ไม่พบผลการค้นหา
เสวนา พรรคการเมืองกับอนาคตประชาธิปไตย ปริญญา ชี้ พรรคอนาคตใหม่คือสิ่งสะท้อน คสช. อยู่นานเกินไป ย้ำ อย่าถึงขั้นยุบพรรค สู้กันในสภาดีกว่า ด้าน สมชาย ยกงานวิชาการ ชี้ เมื่อชนชั้นนำเก่าไม่สามารถควบคุมอำนาจได้ จึงใช้ตุลาการเป็นเครื่องมือจัดการพรรคการเมือง

8 ม.ค. 2563 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้จัดเวทีเสวนาพรรคการเมืองกับอนาคตประชาธิปไตย โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.โคทม อารียา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ดำเนินรายงานโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน iLaw

เสวนา ปริญญา สมชาย โคทม รัฐศาสตร์ 8_0001.jpg
หากศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน จะมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจมากจนเกินไป

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวถึงความสำคัญต่อพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ว่าโดยหลักแล้ว ถ้าไม่มีพรรคการเมือง ไม่มีการนำเสนอนโยบายอย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อน กระบวนการทำนโยบายจะเกิดขึ้นไม่ได้ พรรคการเมืองคือเครื่องมือของประชาชนในกระบวนการกำหนดเนื้อหาของนโยบาย กำหนดเนื้อหาของผู้แทน กำหนดตัวผู้แทนจากพรรคที่มีนโยบาย และการกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ระบอบประชาธิปไตยจะขาดพรรคการเมืองไม่ได้ ไม่เช่นนั้นประชาชนจะกำหนดนโยบายของประเทศไม่ได้ กำหนดตัวนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ถ้าไม่มีพรรคการเมือง

โดยหลักแล้ว พรรคการเมืองคือเครื่องมือในการสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชน เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยต้องประกันเสรีภาพในการตั้งพรรคการเมือง ส่วนกลไกการยุบพรรคการเมืองก็เป็นเรื่องปกติ เพื่อไม่ให้เสรีภาพนั้นย้อนกลับมาทำร้ายรัฐธรรมนูญเอง

อย่างไรก็ตาม การยุบพรรคตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มีการบัญญัติเรื่องเหตุจากการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าว หรืออาจจะสั่งให้ยุบพรรค หรืออาจจะสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งด้วยก็ได้ แต่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มีการนำคำนี้ออกจากรัฐธรรมนูญ และนำไปอยู่ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 แทน

แต่สิ่งที่น่ากังวล คือในมาตรา 92 ของ พ.ร.บ.ฯ พรรคการเมือง ระบุว่าถ้ามีการกระทำที่ 'อาจ' จะเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง ก็อาจนำไปสู่การยุบพรรคได้ ในส่วนนี้มีปัญหาที่อาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญได้ และมีการให้ใช้ดุลยพินิจในการตีความกว้างเกินไป สิ่งนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก

ส่วนกรณีของพรรคอนาคตใหม่ที่กำลังเป็นกรณีศึกษาขณะนี้ มีสองเรื่องคือปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองก็เป็นตามที่ตนได้พูดไปแล้ว และเรื่องเงินกู้ ซึ่งตนยังกังขาว่าเป็นเหตุให้นำไปสู่การยุบพรรคได้ด้วยหรือ เพราะใน พ.ร.บ.ฯ พรรคการเมืองไม่มีการระบุว่าเงินกู้เป็นรายได้ของพรรคการเมืองได้ แต่ทั้งนี้ การบอกว่าเงินกู้ไม่ชอบด้วยกฎหมายตนว่าเป็นการไปไกลเกินไป

เพราะหลักกฎหมายมหาชนมีอยู่ชัด ว่าถ้าเป็นองค์กรของรัฐ สิ่งใดที่กฎหมายไม่ให้อำนาจไว้จะทำไม่ได้ แต่ระหว่างประชาชนด้วยกันต้องใช้กฎหมายแพ่ง ถ้าสิ่งไหนกฎหมายไม่ห้ามเอาไว้ย่อมทำได้ พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคล เป็นการรวมตัวกันของพลเมือง ตามหลักกฎหมายแพ่งการไม่ห้ามแปลว่าทำได้ หลักมีอยู่แล้ว

“ถ้าวิเคราะห์กันในทางการเมือง พรรคอนาคตใหม่เราจะชอบหรือไม่ชอบ เลือกหรือไม่เลือกก็ตาม เป็นปฏิกิริยาต่อการที่ คสช.อยู่ในอำนาจนานเกินไป อย่าลืมว่าพรรคตั้งก่อนเลือกตั้งแค่ปีเดียว ถ้าความสุขจะกลับคืนมาไม่นานเหมือนสัญญาไว้ตอนยึดอำนาจใหม่ๆ ถ้าไม่มีการสืบทอดอำนาจ ก็คงจะไม่มีพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้น คนเลือกพรรคอนาคตใหม่มีจำนวนไม่ใช่น้อย 6 ล้านกว่าเสียง ผมว่าให้สู้กันในสภาดีกว่า ถ้าการกระทำของเขามันไม่ถึงขั้นล้มล้างระบอบการปกครองมันไปถึงขั้นยุบพรรคไม่ได้ การกระทำตรงไหนที่มีปัญหาก็ไปบอกให้เลิกการกระทำก็พอ ให้สู้กันในสภาดีกว่า” ผ.ศ.ปริญญากล่าว

ผ.ศ.ปริญญายังกล่าวต่อว่า ข้อที่ตนเป็นห่วงคือสุดท้าย คือฝ่ายตุลาการต้องเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร นี่เป็นหลักการทั่วโลก ฝ่ายบริหารห้ามเลือกฝ่ายตุลาการ จะได้เกิดความเป็นกลางในการทำหน้าที่ แต่การที่ สนช.มาจาก คสช.เป็นคนเลือกศาลรัฐธรรมนูญ และต่อไปนี้ ส.ว.ที่ คสช.แต่งตั้งมาเช่นกัน จะเป็นคนเลือกศาลรัฐธรรมนูญต่อ อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้กำลังจะกล่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่เป็นกลาง แต่สิ่งนี้กำลังทำให้สังคมเกิดความคลางแคลงใจต่อความเป็นกลาง

ผศ.ดร.ปริญญา ยกตัวอย่าง ตอนที่ 'พรรคกรีน' ประเทศเยอรมนี ผ่านด่าน 5 เปอร์เซ็นต์ ในปี 1983 แต่ก่อนนี้ที่ประเทศเยอรมนีมีแค่ 3 พรรค เป็นแบบคลาสสิกของยุโรป ไม่มีพรรคไหนเข้าสภาได้อีกจนกระทั่งถึงจุดสำคัญ แม่น้ำประเทศเยอรมนีเน่าเสีย จึงเกิดเป็นพรรคกรีนขึ้นมา ประเด็นคือว่า เลือกตั้งครั้งต่อมา พรรคกรีนได้คะแนน 8.3 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาลดลงเหลือ 5.1 ผศ.ดร.ปริญญา ตั้งคำถามว่า ทำไมคนเยอรมันไม่เลือกพรรคกรีนมากไปกว่านี้ จากการศึกษาของ ผศ.ดร.ปริญญา พบว่า พรรคการเมืองดั้งเดิมไม่ยอมเสียฐานเสียง จึงพยายามออกนโยบายสิ่งแวดล้อม พอมีนโยบายสิ่งแวดล้อม คนเลือกพรรคกรีนจึงน้อยลง พรรคอนาคตใหม่ก็จะเป็นตัวอย่าง ให้พรรคการเมืองอื่นทำแบบนี้

ปริญญา 08_0008.jpg

ด้าน รศ.สมชาย กล่าวเสริมย้ำในสิ่งที่ ผศ.ดร.ปริญญา ยกตัวอย่าง 'พรรคกรีน' ในประเทศเยอรมนี ว่า การเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทย ทำให้พรรคอื่นๆ ต้องปรับตัว เช่นกัน

สิ่งที่กำลังเป็นปัญหาใจกลางสำคัญของระบอบการเมืองไทยในปัจจุบัน คือ "การเมืองไทย เป็นเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ว่า จะจัดวางความสัมพันธ์ของสถาบันทางอำนาจอย่างไร เนื่องจากชนชั้นนำต้องรักษาผลประโยชน์"

รศ.สมชาย ได้ยกงานวิชาการของ แรน เฮิร์ช (Ran Hirschl) ในแนวคิดเรื่อง 'มุ่งหน้าไปสู่ตุลาการธิปไตย' คือ ตุลาการมีอำนาจสูงมากขึ้น โดยแรน เฮิร์ช ได้ศึกษาจากกรณีของประเทศในแอฟริกา

แรน เฮิร์ช เสนอว่า ในสังคมที่ชนชั้นนำยังสามารถคุมระบบเลือกตั้งได้ โดยปกติอำนาจตุลาการเป็นอำนาจที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ใช้สำหรับแก้ไขความขัดแย้ง แต่เมื่อไหร่ที่ชนชั้นนำไม่สามารถคุมอำนาจในรัฐสภาได้ ตุลาการก็จะเข้ามามีอำนาจ


และตุลาการก็มักจะเชื่อมโยงกับชนชั้นนำ...

รศ.สมชาย ชวนย้อนกลับมาดูสังคมไทย หลังการเกิดขึ้นของ รัฐธรรมนูญ 2540 และหลังการรัฐประหาร 2549 สังคมการเมืองไทย การเลือกตั้งที่ผ่านมา เราไม่รู้สึกว่าพรรคการเมืองพรรคดันนโยบายอะไร จนมีพรรคไทยรักไทย เปลี่ยนสิ่งที่เรียกว่าภูมิรัฐศาสตร์ทางการเมืองไทย พรรคไทยรักไทยเติบโตกลายเป็นพรรคใหญ่ ชนชั้นนำเดิมเริ่มจะคุมไม่ได้ เราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงที่คล้ายกัน

บทบาทอำนาจตุลาการ องค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ หรือแม้กระทั่ง กกต. ปปช. เป็นเครือข่ายของอำนาจตุลาการทั้งหมด สิ่งที่งานของแรน เฮิชเสนอทำให้เห็นแง่มุม 

สมชาย ปรีชาศิลปกุล 0009.jpg

รศ.สมชายกล่าวว่า ช่วงเวลาหลัง 2549 เขา (ชนชั้นนำ) ไม่ได้ทำลายสนามพรรคการเมือง แต่ทำลายพรรคการเมืองเข้าไปยุบพรรคการเมือง แต่ไม่คิดว่ายุบแล้วเกิดใหม่ได้ แล้วเวลายุบ พรรคกรเมืองเสียงข้างมากตกเป็นเป้าหมาย 

กระทั่ง หลังเลือกตั้ง 2560 พรรคอนาคตใหม่โดนคดี ถึงตอนนี้ สิ่งที่เราจะเห็นก็คือว่า เป้าหมายอยู่พรรคที่เป็นปฏิปักษ์ต่อชนชั้นนำ ซึ่งก็คือ พรรคอนาคตใหม่


ข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่ กระทบประโยชน์ อำนาจ ของชนชั้นนำดั้งเดิม ยกตัวอย่าง ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ยกเลิกงบประมาณกองทัพ ชนชั้นนำก็เลือกที่จะใช้ 'อำนาจตุลาการ' มาทำหน้าที่


เมื่อตุลาการเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคการเมืองไทย

รศ.สมชาย วิเคราะห์ว่า ตุลาการภิวัฒน์ที่เกิดขึ้นเพราะมีอำนาจนำที่มี 'บารมีอย่างสำคัญ' แต่ทว่า ในตอนนี้อำนาจนำใหญ่ในสังคมไทย แตกต่างไปจากเดิม เขาตั้งข้อสังเกต โดยการชี้ให้เห็นว่า ทำไมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหมดวาระการทำหน้าที่แล้ว จึงไม่ตั้งใหม่ กลับยื้อเวลา เหมือนกับว่า รอให้มีการวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ก่อน สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะ อำนาจนำที่มีบารมีแตกต่างกัน จะตั้งคนใหม่ ก็ไม่ไว้วางใจ สะท้อนความชอบธรรมตอนนี้ของรัฐบาล

“ยุบไปเลยครับ อย่าปล่อยให้เกิดการแพร่กระจายการกระทำแบบนี้ เกิดขึ้น แล้วจะได้รู้ว่าการยุบพรรคการเมืองไม่ได้ให้ประเด็นปัญหาความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมจบไปด้วย“


ภาคประชาสังคม ห่วง หากยุบพรรคที่ยึดโยงประชาชน เสียงของประชาชนในสภาจะหายไป

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ในฐานะนักเคลื่อนไหว ภาคประชาสังคม กล่าวว่า ที่ผ่านมา เมื่อประชาชนได้รับผลกระทบ ในรัฐบาลยุค คสช. เช่น นโยบาย EEC กฎหมายออกมาในยุค คสช. แม้ภาคประชาชนพยายามคัดค้านแต่ก็ไม่เป็นผล เมื่อเกิดผลกระทบต้องถูกตรวจสอบ การไปที่รัฐบาล แต่ คสช. ไม่มีการฟังเสียงประชาชน แต่พอตั้งรัฐบาลใหม่ หลังจากการเลือกตั้ง ภาคประชาชนก็ผลักดันให้มี กมธ. ให้มีการตรวจสอบ อย่างน้อย ประเด็นนี้ถูกผลักดันเข้าไป ภาคประชาชนได้เข้าไปนั่งในอนุกรรมาธิการมีกลไกต่างๆ ในระบบพรรคการเมือง ที่จะตรวจสอบปัญหา

เสวนา รัฐศาสตร์

สุภาภรณ์ กล่าวว่า ถ้าพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์เอื้อประชาชนยุบไป ถ้าพรรคที่สืบทอดอำนาจโดยไม่มีเสียงคัดค้านอยู่ต่อ คิดว่าเสียงประขาชนคงหายไป ถ้าเสียงในสภาไม่มี เราก็คงต้องใช้พื้นที่อื่นในการส่งเสียงต่อไป


ควรเปิดพื้นที่การเมือง - อย่ากีดกันคนรุ่นใหม่ออกนอกระบบรัฐสภา

ด้าน ร.ศ.โคทม อารียา อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถาม ว่าพรรคการเมืองสามารถเป็นภัย เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้มากน้อยแค่ไหน แต่เดิมเรากลัวว่าพรรคการเมืองจะถูกครอบงำโดยอำนาจคณาธิปไตย ตกอยู่ภายใต้อำนาจของใครคนหนึ่ง ต่อมามีการขยายความมาถึงอะไรก็ตามที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ให้ใครคิดเป็นอย่างอื่นในทางการเมือง โดยเฉพาะในเรื่องของความจงรักภักดี

โคทม อารียา รัฐธรรมนูญ 108_0018.jpg

พรรคการเมืองคือเครื่องมือที่ทำให้ประชาชนอย่างเราสามารถเลือกตามยุทธศาสตร์ นโยบายสาธารณะ และทิศทางการปกครองของประเทศ พรรคการเมืองจึงเป็นหัวใจของประชาธิปไตย แต่ขณะนี้เรากำลังมีความพยายามยุบพรรคการเมือง ซึ่งการยุบพรรคการเมืองที่ผ่านมาผลเป็นอย่างไร เราก็ทราบมาแล้วว่ามันนำไปสู่ความยืดเยื้อ แต่พวกเขาก็ยังจะใช้วิธีการเหล่านี้ต่อไป

“พรรคการเมืองที่มีนโยบายที่ดีรับฟังได้ ทำไมไม่เปิดพื้นที่ให้เขาดำเนินการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ถ้ามีพรรคการเมืองเหล่านี้ ประชาธิปไตยจะเข้มแข็ง อย่าไปพิฆาตเขาเลย” ร.ศ.โคทมกล่าว

นอกจากนี้ ร.ศ.โคทมยังกล่าวถึงคดีเงินกู้ โดยระบุว่าในความเห็นของตน เงินกู้ไม่ใช่รายได้เด็ดขาด เพราะเป็นเงินที่ต้องคืน ตนเคยไปตรวจสอบมาว่ามีพรรคการเมืองไหนที่กู้เงินเขามาบ้างหรือไม่ ตนก็ตรวจสอบเจอว่ามีหลายพรรค กู้มาก็ต้องคืน บังเอิญจำนวนกู้ไม่เท่ากัน แต่ถ้าพรรคอนาคตใหม่ผิด พรรคอื่นๆ ก็น่าจะต้องผิดด้วย