นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ผู้อภิปรายร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2563 ว่า จากหลักการและเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจง การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของรัฐสภาไทยที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน การโอนงบประมาณรายจ่ายในประวัติศาสตร์มีมา 5 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 ซึ่ง 5 ครั้งที่ผ่านมาเป็นการผ่านสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
สำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ อาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 143 และ 144 ในการพิจารณา เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปี และร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายเพิ่มเติม แต่ที่สำคัญสมาชิกมีข้อจำกัดมากในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 143 และ 144 เขียนไว้ชัดว่าจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน สมาชิกวุฒิสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน ไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญสมาชิกไม่สามารถแปรญัตติในการเปลี่ยนแปลงรายการหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการ ทำได้เฉพาะการตัดทอนหรือลดรายจ่ายเท่านั้น ดังนั้นสมาชิกมีหน้าที่ลดหรือตัดทอนตัวรายจ่าย ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการโอนงบประมาณรายจ่าย ก็ตีความได้ว่าเป็นรายจ่ายก็สามารถปรับลดจำนวนหรือตัวรายจ่ายที่อยู่ในรายการได้
จากหลักการและเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีได้แถลง ตนได้พิจารณาด้วยความละเอียดถี่ถ้วนจากเอกสาร ซึ่งมีทั้งหมด 5 มาตรา โดยมาตราที่สำคัญคือ มาตรา 4 จากการดูในรายละเอียดทั้งหมดแล้ว ไม่สามารถที่จะรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ เนื่องจากดูจากหลักการที่บอกให้โอนงบประมาณรายจ่ายจากหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นหน่วยรับงบประมาณ โอนจากรายจ่ายที่เป็นงบบูรณาการ และสำนักบริหารหนี้สาธารณะ ทั้งหมด 38 รายการ 22 หน่วยรับงบประมาณ มาตั้งไว้ในงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เหตุผลที่ตนไม่รับหลักการ เพราะขัดหลักประชาธิปไตยและกฎหมายอื่นๆ เพราะการจัดสรรงบประมาณมีหลักการ คือ ความจำเพาะเจาะจงของตัวงบประมาณ ต้องมีวัตถุประสงค์ แผนงาน เม็ดเงินที่ชัดเจน และการนำงบประมาณไปใช้ต้องคำนึงถึงหลักความยินยอมของประชาชน โดยผ่านรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชน
หลักการสำคัญคือสภาต้องสามารถตรวจสอบได้ การโอนงบประมาณ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 มาตรา 53(1) เขียนไว้ชัดเจนว่าห้ามโอนข้ามระหว่างหน่วยงาน เว้นแต่มีกฎหมายบัญญัติ ซึ่งงบกลางไม่ใช่หน่วยรับงบประมาณ เป็นประเภทรายจ่ายประเภทหนึ่งเท่านั้นเอง โดยผู้บริหารผู้ใช้งบประมาณคือนายกรัฐมนตรี ดังนั้นหลักประชาธิปไตยต้องชัดเจน ตรวจสอบได้ โปร่งใส
ให้ฉายานายกรัฐมนตรี "จอมโอนแห่งยุค"
ทั้งนี้ รายการการโอนงบประมาณในครั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบในอดีตย้อนไป ซึ่งต้องให้ฉายานายกรัฐมนตรีว่า #จอมโอนแห่งยุค เพราะไม่เคยมีใครโอนงบประมาณมากมายเท่ากับสมัยที่ของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยในรัฐบาล คสช. มีการโอนงบประมาณไป 4 ครั้ง เม็ดเงินรวม 53,000 ล้านบาท และส่วนใหญ่โอนไปไว้ในงบกลาง
อีกเหตุผลที่ไม่สามารถเห็นชอบหลักการได้ คือ ความสมเหตุสมผลที่จะนำงบประมาณไปใช้ นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะนำไปใช้อยู่ 3 เหตุผลใหญ่ 1.แก้ไขปัญหาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 2.นำไปป้องกันแก้ไขเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ภัยแล้ง 3.นำไปป้องกันเหตุภัยพิบัติอื่นๆ เราเป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ในรายละเอียดของการโอนไปใช้ สิ่งที่ควรจะเป็นต้องตั้งเวลาไว้ 105 วัน เพราะเพื่อให้ดูในรายละเอียด ต้องหลีกเลี่ยงการนำไปเข้างบกลางให้มากที่สุด สภาแห่งนี้อาจจะยอมได้บ้าง แต่ไม่ควรยอม 88,000 ล้านบาท เพราะหากยอมเราจะไปสนับสนุนนายกรัฐมนตรีให้เป็นจอมเลี่ยงหลักนิติธรรม เพราะนายกรัฐมนตรีไม่เคยปกครองตามกฎหมาย แต่ใช้กฎหมายปกครอง ตั้งแต่เข้าสู่ตำแหน่ง มีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี และเมื่อเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศก็มีการแก้ระเบียบเพื่อรองรับกรอบวินัยการเงินการคลัง ดังนั้นลักษณะแบบนี้เหมือนกับมัดมือสภาให้อนุมัติเหมือนตีเช็คเปล่า
"หากสภาแห่งนี้อนุมัติ สภาของเราจะเป็นที่มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชนชุดแรก สภาชุดที่ 25 นี้ในสมัยประชุมที่ 1 ปีที่ 2 ครั้งที่ 2 วันนี้ จะเป็นรอยด่างเขียนไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยว่าถูกมัดมือชก อนุมัติเห็นชอบกฎหมายโอนงบประมาณที่ไม่ควรจะเห็นชอบเลย" นพ.ชลน่าน กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :