ไม่พบผลการค้นหา
รองนายกฯ ชี้วิกฤตต้มยำกุ้งเป็นบทเรียนสำคัญเรื่องการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ย้ำไม่ควรปล่อยให้ตลาดตราสารหนี้ล้มจนเป็นโดมิโนไปทับส่วนอื่น แจงเม็ดเงินกู้ 400,000 ล้าน เป็นโครงการที่สร้างงานได้จริง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ลุกชี้แจงต่อสภาฯ ประเด็นที่มาที่ไปของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การเงินทั้ง 3 ฉบับ ย้ำทุกการตัดสินมีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปถึงทุกภาคส่วนทั้งประชาชน เอกชน รวมถึงความเสี่ยงที่มีต่อระบบเสถียรภาพระบบการเงิน 

สมคิด 0003.jpg
  • สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

อุ้มตลาดตราสารหนี้ = อุ้มคนรวย ?

รองนายกฯ ชี้แจงในประเด็น พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก จัดตั้งกองทุน BSF ดูแลสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้เอกชน (หุ้นกู้) ว่าในช่วงแรกที่โลกเข้าสู่วิกฤตโรคระบาดอย่างจริงจัง นักลงทุนเกิดความตระหนกกับข่าวสารอย่างมากจนพากันถอนเงินออกจากหน่วยลงทุน ซึ่งทำให้บางกองทุนจำเป็นต้องปิดกองทุนลงไป

อีกทั้งด้วยตนเคยผ่านวิกฤตในทำนองเดียวกันมาแล้ว คือย้อนกลับไปช่วงปี 2540 จึงมองออกว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เศรษฐกิจจริงของประเทศมีปัญหา การผลิต การเดินทางหยุดชะงัก มักจะพันไปถึงตลาดเงินและตลาดทุน ยิ่งขนาดตราสารหนี้ภาคเอกชนในปัจจุบันใหญ่มีขนาดใหญ่กว่าเมื่อตอนที่ประเทศต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตต้มยำกุ้งมาก การไม่เข้าไปดูแลตลาดตราสารหนี้เหล่านี้ จะสร้างปัญหาไปถึงสถาบันการเงินในที่สุด เหมือนสมัยปี 2540 ที่สถาบันการเงินล้มกันหลายแห่งและตนที่อยู่ในรัฐบาลในสมัยนั้นที่นำโดยพรรคไทยรักไทยต้องเข้าไป 'เก็บศพ' มากมาย


"ผ่านไทยรักไทยมาแล้ว ต้องตามไปเก็บศพ ครั้งนี้เราจะไม่รอขนาดนั้น" สมคิด กล่าว

นายสมคิดปิดท้ายประเด็นกองทุน BSF ว่าอย่ามองเป็นการอุ้มคนรวย เพราะเป้าหมายคือการช่วยทุกฝ่าย แต่การปล่อยให้บริษัทเหล่านี้ล้มลงหรือการปล่อยให้บริษัทขนาดใหญ่ล้ม ก็จะส่งผลกระทบไปถึงสายการผลิต เอสเอ็มอี หรือแม้แต่ประชาชนที่เป็นพนักงานลูกจ้างของบริษัทเหล่านี้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น "ครั้งนั้น (ปี 2540) เราก็ไม่ได้อุ้มเจ้าสัว" และครั้งนี้ตนเองก็ไม่ได้อุ้มเจ้าสัวเช่นเดียวกัน 

ส่วนประเด็นเรื่องการช่วยเหลือเอสเอ็มอีนั้น นายสมคิดยอมรับปัญหาเรื่องการเข้าถึงวงเงินช่วยเหลือของผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยที่อาจจะเข้าไม่ถึงซอฟต์โลนจากประเด็นต่างๆ ว่ารัฐบาลรับรู้ดี และกำลังจัดตั้งกองทุนพิเศษเพิ่มเติมผ่านกระทรวงการคลังซึ่งจะเข้าไปอุดช่องว่างดังกล่าว


400,000 แสนล้านที่ยังล่องหน 

อีกหนึ่งประเด็นที่นายสมคิดออกมาชี้แจงคือเม็ดเงินที่จะนำไปใช้เพื่อการสนับสนุนการฟื้นตัวภาคเศรษฐกิจหลังจบวิกฤตโควิด-19 ว่ารัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นขึ้นมาทดแทนภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักและจะยังไม่ฟื้นตัวในระยะเวลาอันใกล้

พร้อมย้ำว่า เงินกู้มูลค่า 400,000 ล้านบาท นี้จะถูกบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ที่ต้องให้เกิดการจ้างงานจริงในท้องถิ่น และยังมีคณะกรรมการกลางดูแลป้องกันไม่ให้ฝั่งการเมืองเข้าไปแทรกแซงได้ แต่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายอย่างแน่นอน

โดยนายสมคิด ยังได้พูดถึงโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ว่าเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่มีโครงการนี้มารองรับเพื่อรอหลังโควิด-19 ไทยจะพร้อมดำเนินเศรษฐกิจของประเทศต่อทันที ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม, เมียนมา หรือแม้แต่สิงคโปร์ ก็ยังไม่มีโครงการความหวังแบบนี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :