จากรายงานข่าวของสำนักข่าวในประเทศไทยระบุว่า ศาลพิเคราะห์คดีแล้วเห็นว่า ในปฏิทิน มีข้อความ "การปกครองในระบอบประชาธิปไตยทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" และรูปเป็ดเหลืองในเดือนต่างๆ ก็มีลักษณะคล้าย ร.10 จึงทำให้เชื่อได้ว่าเป็ดดังกล่าวต้องการสื่อถึง ร.10 ถือว่าเข้าข่ายล้อเลียน และหมิ่นประมาทกษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง จึงตัดสินว่าจำเลยมีความผิดจริง
สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า สืบเนื่องจากกรณีของต้นไม้ ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีประชาชนอย่างน้อย 1,890 คน รวมถึงเยาวชน 284 คนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายต่างๆ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ปราบปรามการประท้วงจำนวนมาก ที่นำโดยเยาวชนซึ่งเริ่มขึ้นในเดือน ก.ค. 2563
ทั้งนี้ สำนักข่าว The Guardian รายงานอีกว่า ในบรรดาผู้ที่ถูกตั้งข้อหาเหล่านี้ มีบุคคลอย่างน้อย 228 คนที่ต้องเผชิญหน้ากับคดีภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของประเทศไทย ซึ่งการฝ่าฝืนมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ถึง 15 ปี โดยมีบุคคลซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนตกเป็นเป้าหมาย จากการปราศรัยทางการเมืองและโพสต์ออนไลน์ รวมถึงการประท้วงในรูปแบบเหน็บแนม อาทิ การสวมชุดแฟนซี
เอเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในแถลงการณ์ว่า คดีของต้นรไม้นี้ “ส่งสารถึงคนไทยทุกคน และทั่วโลกว่าประเทศไทยกำลังก้าวไปไกลกว่าที่จะไม่เข้าใกล้การกลายเป็นประเทศที่เคารพสิทธิประชาธิปไตย"
สำนักข่าว The Guardian รายงานเสริมว่า การประท้วงในประเทศไทยในปี 2563 เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รวมถึงการปฏิรูประบอบกษัตริย์ที่ทรงอำนาจของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามที่ไม่เคยถูกพูดถึงในที่สาธารณะมาก่อน อย่างไรก็ดี การประท้วงจำนวนมากลดน้อยลงในปีถัดมา โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปราบปรามทางกฎหมาย
ในอีกทางหนึ่ง สำนักข่าว BBC รายงานว่า กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยใช้ประโยชน์จากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยการประท้วงของเยาวชนซึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยในเดือน ก.ค. 2563 และต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564 สร้างความตกใจให้กับกลุ่มอนุรักษ์นิยม และนับเป็นครั้งแรกที่นักเคลื่อนไหวรุ่นเยาว์เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบอบกษัตริย์ที่ทรงอำนาจของประเทศ และในระหว่างการชุมนุมบนท้องถนนของพวกเขาได้ล้อเลียนสมาชิกราชวงศ์อย่างเปิดเผย
สำนักข่าว BBC ระบุว่า การทำให้การ์ตูนเป็ดเหลืองเป็นอาชญากรรมเป็นอีกก้าวกระโดดของการใช้กฎหมายของภาครัฐไทย โดยเป็ดเป่าลมยักษ์กลายเป็นจุดเด่นของการประท้วงในปี 2563 เมื่อพวกมันถูกนำเข้ามาเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน และการเยาะเย้ยเพื่อตอบโต้กลยุทธ์การควบคุมการจลาจลที่หนักหน่วงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
สำนักข่าว BBC ย้ำว่า ประเทศไทยมักถูกวิพากษ์วิจารณ์บ่อยครั้ง ทั้งเรื่องการตีความกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่กว้างมาก ความลับของการพิจารณาคดี และการปฏิเสธการให้ประกันตัวเป็นประจำ ตลอดจนอัตราการตัดสินลงโทษเกือบที่เกิดขึ้น 100% และความรุนแรงของโทษที่ได้รับ
สำนักข่าว BBC รายงานต่อไปว่า อย่างไรก็ดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ได้ปฏิเสธคำวิจารณ์นี้ โดยรัฐบาลไทยยังคงยืนยันว่ากฎหมายเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อปกป้องราชวงศ์เพื่อการอยู่รอด ซึ่งถูกมองว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่ออัตลักษณ์แห่งชาติของประเทศไทย นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ไทยยังได้ใช้กฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ของประเทศมากขึ้น เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่โพสต์ความคิดเห็นที่สำคัญในโซเชียลมีเดียอีกด้วย
สำนักข่าว The Guardian และ BBC ยังรายงานถึงกรณีของการอดอาหารและน้ำของ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และ อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ แบม ซึ่งดำเนินการอดอาหารและน้ำอย่างรุนแรงตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา จนเข้าสู่วันที่ 50 ของการประท้วง เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมาย และการให้สิทธิประกันตัว ทั้งนี้ สื่อทั้งสองสำนักรายงานย้ำว่า แบมและตะวันต่างเผชิญหน้ากับข้อกล่าวหาความผิดตามมาตรา 112 ทั้งคู่
ที่มา:
https://www.hrw.org/news/2023/03/08/thailand-man-jailed-selling-yellow-duck-calendars