นักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์ ต่างพยายามหาคำอธิบายว่า ทำไมเมืองพระนคร หรืออังกอร์ (Angkor) ซึ่งเป็นที่ตั้งของนครวัด และนครธม ถึงถูกทิ้งร้างไปในคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยส่วนใหญ่เชื่อเป็นเกิดจากการรุกรานของอยุธยาในปีพ.ศ. 1974
ทว่างานวิจัยชิ้นใหม่พบว่า เมืองพระนครอาจไม่ได้ล่มสลายลงในคราวเดียว เพราะภัยพิบัติ ปัญหาการจัดการเมือง หรือการบุกยึดของอยุธยา แต่เป็นการค่อยๆ เสื่อมตัวลงอย่างต่อเนื่องต่างหาก
ผศ.แดน เพนนี (Dan Penny) จากวิทยาลัยธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ (School of Geosciences at the University of Sydney) หนึ่งในทีมนักโบราณคดี ผู้ร่วมศึกษาเรื่องนี้กล่าวว่า บันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเมืองพระนครในช่วงศตวรรษที่ 15 ที่ใช้งานได้นั้นไม่มีเลย สิ่งที่เหลือรอดมาทั้งหมดมีเพียงที่ถูกสลักไว้บนหิน
“เราไม่มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่บอกเลยว่า พวกเขาทิ้งนครวัดไปทำไม เมื่อไร อย่างไร” เพนนีเล่าถึงปัญหาในการศึกษาประวัติศาสตร์การเสื่อมถอยของเมืองพระนคร
อย่างไรก็ตาม ในที่ที่มนุษย์อาศัยนั้นจะมีหลักฐานทิ้งไว้ผ่านร่องรอยของการใช้ไฟ พืชรุกรานต่างถิ่น และการพังทลายของหน้าดิน ซึ่งเกิดจากการทำกสิกรรม เมื่อมนุษย์จากไปสภาพดินก็เปลี่ยนแปลง
ในการศึกษาครั้งใหม่นี้ ทีมได้ทำการเก็บตัวอย่างแท่งตะกอนยาว 70 เซนติเมตร จากคูน้ำรอบนครธม นครหลวงของจักรวรรดิขแมร์ หรืออาณาจักรเขมร เพนนี กล่าวว่า แท่งตะกอนเป็นเหมือนหนังสือประวัติศาสตร์ตามธรรมชาติ ที่บันทึกความเปลี่ยนแปลงของการใช้ที่ดิน สภาพอากาศ และพันธุ์พืชในแต่ละปีไว้ ช่วยบ่งบอกว่าคนในพื้นที่อาศัยอยู่กันในพื้นที่นั้นๆ อย่างไรในอดีต
เพนนีชี้ว่า ตั้งแต่ช่วงทศวรรษแรกๆ ของคริสต์ศตวรรษที่ 14 (ปีค.ศ. 1301-1400) พื้นที่พระนครก็มีการใช้ผืนดิน และการเผาไม้ลดลง พันธุ์พืชไม่แน่นอน และการพังทลายของหน้าดินก็ลดต่ำลง
“เมื่อถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 14 คูน้ำทางทิศใต้ของนครธมมีพืชขึ้นรกเกินกว่าปกติ เป็นนัยว่าพื้นที่ขาดการจัดการดูแล” ทีมผู้วิจัยระบุไว้ในการศึกษา สะท้อนถึงสถาพเมืองที่ถูกปล่อยให้ร้างโดยชนชั้นปกครอง
เพนนีอธิบายว่า เมืองพระนคร ไม่เคยถูกทิ้งร้างโดยสมบูรณ์ แต่กลุ่มชนชั้นนำได้ย้ายออกจากพระนครมุ่งหน้าสู่ชุมชนใหม่แห่งอื่นที่มีโอกาสทางการค้ามากกว่า
“นี่ไม่ใช่การล่มสลาย ที่จริงแล้วเป็นการตัดสินใจย้ายออกจากเมืองพระนครเองต่างหาก”
ในขณะที่งานวิจัยที่มีมานานนั้นชี้ว่า ความล้มเหลวของระบบการจัดการน้ำของเมืองพระนคร ซึ่งขึ้นอยู่กับความแปรปรวนของสภาพอากาศ ช่วงกลางศตวรรษที่ 14 และต้นศตวรรษที่ 15 สะท้อนถึงการสิ้นสุดของเมืองพระนครในฐานะถิ่นฐานที่อาศัยได้ แต่ข้อมูลของทีมผู้ศึกษาก็ชี้ว่า การเสื่อมลงของเมืองมีเค้าลางมาก่อนแล้ว จากจำนวนประชากรที่ทยอยลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นช่วงเวลายาวนาน
“ข้อมูลนี้เพิ่มความเป็นไปได้ที่ชนชั้นนำไม่ได้ทิ้งพระนครไป เพราะความล้มเหลวของโครงสร้างพื้นฐานอย่างที่เคยนำเสนอกัน กลับกันโครงสร้างพื้นฐานนั้นล้มเหลวหรือเสื่อมและขาดการบำรุงเพราะชนชั้นนำในเมืองย้ายออกไปต่างหาก”
เมื่อจุดสิ้นสุดของเมืองไม่ได้เกิดจากการที่ผู้คนหายไปเป็นจำนวนมากในคราวเดียว ซึ่งสะท้อนถึงการอพยพด้วยภัยพิบัติ หรือถูกรุกรานโดยชนกลุ่มอื่น แต่เป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องของประชากรในช่วงเวลานานก่อนหน้านั้น
งานวิจัยยังชี้ว่า การใช้ผืนดินในพื้นที่อย่างหนักนั้นค่อยๆ ลดลงก่อนการบุกของอยุธยากว่าร้อยปี การตีความการล่มสลายของเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์นี้จึงมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไป
“การจากไปของชนชั้นปกครองช่วงปลายศตวรรษที่ 14 ทำให้เราต้องมองเหตุการณ์ที่ชาวอยุธยาเข้ายึดครองเมืองพระนครในปีค.ศ. 1431 เปลี่ยนไป และมองชุดเรื่องเล่าของชาวกัมพูชาที่เน้นย้ำความสูญเสียที่เกิดจากการแทรกแทรงของอาณาจักรใกล้เคียงใหม่ด้วย” ทีมผู้วิจัยย้ำ
ที่มา: