ราคาน้ำมันดิบในตลาดเวสต์เท็กซัสเคยผ่านช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันพุ่งสูง ร่วงหนัก ผ่านช่วงสงคราม และวิกฤตต่างๆ มาหลายครั้ง แต่เมื่อวันที่ 20 เม.ย.หรือ 21 เม.ย.ตามเวลาไทย ราคาน้ำมันเวสต์เท็กซัสกลับร่วงลงมาต่ำสุดจนอยู่ที่ -37.63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นคาราติดลบครั้งแรกในประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบไม่ได้มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันค้าปลีกที่เราซื้อตามปั๊มน้ำมันโดยตรง ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะกำหนดราคาน้ำมันค้าปลีกตามปั๊มน้ำมันต่างๆ ดังนั้น ราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลงมาไม่ได้หมายความว่าปั๊มน้ำมันจะจ่ายเงินให้เราไปเติมน้ำมัน
ทำไมราคาน้ำมันร่วงจนติดลบ?
ราคาน้ำมันดิบในตลาดเวสต์เท็กซัสเป็นราคาซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Future Contract) ที่จะกำหนดราคาที่ซื้อล่วงหน้า ปริมาณน้ำมันที่ซื้อ และวันที่จะส่งมอบน้ำมันจริงๆ ซึ่งผู้ซื้อขายสัญญาล่วงหน้านี้ ก็มักเป็นผู้ผลิตน้ำมัน ผู้ค้าน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งต้องการน้ำมันดิบจริงๆ และอีกส่วนคือนักเก็งกำไร และกองทุนต่างๆ ที่ไม่ได้ต้องการน้ำมันจริงๆ แต่เข้าไปเก็งกำไรในราคาน้ำมันดิบเท่านั้น
หลังจากมีคำสั่งให้คนอยู่แต่ในบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสหรัฐฯ ลดลงอย่างมากในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาเชื้อเพลิงทั้งหมดจึงลดลงมาเรื่อยๆ เพราะการผลิตน้ำมันเกินความต้องการในปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้ซื้อขายสัญญาน้ำมันของเดือนพ.ค.ที่จะครบกำหนดการส่งมอบในวันที่ 21 เม.ย.ต้องหาพื้นที่เก็บน้ำมัน
สำนักข่าวบลูมเบิร์กกล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ติดลบเป็นเพียงราคาน้ำมันที่มีสัญญาซื้อขายของเดือนพ.ค.ในตลาดเวสต์เท็กซัสเท่านั้น ส่วนสัญญาซื้อในเดือนอื่นและในตลาดอื่นๆ ก็ยังอยู่ที่ประมาณ 20-25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ราคาที่ติดลบก็เผยให้เห็น “ความจริงด้านพื้นฐาน” เกี่ยวกับตลาดน้ำมันในช่วงที่มีไวรัสโคโรนาระบาดว่า สินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญที่สุดของโลกอย่างงน้ำมันสูญเสียมูลค่าทั้งหมดไป เพราะแท่นขุดเจาะน้ำมันและท่อส่งน้ำมันก็ยังคงทำงานต่อไปจนน้ำมันดิบล้นตลาด
สุดท้าย นักเก็งกำไรก็ต้องทำทุกวิถีทางที่จะหลีกเลี่ยงการรับมอบน้ำมันที่ตัวเองทำสัญญาซื้อไว้ จนยอมขายสัญญาที่กำลังจะครบกำหนดส่งมอบน้ำมันพร้อมแถมเงินเพิ่มให้อีกด้วย เพราะไม่มีใครต้องการน้ำมันดิบจริงๆ ส่วนคนที่ต้องการน้ำมันดิบไปกลั่นต่อจริงๆ ก็มีที่เหลือในคลังไม่มากแล้ว
ทำไมราคาน้ำมันดิบติดลบ แล้วราคาน้ำมันค้าปลีกไม่ติดลบด้วย?
ราคาน้ำมันดิบไม่ใช้ตัวชี้วัดที่ดีที่สุดในการกำหนดราคาน้ำมันค้าปลีก แต่ราคาน้ำมันขายส่งจะเป็นตัวกำหนดราคาน้ำมันในปั๊มน้ำมันมากกว่า แต่เจฟฟ์ เลนาร์ด และแม้ราคาน้ำมันดิบกับราคาน้ำมันขายส่งจะมีความสัมพันธ์กันอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะขึ้นลงตามกันทุกวัน เพราะจะต้องมีการคิดค่าใช้จ่ายอื่นๆ เข้าไปในราคาน้ำมันขายส่ง
สำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐฯ หรือ อีไอเอประเมินว่า ในปี 2562 ราคาน้ำมันขายส่งอยู่เฉลี่ยทั้งปีอยู่ 2.60 ดอลลาร์ต่อแกลลอน ค่าขนส่งและการตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 39 เซนต์ต่อแกลลอน ค่ากลั่นและกำไรเพิ่มขึ้นมาอีก 34 เซนต์ต่อแกลลอน แต่เมื่อปริมาณการใช้น้ำมันลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 เจ้าของปั๊มน้ำมันจำนวนมากจึงเพิ่มอัตรากำไรต่อแกลลอนหรือต่อลิตรเพิ่มขึ้นอีก เพื่อไปถัวเฉลี่ยกับปริมาณการเติมน้ำมันที่ลดลง นอกจากนี้ยังมีภาษีที่ต้องจ่ายอีก
ทำไมราคาน้ำมันไทยไม่ขึ้นลงตามตลาดสหรัฐฯ?
นอกจากจะคิดราคาหน้าโรงกลั่นแล้ว น้ำมันไทยยังมีภาษีที่ต้องจ่ายอีกหลายอย่างเช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีท้องถิ่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT อีกทั้งยังต้องรวมเงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อลดความผันผวนของราคาน้ำมัน และกองทุนอนุรักษ์พลังงาน เพื่อไปฟื้นฟูด้านสิ่งแวดล้อม
ที่สำคัญ ไทยจะอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ ประเทศสิงคโปร์เป็นหลัก เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีตลาดการส่งออกน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และอยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดน้ำมันสากลอื่น คือ อังกฤษ และสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ราคาสิงคโปร์ยังสะท้อนราคาตลาดและอุปสงค์-อุปทานในภูมิภาคนี้อย่างแท้จริง ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียใช้ราคาตลาดสิงคโปร์ตัวอ้างอิง ทั้งในการเจราซื้อ-ขาย ระหว่างประเทศ และใช้เป็นฐานการคำนวณต้นทุนราคาภายในประเทศ
ที่มา : CNN, Bloomberg, สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน, กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ