วิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ เผยสถิติที่ศาลสั่งคุมความประพฤติมีทั้งหมด 1,648 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถในขณะเมาสุรา 1,646 คดี คดีขับรถประมาท 2 คดี ซึ่งมีตัวเลขสถิติยอดรวม 5 วันที่มีการควบคุมเข้มงวด ตั้งแต่วันที่ 10 – 14 เม.ย.จำนวนทั้งสิ้น 3,743 คดี จำแนกเป็น
สำหรับจังหวัดที่มีสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ 1. จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 290 คดี 2. จังหวัดเชียงราย จำนวน 264 คดี และ 3. จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 251 คดี
อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า กรมคุมประพฤติ เน้นย้ำมาตรการคุมเข้มสำหรับผู้กระทำผิดในฐานความผิดขับรถในขณะเมาสุรา โดยศาลสั่งใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) 11 ราย ยอดสะสม 5 วันขยับเป็น 19 ราย โดยมีเงื่อนไขห้ามออกจากที่พักอาศัยในช่วงเวลาตั้งแต่ 22.00 น. – 04.00 น. เป็นระยะเวลา 15 วัน พักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นเวลา 6 เดือน เฝ้าติดตามและควบคุมดูแลผู้กระทำผิดตลอด 24 ชั่วโมงผ่านศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring Control Center - EMCC) อีกทั้งยังมีการคัดกรองตามแบบประเมินพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกราย
หากพบว่า มีความเสี่ยงสูงในการติดสุรา จะส่งบำบัดรักษาอาการติดสุรา ณ สถานพยาบาล ตลอดจนประเมินความเสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำเพื่อควบคุมเข้มงวด หรือพบว่ามีประวัติการกระทำผิดซ้ำ จะนำส่งเข้ารับการแก้ไขฟื้นฟูแบบเข้มข้นในรูปแบบค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นระยะเวลา 3 วันต่อเนื่อง ซึ่งมีกิจกรรมทั้งการให้ความรู้ และการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากผู้ขับรถขณะเมาสุรา เพื่อสร้างจิตสำนึกในเรื่องความรับผิดชอบต่อผลการกระทำของตัวเองที่มีต่อบุคคลอื่นและสังคม
นอกจากนี้ กรมคุมประพฤติ โดยสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ ร่วมกับอาสาสมัครคุมประพฤติ ภาคีเครือข่าย และผู้ถูกคุมความประพฤติ ยังคงสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการให้บริการประชาชน พร้อมทั้งจัดให้มีการทำงานบริการสังคม โดยการตรวจเยี่ยม แจกน้ำดื่ม ตรวจวัดอุณหภูมิและให้คำแนะนำในการป้องกันตนเองจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 แก่ประชาชนที่เดินทาง ณ จุดบริการประชาชน ด่านชุมชน และด่านตรวจค้น จำนวน 65 จุด มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนทั้งสิ้น 439 คน
ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีความห่วงใยประชาชน ในการเดินทางกลับจากภูมิลำเนา ภายหลังสิ้นสุดช่วงหยุดยาวสงกรานต์ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ฯลฯ บูรณาการร่วมกันอำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีการเดินทางจำนวนมากตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. เป็นต้นไป
โดยเน้นย้ำมาตรการลดอุบัติเหตุ ลดการเสียชีวิต ซึ่งต้องควบคุมการปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่ใช้ความเร็วรถเกินกฎหมายกำหนด รวมถึงเข้มงวดพฤติกรรมการเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของอุบัติเหตุและการเสียชีวิตในช่วงเทศกาลสำคัญ โดยให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังเน้นย้ำถึงมาตรการป้องกันโรควิด-19 ระหว่างการเดินทาง โดยเฉพาะการรวมตัวของคนหมู่มาก ไม่ว่าจะเป็น ตามปั้มน้ำมัน และจุดบริการพักรถ รวมไปถึงรถโดยสารสาธารณะ จึงกำชับให้ทางจังหวัด ประสานกับสาธารณสุขจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของประชาชน ป้องกันไม่ให้มีการรวมตัวกันมากเกินไป มีระบบคัดกรองประชาชน รวมถึงประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังโรค ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการลดการติดเชื้อโควิด-19
“นายกรัฐมนตรี ขอให้ประชาชนทุกคนเดินทางกลับไปทำงานอย่างปลอดภัย ขับขี่ยานพาหนะด้วยความไม่ประมาท มีสติ ดื่มไม่ขับ และขอให้ป้องกันตนเอง หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง หรือ พื้นที่ที่มีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก ปฏิบัติตามมาตรการ DMHT คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ ตรวจอุณหภูมิก่อนเข้าใช้บริการ ซึ่งหากทุกคนช่วยกันป้องกันตัวเองเป็นอย่างดีแล้ว สถานการณ์การติดเชื้อก็จะลดลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว” ไตรศุลี กล่าว