก็เพิกถอนได้ทันที หรือว่ากรณีมาตรา 112 ตุลาการไม่มีการกำหนดเงื่อนไขในสัญญาประกันตัวว่าไม่ให้ผู้ต้องหาไปกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันอีก

หากเป็นเช่นนี้ประชาชนหรือสังคมยิ่งมีความสงสัยว่าตุลาการที่มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวคิดอะไรกันแน่ ระหว่างการปกป้องคุ้มครองสถานบันพระมหากษัตริย์กับคุ้มครองผู้ต้องหาที่มีเจตนาล้มล้างสถาบัน

ทั้งหมดนี้เป็นคำถามที่สังคมต้องการคำตอบและผมเองวิจารณ์กระบวนการทำงานของตุลาการโดยหลักวิชาการ และความสุจริตใจ เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ประเทศชาติ และต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นหลักชัยของความมั่นคงของชาติไทย

และอยากจะถามท่านผู้รู้ ช่วยกรุณาตอบด้วยครับ.


วิญญัติ มองอาจเข้าข่ายดูหมิ่นศาล

วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ระบุผ่านเฟซบุ๊กใจความว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่อยู่ในสายงานทางกฎหมาย ได้เห็นการกระบวนการยุติธรรมในองค์กรต่างๆ ขอตอบท่านใหม่ด้วยความเคารพ

ข้อหนึ่ง  

ท่านใหม่ ต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์ที่รัฐธรรมนูญหลายฉบับได้บัญญัติคุ้มครองบุคคลในคดีอาญาไว้ตาม มาตรา 29 ว่า 

“บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้

ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี

ในคดีอาญา จะบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองมิได้

คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ"

การที่ผู้พิพากษาหรือตุลาการในศาลยุติธรรม ท่านทำหน้าที่ด้วยความอิสระ ปราศจากการครอบงำ พิจารณาอรรถคดี คำสั่งต่างๆ ด้วยอำนาจดุลพินิจภายใต้รัฐธรรมนูญ  การอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ถูกกล่าวหาที่ยังต้องสันนิษฐานว่าเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์ ย่อมเป็นไปตามสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา จะถือว่าปฏิบัติหน้าที่จงใจหรือประมาทเลินเล่อในการทำหน้าที่ได้อย่างไร ? 


เข้าข่ายดูหมิ่นศาล

ข้อสอง เมื่อผู้พิพากษาท่านใช้ดุลพินิจตามกฎหมายโดยยึดหลักการให้ความคุ้มครองสิทธิของประชาชนเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกคน ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะข้อหาหรือฐานความผิดใด  การที่จะมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษท่านผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่เช่นนี้ ย่อมเป็นการแจ้งความเท็จเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษ และเข้าข่ายเป็นการดูหมิ่นศาลด้วย

ข้อสาม การให้ประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราวในระหว่างสืบสวนสอบสวน ซึ่งผู้พิพากษาท่านมีหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายตำรวจและอัยการ ถือเป็นเรื่องที่ชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมาย การใช้ดุลพินิจปล่อยชั่วคราวจึงไม่ใช่เป็นการปล่อยให้ผู้ใดไปกระทำผิดซ้ำ เพราะบางกรณีอาจมีเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราว หรือหากไม่มีเงื่อนไขก็มิใช่ว่าท่านผู้พิพากษาจะไปมีส่วนร่วม สนับสนุน ช่วยเหลือ ผู้ใดให้กระทำความผิดตามที่จะตั้งข้อหาแต่อย่างใด 

ข้อสี่ การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อองค์พระมหากษัตริย์เป็นไปตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ อันเป็นพิธีการตามข้อบัญญัติ แต่มิใช่กรณีปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีโดยไม่รักษาความยุติธรรม  และมิได้หมายความว่า ผู้พิพากษาที่ปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อำนาจมีความเป็นอิสระของตนตามกฎหมายจะต้องกระทำหน้าที่ภายใต้การแอบอ้าง ครอบงำ ดำเนินการใดๆ อันเป็นลดความเป็นอิสระและเป็นกลางของท่านลงได้ มิเช่นนั้นก็ไม่อิสระจริง ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่ท่านดำรงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

ข้อห้า การที่ท่านหรือบุคคลใดจะใช้ความรู้สึกส่วนตัววัดการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาหรือตุลาการย่อมเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและคุณธรรมในจิตใจ 

ผู้พิพากษาในอุดมคติที่ผมเข้าใจ คือท่านจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่ว่าทางใดๆ แม้จะมีสถานการณ์เกิดขึ้นในบ้านเมือง ก็ต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง แม้ผู้พิพากษาแต่ละท่านจะมีสิทธิคิดและมีสิทธิแสดงออก แต่เมื่อท่านทำหน้าที่เป็นตุลาการ เชื่อว่าท่านจะใช้ดุลพินิจอย่างเที่ยงธรรม ปราศจากอคติเจือปนในการใช้อำนาจดุลพินิจ เพราะนั่นอาจเป็นการเสียความยุติธรรม เสื่อมเสียเกียรติยศต่อผู้พิพากษาท่านนั้นเองและต่อสถาบันตุลาการด้วย

ข้อหก ท่านเป็นใครในชีวิตของผู้พิพากษาแต่ละท่าน กว่าจะเรียนจบวิชากฎหมาย สอบเนติบัณฑิตไทย กว่าจะสอบได้เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา เป็นผู้พิพากษาประจำศาล เป็นผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นเลื่อนลำดับขึ้นไปถึงชั้นผู้ใหญ่นั้น 

การสอบแข่งขันแต่ละขั้นบันไดเป็นเรื่องที่ท่านรับผิดชอบเฉพาะตัว ทั้งต้องมีความวิริยะ อุตสาหะ อดทน ฝ่าฟันมากมาย กว่าจะประสบความสำเร็จได้ก็ล้วนแต่ใช้ความเป็นมนุษย์ต่อสู้มาด้วยความยากลำบากทั้งสิ้น 

ท่านบอกว่าถามในฐานะประชาชน ท่านก็ต้องเข้าใจถึงหน้าที่ของพลเมืองที่ดีและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนทุกคน รวมถึงท่านผู้พิพากษาด้วยเช่นกัน  มีเรื่องใดที่ไม่ถูกใจหรือขัดความรู้สึกตนและจะยัดเยียดข้อหาความผิดทางอาญา หรือจะดูหมิ่นดูแคลนกันอย่างไรก็ได้หรือ ?