เวลา 19.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมในนามคณะราษฎร ได้เคลื่อนขบวนมาถึงบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมี 3 ตัวแทนได้แก่ มายด์ - ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, ไผ่ - จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ วารินทร์ แพทริก เข้ายื่นหนังสือต่อตัวแทนสถานทูตฯ
โดยเเถลงการณ์และหนังสือของคณะราษฎร มีใจความระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบัน มีการแทรกแซงการเมืองเกิดขึ้น ราษฎรทั่วหล้าได้ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เเละคณะลาออก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากราษฎร และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธที่จะทำตามข้อเรียกร้อง ราษฎรจึงต้องยกระดับในการส่งสารว่าราษฎรไม่ยอมอีกแล้ว
"ราษฎรมาที่นี่เพื่อร่วมยื่นหนังสือให้มีการตรวจสอบ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ว่าได้มีการใช้พระราชอำนาจบนดินแดนเยอรมนีหรือไม่ เพราะการณ์ดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่อาจเป็นการละเมิดอธิปไตยเหนือเขตแดน หรืออาจผิดกฎหมายของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี"
ข้อเรียกร้องนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้พระองค์กลับสู่ประเทศไทย และชำระสะสางปัญหาให้สถาบันฯ มาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้ประเทศไทยกลับสู่ครรลองในระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
ยุคสมัยเเห่งการเปลี่ยนแปลงมาถึงเเล้ว สายธารเเห่งประชาธิปไตยอันไหลเชี่ยวมิอาจหยุดยั้งได้ และเมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ ราษฎรจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน"
สำนักข่าวต่างประเทศ Reuters และ Bloomberg รายงานอ้างอิงคำแถลงของ 'ไฮโค มาส' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเยอรมนี ซึ่งมีต่อที่ประชุมสภา ระบุว่า รัฐบาลเยอรมนีจะพิจารณาเรื่องนี้ในระยะยาว และหากพบว่ามีกิจใดๆ ที่เข้าข่ายละเมิดกฎหมาย ก็จะดำเนินการต่อเนื่องตามมา
ขณะที่ นิกเคอิ เอเชี่ยน รีวิว สื่อญี่ปุ่น รายงานด้วยว่า สื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยส่งต่อภาพจดหมายที่ระบุว่าออกโดยสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ส่งถึงกระทรวงการต่างประเทศของไทย โดยเนื้อหาตอนหน่ึงของจดหมายระบุว่า สถานทูตเยอรมนีรู้สึก 'เป็นเกียรติ' ที่ได้รับความสนใจจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย กรณีที่ผู้ชุมนุมระบุว่าจะเดินทางมายังสถานทูตในวันที่ 26 ต.ค.2563
อย่างไรก็ตาม เยอรมนีตระหนักดีถึงสิทธิในการชุมนุมโดยสงบของพลเมืองแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งรวมถึงการชุมนุมในบริเวณใกล้เคียงสถานทูตเยอรมนี และทางสถานทูตพร้อมรับจดหมายที่มีการส่งมอบอย่างสงบจากตัวแทนผู้ชุมนุม และตระหนักดีว่ากระทรวงการต่างประเทศของไทยจะจัดสรรการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสมและได้สัดส่วนตามมาตรา 22 ของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
สื่อญี่ปุ่นได้พยายามติดต่อเพื่อขอคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ประจำสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ว่าจดหมายที่ถูกเผยแพร่ในสื่อออนไลน์เป็นเอกสารที่ถูกต้องและออกโดยสถานทูตจริงหรือไม่ ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า ไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปฏิเสธอย่างจริงจังว่าจดหมายดังกล่าวไม่ใช่เอกสารของทางสถานทูต