การเงินและการตลาดเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันแบบสวนทางกันมาตลอด เพราะตลาดก็หวังขายของให้ได้มากที่สุดขณะที่ฝั่งการเงินก็พร่ำสอนให้คนเก็บเงินตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาดูเหมือนคนรุ่นใหม่หรือในที่นี้คือคนเจนวาย (อายุระหว่าง 23 -38 ปี) จะพ่ายแพ้ให้กับกระแสบริโภคนิยมอย่างเกือบราบคาบ
ตัวเลขผลสำรวจล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนว่า จากจำนวนประชากรเจนวายทั้งหมด 14.4 ล้านคน มีคนเป็นหนี้ถึงครึ่งหนึ่ง หรือ 7.2 ล้านคน และจากจำนวนดังกล่าว มีการผิดนัดชำระหนี้ถึงร้อยละ 20.2 หรือประมาณ 1.4 ล้านคน ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับการผิดนัดชำระหนี้ทั้งระบบ
'นริศ สถาผลเดชา' ผู้บริหาร TMB Analytics อธิบายว่า ยอดหนี้เสีย (NPLs) เหล่านี้ แท้จริงแล้วอาจไม่ได้ส่งผลกระทบกับธนาคารผู้ปล่อยกู้มากเท่ากับผลกระทบที่ผู้ผิดชำระหนี้จะโดนผลกระทบเอง โดยเฉพาะการเข้าถึงสินเชื่อในอนาคตเพื่อทำตามความฝันของตน
ความฝัน ความจริง และ 'ตัวร้าย' ในเรื่อง (ห)นี้
ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูล TMB Analytics สะท้อนว่า Gen Y กว่าร้อยละ 48 อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง ขณะที่ความฝันรองลงมาคือการครอบครองรถยนต์ในสัดส่วนร้อยละ 22 และมีการออมทรัพย์ในอันดับที่ 3 ที่ร้อยละ 13
อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมาดูความเป็นจริง ตัวเลขร้อยละ 48 ที่เป็นความฝันในการซื้อบ้านสามารถทำได้จริงเพียงร้อยละ 12 เท่านั้น ขณะที่ความจริงของการครอบครองรถก็อยู่ที่ร้อยละ 10 และน้อยลงไปอีกในการมีเงินออมที่ร้อยละ 9
'นริศ' ชี้ว่า ตัวการสำคัญที่ขัดขวางการเดินไปถึงความฝันของ Gen Y คือ 'ของมันต้องมี' ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการใช้จ่ายในความเป็นจริงถึงร้อยละ 69 หรือประมาณ 95,518 บาท/ปี คิดเป็น 1/4 รายได้ทั้งหมดของเจนวายต่อปี เมื่อค่าเฉลี่ยรายรับอยู่ที่ 377,694 บาท/ ปี
6 อันดับแรก 'ของมันต้องมี' ของเจนวาย ได้แก่ 1. โทรศัพท์ (22%) ในราคาเฉลี่ย 23,574 บาท 2. เสื้อผ้า (11%) ในราคาเฉลี่ย 13,719 บาท 3. เครื่องสำอาง (8%) ในราคา 11,934 บาท 4. อุปกรณ์อเล็กทรอนิกส์ (5%) ในราคา 16,486 บาท 5. กระเป๋า (4%) 15,466 บาท 6. นาฬิกา/เครื่องประดับ (2%) ในราคา 14,324 บาท
หากนำตัวเลขรายจ่ายทั้งหมดของเจนวายมารวมกัน จะคิดเป็นเม็ดเงินถึง 1.37 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี ซึ่งเป็นตัวเลขมหาศาลที่อาจเทียบได้กับ 8 เท่าของมูลค่าโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง 3 สนามบิน หรือคิดเป็นร้อยละ 91 ของมูลค่าเป้าหมายโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี
ความง่ายของชีวิตทำให้ชีวิตไม่ง่าย
ผลสำรวจการวิจัยตลาดของไวซ์ไซท์ สะท้อนว่าภายใต้สังคมบริโภคนิยม สื่อโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคโดยเฉพาะคนเจนวายซึ่งเป็นประชากรหลักบนโลกออนไลน์ อีกทั้งคนเจนวายยังมีแนวโน้มในการเชื่อหรือบริโภคตาม 'ผู้มีอิทธิพล' (influencer) บนโลกออนไลน์อย่างมาก
ในช่วง 3 เดือน ระหว่าง สิงหาคม - ตุลาคม ผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ของประเทศไทยโพสต์ข้อความบนสื่อหลักอย่าง เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์ และยูทูบ มากกว่า 545,000 ข้อความ ขณะที่ยอดการมีส่วนร่วมกับโพสต์เหล่านี้มีสูงกว่า 1,340,000,000 ข้อความ
โดยแพลตฟอร์มเหล่านี้ประกอบกับบริบททางสังคมทั้ง สังคมบริโภคนิยมการซื้อแบบไม่คิด แนวความคิดว่าประสบการณ์คือสินค้าความสุข รวมทั้งบริการจากธนาคารที่มุ่งเน้นให้การจับจ่ายใช้สอยเป็นเรื่องง่ายทำให้ ประชากรเจนวายกว่าร้อยละ 70 เลือกจะไปกู้สินเชื่อมาเพื่อใช้จ่ายกับ 'ของมันต้องมีเหล่านี้'
ไม่ต้องซื้อทุกอย่างภายในเดือนเดียว
'นริศ' กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าจะบอกให้คนเจนวายเลิกซื้อสินค้าเหล่านี้ทั้งหมดก็คงยากเกินไป แต่หากเจนวายสามารถลดการใช้จ่ายได้ลงครึ่งหนึ่งให้เหลือ 43,000 บาท/ปี ก็จะสามารถมีเงินไปใช้สานต่อความฝันระยะยาวได้ รวมถึงสร้างความมั่นคงในชีวิตด้วยเงินออมด้วยเช่นเดียวกัน
ด้าน 'กาญจนา โรจวทัญญู' หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร สื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ทีเอ็มบี ชี้แจงว่าภายใต้โครงการ 'ของมันต้องมีก่อน 40' นอกจากธนาคารทีเอ็มบีจะใช้ผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์เข้ามากระตุ้นการตระหนักรู้ถึงปัญหาการใช้เงินของเจนวายแล้ว ก็จะมีบริการให้ความรู้ด้านการเงินรวมถึงการวางแผนใช้เงินออกมาตลอดเพราะไม่อยากให้เป็นแค่โครงการระยะสั้นเท่านั้น
ขณะที่ 'กล้า ตั้งสุวรรณ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การที่บริษัทวิจัยด้านการตลาดได้ร่วมมือกับธนาคารก็จะช่วยให้การสื่อสารเหล่านี้สามารถทำได้ตรงจุดมากขึ้น เนื่องจากประชากรเจนวายในแพลตฟอร์มต่างกันก็มีเป้าหมายและความฝันที่ต่างกัน กลยุทธ์การเหมารวมจึงไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
การเปิดรับความรู้ด้านการเงินเป็นสิ่งที่เจนวายต้องทำมากขึ้น แม้ประชากรเหล่านี้จะรู้จักวิธีการหาเงิน แต่ก็คงไม่สำคัญเท่าการที่พวกเขารู้จักวิธีการบริหารเงินให้เหลือถึงช่วงปลายเดือน หรือเอาเข้าจริงคือ ไม่ให้ไปถึงการกู้บัตรเครดิตใบนึงมาโปะอีกใบหนึ่ง เพราะการเริ่มต้นชีวิตผิดอาจทำให้พวกเขาไปไม่ถึงฝันและติดอยู่ในวังวนของการไปหนี้ไปตลอดชีวิต