ไม่พบผลการค้นหา
การฆ่าตัวตายของเด็กญี่ปุ่นพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีการศึกษาที่ผ่านมา โดยเด็กที่ฆ่าตัวตายมีอายุน้อยที่สุดเพียง 6 ปี

กระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นเปิดเผยว่าในปีการศึกษา 2563 ที่ผ่านมา มีเยาวชนอายุระหว่า 6-18 ปี ฆ่าตัวตายสูงเป็นประวัติการณ์มากถึง 417 ราย นับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเริ่มบันทึกมาในปี 2517 โดยตัวเลขนี้สูงกว่าการฆ่าตัวตายของเด็กในปีการศึกษา 2562 ราว 31% โดยในปีดังกล่าวมีการฆ่าตัวตายของเด็กนักเรียนทั้งสิ้น 317 ราย

สำนักข่าว NHK ของญี่ปุ่นชี้ว่า ปัญหาครอบครัว ผลการเรียนย่ำแย่ ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมชั้นเรียน ไปจนถึงอาการป่วย ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กๆ กลุ่มนี้ตัดสินใจที่จะจบชีวิตตัวเองลง อย่างไรก็ตาม จากการฆ่าตัวตาย 417 ครั้งในปีการศึกษาที่ผ่านมา มากกว่าครึ่ง 'ไม่สามารถระบุสาเหตุได้'

รายงานที่ถูกเปิดเผยออกมายังระบุด้วยว่า ในปีการศึกษา 2563 มีนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น 'ไม่เข้าเรียนเกิน 30 วัน' มากถึง 190,000 คน ถือเป็นอัตราที่สูงที่สุด และมากกว่าปีการศึกษาก่อนหน้าถึง 8%

อิกุชิ อาริชิกะ ผู้อำนวยการฝ่ายเด็กและนักเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นชี้ว่า "อัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างมาก" พร้อมย้ำว่าวิกฤตโรคระบาดเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนและพฤติกรรมของเด็กๆ สิ่งสำคัญคือการทำให้ผู้คนสามารถแบ่งปันช่องทางการช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ และช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าเรียนในชั้นเรียนปกติ ให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้ส่งแบบสำรวจไปยังทุกระดับชั้นเรียนในทุกโรงเรียนทั่วประเทศ ผลปรากฎว่า นอกจากปัญหาการฆ่าตัวตายของเด็กๆ ก็ยังมีเรื่องการกลั่นแกล้ง การบูลลี่ และการหนีเรียนอย่างต่อเนื่องเกิดขึ้น โดยมีนักเรียนราว 30,000 คนที่ทำแบบสำรวจระบุว่าพวกเขาหนีเรียนมากกว่า 30 วันเพราะความกังวลเรื่องการระบาดของโควิด-19