ไม่พบผลการค้นหา
มติ ศบค.ปรับมาตรการเข้าไทย ลดวงเงินประกันสุขภาพเหลือ 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ลดตรวจ RT- PCR เหลือเพียงครั้งแรกที่เข้าไทย ให้ตรวจ ATK ในวันที่ 5 โดยมีผล 1 มี.ค.นี้ ขณะที่ยอดชดเชยค่าบริการโควิดใน รพ.รัฐ-เอกชน จ่ายปี 63-65 แล้วเกือบ 100,000 ล้านบาท

วันที่ 23 ก.พ. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือ ศบค. แถลงภายหลังการประชุมศบค. ชุดใหญ่ ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. เป็นประธาน ว่า ระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักรของโรคโควิด-19 ยังคงเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลง โดยมีพื้นที่ควบคุม 44 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง 25 จังหวัด พื้นที่สีฟ้านำร่องท่องเที่ยว 8 จังหวัด จังหวัดอื่นที่ดำเนินการบางพื้นที่ 18 จังหวัด 

สำหรับรายงานการจ่ายค่าบริการโควิด-19 ในปี 2563 จ่ายแล้ว 3,841.15 ล้าน โดยเป็นส่วนของกรมบัญชีกลาง ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่นเดียวกันกับปี 2564 จ่ายไปแล้ว 97,747.94 ล้าน

ในส่วนปี 2565 หลักประกันสุขภาพแห่งชาติจ่ายไปแล้ว 32,488.00 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างเสนอของบเพิ่มอีก 51,065.13 ล้าน อย่างไรก็ตาม ยอดการจ่ายชดเชยค่าบริการ โควิด-19 ปี 2563- 2565 ประเภทโรงพยาบาลรัฐจำนวน 3,506 แห่ง ประมวลผลจ่าย 74,084 ล้านบาท ตรวจสอบผ่าน 70,994 ล้านบาท ตรวจสอบไม่ผ่าน 3,090 ล้านบาท ขณะที่เอกชน 672 แห่ง ประมวลผลจ่าย 27,260 ล้านบาท ตรวจสอบผ่าน 27,160 ล้านบาท ตรวจสอบไม่ผ่าน 100 ล้านบาท รวมแล้วประเทศไทยจ่ายไปเกือบ 100,000 ล้านบาท 

ขณะที่สัดส่วนเงินที่ใช้สำหรับ UCEP COVID แยกรายสีผู้ป่วย จำนวนบริการ 768,491 ครั้ง ข้อมูลระหว่างปี 2563- 2564 เขียวโดยกลุ่มสีเขียว 88% กลุ่มสีเหลือง 11% และกลุ่มสีแดง 1% สีเขียว 

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้นำเสนอการปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศแบบ Test & Go ให้ปรับมาตรการป้องกันโรคโดยไม่ต้องตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 โดยให้ตรวจ RT-PCR วันแรกที่เข้าประเทศไทย และให้ไปตรวจแบบ ATK และแจ้งผลผ่านแอปพลิเคชัน ในวันที่ 5 ของการเดินทางเข้ามาอยู่ในประเทศไทย รวมถึงเสนอปรับลดประกันสุขภาพจากเดิมไม่น้อยกว่า 50,000 เหรียญสหรัฐ เป็นวงเงินคุ้มครองไม่น้อยกว่า 20,000 เหรียญสหรัฐ โดยจะจะมีผลบังคับใช้ 1 มี.ค. 2565 นี้

นายกรัฐมนตรี ยังฝากขอบคุณโดยเฉพาะคนที่ทำงานหนักไม่ว่าจะเป็นคอลเซ็นเตอร์ทั้งหลาย ซึ่งได้มีการโทรไปเองและได้ให้กำลังใจกับทุกคน และขอบคุณผู้ที่ทำงานในภาคประชาสังคมที่ไปช่วยทีมภาครัฐดูแลคนที่เจ็บป่วยและรอคอยการดูแลอยู่ตามบ้าน รวมถึงส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

‘สาธิต’เผยศบค.ย้ำทุกจังหวัดเพิ่มศูนย์พักคอย รองรับผู้ติดเชื้อ

ด้าน สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ระบุหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า ที่ประชุมมีความกังวลเกี่ยวกับจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้น โดยให้ดำเนินมาตรการดูแลเหมือนเดิม และเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติตามสถานการณ์ที่เข้มข้นขึ้น นอกจากนี้ยังเน้นย้ำเรื่องการรักษาตัวที่บ้าน (โฮม ไอโซเลชั่น - HI) หรือที่ศูนย์พักคอยชุมชน (คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น -CI) อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ไม่ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษ 

สาธิต กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ประชุมสั่งการให้พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมถึงจังหวัดอื่นๆ เพิ่มจำนวนศูนย์พักคอยชุมชน ควบคู่กับการทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องการรักษาตัวที่บ้าน และให้ดำเนินการแยกตัวอยู่ในโรงแรมแทนการอยู่บ้าน (Hotel Isolation) ซึ่งเป็นรูปแบบที่คล้ายกับโฮสพิเทล แต่รูปแบบใหม่นี้จะมีโรงพยาบาลของรัฐเข้าไปช่วยดูแลผู้ติดเชื้อที่อยู่ในโรงแรม อีกทั้ง ที่ประชุมกำชับหน่วยงานเกี่ยวข้องเรื่องการจัดสอบของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสถานที่สอบต้องมีความปลอดภัย และต้องจัดพื้นที่แยกสอบกรณีของนักเรียนที่มาสอบ แต่ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่มีอาการ และให้ผู้ทำหน้าที่คุมการสอบในพื้นที่แยกส่วนตรงนี้ ต้องสวมชุดพีพีอีด้วย แต่ถ้าพบว่านักเรียนที่ติดเชื้อมีอาการสีแดง จะถูกส่งตัวไปรักษาทันที และพิจารณาให้ไปสอบในภายหลัง ทั้งนี้ ที่ประชุมเน้นย้ำให้เคร่งครัดมาตรการดูแลความปลอดภัยในการเปิดเรียนในที่ตั้ง