ไม่พบผลการค้นหา
ธปท.-ประธานสมาคมธนาคารไทย ประสานเสียง พร้อมตรวจสอบข้อสงสัย กรณีพบแบงก์ไทยอยู่ในลิสต์ 'FinCEN' ย้ำสถาบันการเงินไทยมีรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยตามกฎหมาย ปปง. อย่างเคร่งครัด แจงการรายงานธุรกรรมที่น่าสงสัยต่อ FinCEN เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้หมายความว่าธุรกรรมที่ถูกรายงานจะเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายเสมอไป

จาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่า ธปท.ได้กำกับดูแลและตรวจสอบสถาบันการเงินให้มีกระบวนการป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย รวมถึงการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (AML/CPTF) ตั้งแต่ขั้นตอนการทำความรู้จักตัวตนลูกค้า (KYC/CDD) การตรวจสอบและการรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กำหนดอย่างเคร่งครัด โดย ธปท. และ ปปง. ประสานงานกันเพื่อกำกับดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด

เมื่อสถาบันการเงินพบธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยตามหลักเกณฑ์ที่ ปปง.กำหนด ก็มีหน้าที่ต้องรายงานต่อ ปปง.ซึ่งเรียกว่ารายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย (Suspicious Transaction Report: STR) ซึ่ง ปปง.จะนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์และตรวจสอบ เพื่อดูว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าทุกธุรกรรมที่ถูกรายงานใน STR จะเป็นธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายเสมอไป จึงต้องตรวจสอบก่อนที่จะสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่

"สำหรับกรณีมีข่าวสถาบันการเงินของไทย 4 แห่ง มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมการโอนเงินที่น่าสงสัย โดยใช้ข้อมูลจากรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยที่รั่วไหลจากหน่วยงานเครือข่ายปราบปรามอาชญากรรมทางการเงินแห่งสหรัฐอเมริกา (US Financial Crimes Enforcement Network หรือ FinCEN) นั้น ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่สถาบันการเงินภายใต้กฎหมายของสหรัฐอเมริกามีหน้าที่ต้องรายงานธุรกรรมที่น่าสงสัยต่อ FinCEN เป็นปกติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอยู่แล้ว และไม่ได้หมายความว่าธุรกรรมที่ถูกรายงานจะเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายเสมอไป แต่เนื่องจากข้อกล่าวหาที่เป็นข่าวอยู่นั้น ไม่ได้มาจาก FinCEN หรือหน่วยงานทางการใดๆ เรื่องนี้จึงขอให้รอการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน" จาตุรงค์ 

ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกรณีเอกสารและข้อมูลฟินเซนที่หลุดออกมาจากหน่วยงานสืบสวนอาชญากรรมทางการเงินสหรัฐฯ ซึ่งมีหน้าที่ปราบปรามการก่ออาชญากรรมทางการเงินที่ขึ้นตรงกับกระทรวงการคลังสหรัฐฯ นั้น เอกสารดังกล่าวตอนนี้ยังไม่มีการยืนยันจากทางการถึงแหล่งที่มาขอข้อมูลที่ปรากฎตามสื่อต่างๆ โดยในส่วนของธนาคารได้มีการประสานงานความร่วมมือกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในฐานะผู้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ โดยมีการรายงานข้อมูลที่เป็นธุรกรรมต้องสงสัยให้หน่วยงานกำกับเพื่อตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว

"ข่าวที่ออกมายังไม่ได้ยืนยันเป็นทางการ เราอยู่ระหว่างตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูล ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เรารายงานไป แต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกชี้ว่าผิด แต่เป็นกิจกรรมที่น่าสงสัย ซึ่งหน่วยเกี่ยวข้องคือ FinCEN จำเป็นต้องสืบสวนต่อไป เพราะเป็นกฎที่เรารายงานเขาเพื่อที่ให้เขาไปสืบต่อได้ ส่วนข้อมูลที่รายงานออกมาเป็นข้อมูลในส่วนไหน ได้รับอย่างไรเป็นทางการหรือไม่ ซึ่งเราเองก็อยู่ระหว่างตรวจสอบ แต่ทั้งระบบเราก็พร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐทั่วโลก ในการที่จะสืบสวนและตรวจสอบในธุรกรรมต้องสงสัยทั้งระบบ" ผยง กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวสอบถามประเด็นการตรวจสอบปมดังกล่าวกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้รับคำตอบจากผู้ประสานงานเลขาธิการ ปปง.ว่า สำนักงาน ปปง.อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :