แผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีดังกล่าว ได้รับการอนุมัติเมื่อ 2 ปีที่แล้วโดยรัฐบาลญี่ปุ่น โดนแผนดังกล่าวได้รับการมองว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการรื้อถอนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งถูกคลื่นสึนามิซัดถล่มเมื่อเดือน มี.ค. 2554 ทั้งนี้ น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีดังกล่าวเคยถูกใช้เพื่อทำให้เครื่องปฏิกรณ์เย็นลง โดยมันถูกเก็บไว้ที่พื้นที่โรงงาน นับตั้งแต่ โตเกียว อิเล็คทริค พาวเวอร์ (เทปโก) ผู้ประสบภัยพิบัติและผู้ควบคุมโรงงานขาดแคลนพื้นที่ ในการเก็บรักษาน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีเอาไว้
ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวเมื่อวันอังคาร (21 ส.ค.) ว่า เขาได้ขอให้เทปโก “เตรียมการอย่างรวดเร็ว” สำหรับการปล่อยน้ำ และคาดว่า “การปล่อยน้ำจะเริ่มในวันที่ 24 ส.ค. หากสภาพอากาศเอื้ออำนวย” ทั้งนี้ ญี่ปุ่นกล่าวว่าการปล่อยน้ำนั้นปลอดภัย และได้รับการสนับสนุนโดยทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)
นอกจากนี้ หน่วยเฝ้าระวังนิวเคลียร์แห่งสหประชาชาติ อนุมัติในแผนดำเนินการต่อไป หลังจากการเข้าตรวจสอบโรงงานเมื่อเดือน ก.ค. โดยหน่วยเฝ้าระวังระบุว่า มาตรการดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานสากล และผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมมีอยู่ในระดับ “เล็กน้อย”
ถึงกระนั้น ประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่นบางประเทศ โดยเฉพาะจีน ได้ออกมาแสดงความกังขาต่อความปลอดภัยของแผนดังกล่าว โดย หวังเหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวเมื่อเดือน ก.ค. ว่า ญี่ปุ่นแสดงความเห็นแก่ตัวและความเย่อหยิ่ง และอ้างว่าญี่ปุ่นยังไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับประชาคมระหว่างประเทศอย่างเต็มที่ เกี่ยวกับการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีลงมหาสมุทรแปซิฟิก
นักเคลื่อนไหวเกาหลีใต้ได้ประท้วงต่อต้านแผนดังกล่าว แม้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้จะสรุปผลการศึกษาของตัวเองว่า การปล่อยน้ำเป็นไปตามมาตรฐานสากล และกล่าวว่าเป็นไปตามการประเมินของ IAEA ทางการเกาหลีใต้ยังระบุเมื่อวันอังคาร (22 ส.ค.) ว่า เกาหลีใต้ไม่มีปัญหาทางวิทยาศาสตร์หรือทางเทคนิคกับแผนดังกล่าว แม้จะไม่ได้หมายความว่าเกาหลีใต้จำเป็นต้องสนับสนุนแผนดังกล่าวของญี่ปุ่นก็ตาม
น้ำดังกล่าวมีปริมาตรเทียบเท่ากับสระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิกมากกว่า 500 สระ ซึ่งรวมถึงน้ำใต้ดินและฝนที่ซึมเข้าไปในถังบรรจุด้วย ทั้งนี้ น้ำได้รับการเจือจางและกรองเพื่อกำจัดสารกัมมันตภาพรังสี แม้ว่าจะมีไอโซโทปของไฮโดรเจนที่แยกออกจากน้ำได้ยากอยู่บ้าง แต่เทปโกระบุว่า น้ำจะถูกเจือจางจนมีระดับการปนเปื้อน ที่ต่ำกว่าค่าไอโซโทประดับที่เป็นที่ยอมรับในสากล ก่อนที่มันจะถูกปล่อยออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก
น้ำจะถูกปล่อยลงสู่มหาสมุทร บริเวณนอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ในอัตราสูงสุด 500,000 ลิตรต่อวัน
จีนสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดในญี่ปุ่น รวมถึงฟุกุชิมะและกรุงโตเกียว ทั้งนี้ อาหารทะเลจากจังหวัดอื่นๆ ของญี่ปุ่นได้รับอนุญาตให้นำเข้ามายังจีนได้ แต่ต้องผ่านการทดสอบกัมมันตภาพรังสี และมีหลักฐานว่าผลิตนอก 10 จังหวัดที่ถูกสั่งห้าม ในขณะที่ ฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่นรองจากจีน กล่าวว่าการน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีของญี่ปุ่น “ขาดความรับผิดชอบ” และฮ่องกงจะเริ่มการควบคุมการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น เพื่อปกป้องความปลอดภัยของอาหารและสุขภาพของประชาชน
ยังมีความกังวลของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมประมงของญี่ปุ่น ซึ่งธุรกิจต่างๆ เริ่มฟื้นตัวมานานกว่าทศวรรษ หลังภัยพิบัติทางนิวเคลียร์ “การปล่อยน้ำไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อเราเลย” ฮารุโอะ โอโนะ ชาวประมงรุ่นที่สาม วัย 71 ปี ซึ่งพี่ชายของเขาเสียชีวิตในปี 2554 กล่าวกับ AFP ในเมืองชินชิมาจิ ซึ่งอยู่ห่างจากโครงการนิวเคลียร์ไปทางเหนือ 60 กิโลเมตร
ทั้งนี้ โทนี ฮูเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์จากมหาวิทยาลัยแอดิเลดในออสเตรเลีย กล่าววิจารณ์ถึง "การแพร่กระจายของความกลัว" ของกลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมต่อมาตรการดังกล่าวของญี่ปุ่น โดยกล่าวเสริมว่า “ไอโซโทปถูกปล่อยออกมา (โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์) มานานหลายทศวรรษ โดยไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพ” ฮูเกอร์กล่าวกับสำนักข่าว AFP
ที่มา: