นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการคนที่ 2 รักษาการแทนกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ดําเนินการตามแผนฟื้นฟูธุรกิจภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลาง โดยให้บริษัทฯ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ แม้จะเป็นการดําเนินการภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย แต่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการเลิกหรือชําระบัญชีบริษัทฯ หรือไม่ได้มุ่งหมายให้บริษัทฯ ต้องตกเป็นบุคคลล้มละลายแต่อย่างใด
ทั้งนี้ในทางตรงกันข้ามการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายในครั้งนี้ จะส่งผลให้บริษัทฯ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของแผนฟื้นฟูธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพตามขั้นตอนต่างๆ ซึ่งมีกฎหมายรองรับและให้ความคุ้มครองอย่างเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยบริษัทฯ ยังสามารถประกอบธุรกิจปกติต่อไปได้ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการขนส่งผู้โดยสารไปยังจุดหมายปลายทางของการบินไทยทั่วโลก หรือการขนส่งสินค้าไปรษณียภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะดําเนินการควบคู่ไปกับการฟื้นฟูองค์กรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการดําเนินงานและพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการบริการให้ดียิ่งขึ้น
โดยบริษัทฯ มุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการดําเนินการทุกวิถีทางเพื่อฝ่าวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นก้าวสําคัญในการเปลี่ยนแปลงบริษัทฯ ไปในทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน และบริษัทฯ ขอขอบพระคุณผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้น คู่ค้า พันธมิตรทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าและผู้โดยสารทุกท่านที่ยังคงให้การสนับสนุนและมอบความไว้วางใจให้บริษัทฯ ได้มีโอกาสรับใช้ท่านต่อไป บริษัทฯ พร้อมจะกลับมาดําเนินกิจการและทําการบินอย่างเต็มศักยภาพในทันทีเมื่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 คลี่คลายลงแล้ว
นายกฯ ยันตัดสินใจเพื่อประโยชน์ประเทศ-อุ้มพนักงานไม่ให้ถูกลอยแพ
ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตาม พรบ.ล้มละลาย ว่า เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก แต่เป็นการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนซึ่งปัญหาการบินไทย ทุกคนทราบดีแล้วว่า เกิดจากการมีหนี้สิน โดยมีอยู่ 3 ทางเลือก คือ 1.หาเงินให้การบินไทย ดำเนินธุรกิจต่อไป 2.ปล่อยให้ล้มละลาย 3.เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของศาล ที่ผ่านมาอาจจะฟื้นฟูไม่ได้ประสิทธิภาพมากนัก เพราะติดขัดข้อกฎหมาย พ.ร.บ.แรงงาน และ พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
"วันนี้จึงจำเป็นต้องหามาตรการที่เหมาะสม โดยได้พิจารณาร่วมกันใน คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และคณะรัฐมนตรี พวกเราทุกคน ตัดสินใจเลือกแนวทางที่ 3 ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีที่สุด แต่จะมีอีกหลายขั้นตอน เพื่อแก้ปัญหาภายในขององค์กรในการดำเนินการประกอบกิจการต่อไป ตามที่พวกเราคาดหวังอยากให้ทุกคนกลับไปคิดว่า มีการบินไทยเพื่อออะไร ในช่วงที่ผ่านมาการบินไทย ควรจะเป็นองค์กรที่สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับคนไทย มีความสามารถในการแข่งขัน และมีความเข้มแข็งในตนเอง" นายกรัฐมนตรี กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ถือเป็นการตัดสินใจของตน และนำสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องกล้าเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู โดยยื่นต่อศาลซึ่งได้มีการหารืออย่างรัดกุม โดยเฉพาะช่วงนี้ เป็นห้วงเวลาที่คนไทยและทั้งโลก กำลังเผชิญวิกฤติโควิด รายได้หายไปจำเป็นต้องรักษาเงินตราของประเทศเอาไว้ เพื่อใช้ในการช่วยเหลือประชาชนในอนาคต ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และกลุ่มหาเช้ากินค่ำ ที่ได้รับผลกระทบ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องมองอย่างรอบด้านทุกมิติ แม้วันนี้จะอยู่ในจุดที่คุมโควิด-19 ได้ เมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่ปัญหาโควิด-19 จะไม่จบแค่นี้ เพราะปัญหาที่รออยู่ คือการแก้ปัญหาดูแลปากท้องประชาชน ที่ทุกคนในประเทศไทยได้รับผลกระทบทั้งสิ้น และยังไม่ทราบว่า เมื่อไหร่จะกลับมาประกอบอาชีพได้เช่นเดิม นี่คือวิกฤตเศรษฐกิจที่จะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต จึงจำเป็นต้องพิจารณาการใช้งบประมาณอย่างละเอียด
ดังนั้น การที่ตัดสินใจให้การบินไทยเข้าสู่แผนฟื้นฟูโดยไม่ปล่อยให้ล้มละลายนั้น เป็นการช่วยชีวิตพนักงานกว่า 20,000 คน ไม่ต้องถูกลอยแพ ยืนยันรัฐบาลสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อให้บริษัทดำเนินการต่อไปได้ อยู่ในความคุ้มครองของศาล โดยศาลจะแต่งตั้งมืออาชีพเข้ามาบริหารงานในการบินไทย ซึ่งคาดหวังว่าการบินไทยจะกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติที่คนไทยเคยภาคภูมิใจ และสร้างความรุ่งเรืองให้กับประเทศไทยได้