ไม่พบผลการค้นหา
กรุงเทพโพลล์ เผยผลสำรวจประชาชนส่วนใหญ่ 50.5 เปอร์เซ็นต์ ชี้สถานการณ์ภัยแล้งทำรายได้พร้อมพืชผลทางเกษตรเสียหาย ขณะที่ 57.0 เปอร์เซ็นต์ ไม่เชื่อมั่นกองอำนวยการน้ำแห่งชาติของหน่วยงานรัฐ

กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสํารวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ประชาชนกับวิกฤตภัยแล้ง 2020” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,182 คน พบว่า กังวลเรื่องการทำเกษตร/รายได้เกษตรกร พืชผลเกษตรเสียหายมากที่สุด หากเกิดสถานการณ์ภัยแล้ง รองลงมาคือ ไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้คิดเป็น 49.1 เปอร์เซ็นต์ และข้าวของราคาแพงขึ้น ราคาสินค้าเกษตรแพงขึ้นคิดเป็น 48.6 เปอร์เซ็นต์

เมื่อถามว่า วิตกกังวลมากน้อยเพียงใดกับสถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะมีความรุนแรงมากเป็นอันดับสองในรอบ 40 ปี นับตั้งแต่ปี 2522 พบว่า ส่วนใหญ่ 72.5 เปอร์เซ็นต์ กังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ 27.5 เปอร์เซ็นต์ กังวลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด 

สำหรับการเตรียมรับมือกับภัยแล้งพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 81.5 มีการเตรียมรับมือ โดยในจำนวนนี้ 67.8 เปอร์เซ็นต์ ใช้น้ำอย่างประหยัดขึ้น รองลงมา 19.5 กักตุนน้ำดื่ม เปอร์เซ็นต์ และ 18.0 เปอร์เซ็นต์ ซื้อถังเก็บน้ำ ขณะที่18.5 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีการเตรียมรับมือ เพราะน่าจะมีน้ำใช้เพียงพอ

เมื่อถามความเห็นต่อสถานการณ์ภัยแล้ง ที่จะเกิดขึ้นมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและอาชีพของท่านมากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ 53.3 เปอร์เซ็นต์เห็นว่ามีผลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ 46.7 เปอร์เซ็นต์เห็นว่ามีผลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด 

เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อการเปิดกองอำนวยการน้ำแห่งชาติของหน่วยงานรัฐ จะสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งและทำให้คนไทยมีน้ำใช้ตลอดทั้งปีได้ ส่วนใหญ่ 57.0 เปอร์เซ็นต์ เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่43.0 เปอร์เซ็นต์ เชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด