ไม่พบผลการค้นหา
‘เอกนัฏ พร้อมพันธุ์’ หรือ ‘ขิง’ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ชื่อว่าเป็น ส.ส.ที่มีอายุน้อยที่สุดในรัฐสภา ก่อนที่จะลาออกเพื่อเป็นโฆษกของกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ที่ต้องการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง

‘เอกนัฏ’ เปิดที่ทำการพรรคให้ ‘วอยซ์’ สัมภาษณ์พิเศษผ่าน #VoicePolitics ถึงเรื่องราวชีวิตของเด็กที่เติบโตในตระกูลนักการเมือง สู่เด็กนักเรียนนอกดีกรีมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด และมีไอดอลคือ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ได้โอกาสเป็น ‘ส.ส.ขิงอ่อน’

ด้วยสถานการณ์ที่จำเป็น ทำให้ 'เอกนัฏ' ต้องสวมบทเป็นเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติที่มีอายุน้อยที่สุด และเป็นพรรคที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เลือกจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ลำดับที่ 1

เอกนัฏ VoicePolitics IMG_7427.jpeg

‘เด็กบ้าการเมือง’ - ‘ความหวังหมู่บ้าน’ ตระกูลเลือดนักการเมือง

ผมเป็นคนบ้าการเมืองตั้งแต่เด็ก เหมือนมันมีการเมืองอยู่ในสายเลือด โดยเฉพาะเรื่องการเมืองเนี่ย ผมโตมาในครอบครัวนักการเมือง มีคุณพ่อเป็น 'พรเทพ เตชะไพบูลย์' อดีต ส.ส. บุรีรัมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐบาลชวน หลีกภัย และแม่คือ 'ศรีสกุล พร้อมพันธุ์' อดีต ส.ส.นครราชสีมา หลายสมัย เพราะฉะนั้นทั้งตระกูลตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่เป็นนักการเมืองแทบจะทุกคน เราก็เลยเหมือนเป็นความหวังของหมู่บ้าน

ผมเป็นคนสนิทกับคุณแม่มาก และตอนที่ไปเรียนอยู่ต่างประเทศเนี่ยก็จะโทรคุยกับคุณแม่เรื่องการเมืองตลอด เวลาอ่านหนังสือพิมพ์ หรืออ่านนิตยสาร ก็ดูแค่ 2 หน้า คือหน้าบันเทิง และหน้าการเมือง หน้าบันเทิงเอาไว้คุยกับเพื่อนได้ แต่หน้าการเมืองเนี่ยเป็นสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราสนใจมาตั้งแต่เด็ก

แต่ยอมรับว่าสมัยเรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เอ็นจอยกับการเมืองที่อังกฤษเลย อยู่กับเพื่อนเหมือนเด็กทั่วไป เรียนเสร็จจากมหาวิทยาลัยก็เข้าผับเข้าบาร์ไปสังสรรค์ทานข้าวกับเพื่อน ดื่มเล่นเที่ยวเล่นเหมือนคนทั่วไป แต่ความสนใจทางการเมืองมันเป็นความสนใจทางการเมืองประเทศไทยมากกว่า ซึ่งการเมืองทั้งสองประเทศนี้ไม่เหมือนกันเลย การเมืองประเทศอังกฤษเป็นระบบที่ค่อนข้างตายตัว จุดยืนทางการเมืองของพรรคการเมืองชัดเจน และมีอยู่ไม่กี่พรรค

กลับกันการเมืองประเทศไทยมีพรรคการเมืองเยอะแยะเต็มไปหมด ล่าสุดก็มีพรรครวมไทยสร้างชาติ (หัวเราะ) และนอกจากการเมืิองในระบบที่เป็นพรรคการเมือง แต่ตอนช่วงปี 2549-2550 ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวของประชาชน เริ่มต้นจากกลุ่มพันธมิตรแล้วในที่สุดตอนที่ผมไปช่วยงานรัฐบาลอยู่ปี 2552-2554 ก็เจอกับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง (นปช.)  

"มันกำลังเข้าสู่การเมืองอีกยุคหนึ่ง ทั้งฝั่งพันธมิตร เหลือง แดง กปปส. และเริ่มมีกลุ่มเด็กเยาวชน แต่ตอนนี้ผมว่าการเมืองนอกสภาฯ มันถึงจุดอิ่มตัว และเริ่มจะนิ่งแล้ว ซึ่งวันนี้ทางฝั่งเสื้อแดงก็เริ่มออกมาพูด มันมีการพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไป พวกผมเองหลายคนตอนนี้ก็นิ่งไปเยอะแล้ว"

เอกนัฏ VoicePolitcs _8099.jpegเอกนัฏ VoicePolitics โคทเพท IMG_8243.jpeg


‘เด็กนอก’ ใน ‘คอก’ การเมืองไทย ท้าทายในสนามการเมือง

ผมได้มีโอกาสลงสมัครผู้แทนราษฎรในปี 2554 ความรู้สึก ณ วันนั้นเองก็หืดขึ้นคอ เพราะว่าเดิมในกรุงเทพฯ ส.ส.ประชาธิปัตย์ เป็นแชมป์เก่าอยู่ 20 กว่าคน ซึ่งมันก็เหลือเขตที่ไม่เคยได้แชมป์ประมาณ 10 เขต อย่างเขตของผมเองคือ 'ทวีวัฒนา-หนองแขม' ประชาธิปัตย์ไม่เคยชนะ แม้ว่ากติกาแบบเขตเดียวเบอร์เดียวก็ไม่เคยมีผู้แทนในเขตนี้มาก่อน

โดยลงไปทำพื้นที่อยู่ประมาณ 4-5 เดือนก่อนจะมีการเลือกตั้งในปีนั้น มันค่อนข้างหนักอยู่พอสมควร เพราะในเขตนั้นแชมป์เก่าคือ 'ลุงแหวง' (แสวง ฤกษ์จรัล) เป็นผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย และยากขึ้นไปอีก เพราะในละแวกนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นที่รู้จักของลุงแหวง แต่ในที่สุดก็ได้รับเลือกตั้ง ชนะแชมป์เก่า ไปพบเจอท่าน ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไรให้กำลังใจเราในการทำงาน

ความรู้สึกตอนนั้นที่ได้ชื่อว่าเป็น 'ส.ส.อายุน้อยที่สุด' ตอนเข้าไปใหม่ๆ ไม่รู้สึกช็อกกับวัฒนธรรมการเมือง เพราะเราเคยทำงานช่วยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์มาก่อน โดยรวมบรรยากาศยังดีอยู่ ในปี 2554 ก็ดี ปี 2555 ก็ดี แต่มันเริ่มจะมีกลิ่น มีเค้าลางว่าจะมีปัญหาก็เมื่อปี 2556 ที่มีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นั่นคือจุดเริ่มต้นของบรรยากาศที่ไม่ดีในสภาฯ

และความรู้สึกที่ไม่ดี มันไม่ใช่เฉพาะ ส.ส.ของพรรคฝ่ายค้านเท่านั้น แต่ผมสัมผัสได้เลยว่า ส.ส. ฝั่งรัฐบาลเองก็ไม่ดี และไม่เข้าใจในสิ่งที่มันเกิดขึ้น ส.ส.พรรครัฐบาลในขณะนั้นหลายคนมาบ่นกับฝ่ายค้าน ในทำนองที่ว่า "โห มันผ่านวาระ 1 วาระ 2 มา ไปสุดซอยแบบนี้ โกลาหลแน่นอน" ซึ่งหลายคนเขาก็เข้าใจ แต่จำนวน ส.ส. ส่วนหนึ่งเหล่านั้น เขาทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องไปตามนั้น มันก็เลยเกิดบรรยากาศมีแรงเสียดทานในสภา 


ยืนยัน ‘รัฐประหาร’ ไม่ได้เกิดจากม็อบ กปปส.

เมื่อบรรยากาศของรัฐสภามันไม่ปกติ รัฐบาลไม่เปิดโอกาสให้ผมซึ่งเป็นฝ่ายค้านได้พูด ผมก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ผมจึงได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นผู้แทนฯ มาร่วมขบวนชุมนุมของกลุ่ม กปปส. หลายคนอาจจะมองข้ามการชุมนุมในช่วงนั้น และมาโผล่ที่การรัฐประหารเลย แต่ในความจริงประวัติศาสตร์ช่วงนั้นตั้งแต่ตอนออกมาชุมนุมจนมีการรัฐประหารมันเป็นช่วงเวลาประมาณ 1 ปี ผมว่ามันมีช่วงหนึ่งที่ถูกตัดออกไปคือ ช่วงที่เขาพยายามคัดค้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้งในสภาจนในที่สุดถูกปิดกั้นในสภา ก็ต้องออกมานอกสภา แล้วก็มีประชาชน กระทั่งนักศึกษาในวันนั้นก็ออกมาร่วมกระบวนการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จำนวนมาก

ผมคิดว่า เราไม่ควรที่จะศึกษาประวัติศาสตร์เฉพาะช่วงใดช่วงหนึ่ง เราก็ดูกว้างๆ ผมไม่ได้บอกว่าสิ่งที่เราทำมันผิดหรือถูก แต่ว่าเราอาจจะต้องมองภาพให้มันกว้างขึ้น ไม่ไปหยิบเฉพาะบางช่วงบางตอนมา ถ้าไปดูในตอนที่ในที่สุดมันมีการรัฐประหาร แต่ไม่ดูความเป็นมาก่อนหน้าว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง อันนี้ผมว่า มันเป็นการตัดตอนประวัติศาสตร์

"ถ้าย้อนกลับไปได้ถึงวันนั้นก่อนที่รัฐบาลจะมีการออกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถ้าไม่ออกกฎหมายนั้น มันก็ไม่ต้องออกมาชุมนุม และมันก็ไม่มีการรัฐประหาร ในใจจริงอยากจะย้อนกลับไปอีกนิดนึง แต่มันคงทำไม่ได้ เพราะว่าเวลามันล่วงเลยมาถึงวันนี้แล้ว เราก็แค่ต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น และประวัติศาสตร์ก็เป็นครูที่เราต้องเรียนรู้จากมันเพื่อนำมันมาพยายามปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น 

เอกนัฏ VoicePolitics โคทเพท IMG_8240.jpeg


‘รัฐประหาร’ ช่วงเวลาทำใจที่ทำให้ชีวิตได้คิดทบทวน

จนในที่สุดเมื่อกลุ่มมวลชนสามารถขับเคลื่อนไปได้ในระยะหนึ่ง ทางกองทัพก็ได้ให้ทั้งสองฝ่ายเข้าพบ แล้วก็สั่งการบ้านให้ไปคุยกันมาว่าจะออกเป็นกฎหมาย พ.ร.บ.ปรองดอง ไหม แต่ดูแล้วว่า บรรยากาศตอนที่เข้าไปคุยหลังจากไปทำการบ้านมามันน่าจะคุยกันไม่จบเพราะแต่ละฝ่ายยังไม่มีการลดราวาศอก ในที่สุดก็เกิดการรัฐประหาร ตอนเวลาประมาณ 16.00 น. ผมก็ตกใจที่ทหารเข้ามาแล้วทุกๆ คนที่อยู่ในห้องนั้นก็ถูกลำเลียงขึ้นไปในรถตู้

"ผมจำได้เลยเดินผ่านคุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ท่านก็เปิดกระจกลงมา หันมาทักกับผมบอกว่า ขิงทำใจดีๆ ไว้นะน้อง ผมก็กระซิบบอก พี่เหมือนกันนะ ให้ทำใจดีๆ เอาไว้"

แต่จริงๆ ช่วงระยะเวลา 1 ปีของการชุมนุม มันก็มีบางช่วงบางตอนที่เราคิดว่าอาจจะเอาชีวิตไม่รอดเหมือนกัน เดินๆ อยู่ก็มีระเบิดตกอยู่ข้างหน้าแถวถนนบรรทัดทอง และผมเองก็อยู่ห่างจากจุดที่ระเบิดตกเพียง 100 เมตร เมื่อเดินไปก็ยังเห็นกลุ่มคนที่บาดเจ็บ ยังเห็นกองเลือดของคนที่มาร่วมชุมนุมอยู่เลย ซึ่งทางครอบครัวผมเองก็เป็นห่วง แต่เมื่อมันมาถึงจุดนี้ก็เตรียมใจไว้แล้ว เตรียมใจไว้ระดับหนึ่ง

ในท้ายที่สุดพอถูกปล่อยตัวออกมาจากการควบคุมตัวที่ค่ายทหาร หลังจากนั้นผมก็รีบไปบวชเลย เพราะในชีวิตนี้คิดอยากบวชมานาน ตอนเป็นผู้แทนราษฎรมันบวชไม่ได้ ซึ่งก็ได้สงบสติอารมณ์ ใช้สมาธิอยู่กับตัวเองพักใหญ่ เพราะตลอด 1 ปีที่เดินขวนมา เหตุการณ์ต่างๆ มันเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ซึ่งมันก็ทำให้เราได้ใช้เวลาทบทวนกับสิ่งที่ทำลงไป

เอกนัฏ VoicePolitics โคทเพท IMG_8242.jpeg


ประสบการณ์ในคอกการเมือง ในวันที่ ‘ขิงอ่อน’ แตกยอดเป็น‘ขิง (กึ่ง) แก่’ 

ตอนนี้น่าจะยังเป็นขิงกึ่งอ่อนกึ่งแก่ แต่ว่าแก่เร็วขึ้นเยอะมาก ช่างตัดผมประจำตัวผมบอกว่า "คุณขิงสังเกตไหมว่า ผมนี่ขาวขึ้นทุกวัน แล้วขาวเร็วขึ้นมาก" (หัวเราะ) ซึ่งผมเป็นคนดวงแปลกอย่างหนึ่ง ต้องไปอยู่ในเหตุการณ์อะไรที่มันท้าทาย เพราะตั้งแต่เรียนจบมาก็อยู่ในช่วงจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มาทำงานร่วมกับรัฐบาลในขณะนั้นก็เป็นช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง (นปช.) ต้องนอนในค่ายทหาร แต่ก็ไม่ได้หลับไม่ได้นอน ถือโทรศัพท์ 9-10 เครื่อง ต้องคอยประสานงานโน่นนั่นนี่อยู่ตลอดเวลา ถ้านับเวลาได้นอนแบบเต็มอิ่มจริงๆ ก็เพียงวันละ 1-2 ชั่วโมง เท่านั้น

มาวันนี้วันที่เราเป็น "ขิงกึ่งแก่" นึกว่าทุกอย่างมันจะจบลงสบายๆ แต่กลายเป็นว่าเราก็มาตั้งพรรคการเมือง เป็นเลขาธิการพรรคการเมือง จนกระทั่งเป็นพรรคที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เลือกที่จะมาสมัครเป็นสมาชิกพรรค

บอกตรงๆ ผมก็นึกย้อนไปในวันนั้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยยังเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ปิดตา คลุมหัวแล้วลำเลียงขึ้นรถตู้ก่อนจะมีการรัฐประหารเหมือนกันนะ แต่มานึกย้อนอีกทีเขาก็อาจจะทำไปเพื่อความปลอดภัยของเรา ส่วนวันนี้เรามาทำพรรคการเมือง มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เพราะฉะนั้นผมไม่ได้คิดเรื่องความสัมพันธ์ ความรักความชอบ หรือความไม่ชอบส่วนตัว เพราะอันนี้เรามาทำเพื่อส่วนรวมเรื่องความรู้สึกส่วนตัวเก่าๆ ที่เกิดขึ้น ผมไม่เอาสนใจมากเท่าไหร่

รวมถึงนี่ก็เป็นปณิธานของพรรครวมไทยสร้างชาติด้วย ผมคุยกับ 'พีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค' (หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ) รวมไปถึงท่านนายกฯ ด้วยว่าไหนๆ เรามาทำพรรคใหม่แล้ว เราก็ต้องทำอะไรใหม่ๆ อย่าไปติดยึดกับอดีต โดยเฉพาะกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอดีต เพราะมันไม่ควรเป็นอุปสรรคในการเดินหน้าต่อไปในอนาคต

"นี่ก็คือความแปลกของดวงชะตาเหมือนกัน ที่มันบังคับให้เราอยู่ในจุดที่ต้องท้าทายตลอดเวลา แต่ก็ดีครับเพราะผมชอบความท้าทาย ชอบเผชิญกับอะไรที่มันท้าทาย มันใหม่ มันใหญ่กว่าตัวเรา เพราะผมเชื่อว่า ทั้งหมดนี้มันจะทำให้ผมเก่งขึ้น"


ไม่มีคำว่า ‘นายกฯ’ อยู่ใน ‘ฝัน’ ทางการเมือง

"บอกตรงๆ เลยนะครับ ไม่เคย ไม่เคยคิดถึงตรงนั้นเลย"

ผมเป็นคนที่ไม่พยายามไปวาดภาพอนาคตตัวเองจนไกลเกินไป เราอยู่กับปัจจุบัน เราทำปัจจุบันให้ดีที่สุด แล้วผมมีความเชื่อว่า ศักยภาพของตัวเรา หรือพรสวรรค์ของตัวเรามันได้แค่นี้ ตั้งแต่เกิดมามันก็มีอยู่แค่นี้ มันไม่อาจไปถึงตรงนั้นได้ แต่เราสามารถขยันสู้ได้ ดังนั้นเราต้องอดทนกับสิ่งที่มันผิดพลาดกับความล้มเหลว ตัวเราทบทวนแล้วลุกขึ้นสู้ใหม่ฃ

ส่วนความผิดพลาดของตัวเองที่ผมรับรู้มาตลอด และไม่มีอะไรต้องปิดบังคือ ในวันนี้ที่มีคนมาสบประมาทผมว่า เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 ผมลงสมัครผู้แทนฯ และผมสอบตก แต่วันนั้นผู้สมัคร ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ก็ตกกันทั้งชั้น บางคนเป็นมา 4 สมัย 5 สมัย สอบตกกันหมด ไม่มีอะไรที่ต้องปิดบัง หรือต้องอาย

เรื่องตำแหน่งใดๆ ที่ใหญ่เกินตัวนั้นผมไม่ได้คิด เพราะผมเป็นคนไม่แคร์กับเรื่องพวกตำแหน่ง ผมขอแค่ว่า ให้ผมมีพื้นที่ได้ทำงาน จริงๆ อันนี้ความลับนะ ตอนก่อนมาเป็นเลขาธิการพรรค ผมเจรจากับหัวหน้าพรรคอยู่นาน เพราะผมไม่อยากเป็นเลขาธิการพรรค ผมคิดแค่ว่า อยู่ตรงไหนก็ทำได้ที่ผมได้ทำงาน ได้สานต่อภารกิจที่ผมคิดว่า ผมอยากทำ ผมอยากมีพรรคการเมืองที่มีปณิธาน มีอุดมการณ์ มีจุดยืนแบบนี้ ก็อยากจะมาช่วยทำ แต่ในที่สุด ไปๆ มาๆ ก็ต้องมาเป็นเลขาธิการพรรค และเมื่อเป็นแล้วก็ออกไม่ได้ ต้องเป็นต่อไป

แต่ถ้าหากผมไม่ใช่คนที่ต้องมาอยู่ในตำแหน่งทางการเมืองแบบนี้ ก็เคยจินตนาการไปสุดโต่งเหมือนกันนะ ถ้าวันหนึ่งแทนที่จะขึ้่นเวทีปราศรัย กลับกลายต้องมาเป็นคนที่จับไมค์ร้องเพลงแทน เป็นดารานักแสดง ก็น่าจะสนุกดี แต่ถ้าให้ร้องเพลงเนี่ย ผมคงสู้ท่านนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์) ไม่ได้ ต้องมีคนกลับแน่นอน

เอกนัฏ VoicePolitics โคทเพท IMG_8241.jpeg

ฝันเพียงอย่างเดียว ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ต้องเป็น ‘สถาบันการเมือง’

พรรครวมไทยสร้างชาติต้องเป็นพรรคที่ยึดมั่นใน 3 สถาบันเสาหลัก คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และในมุมมองผม ดีแล้วที่ได้มาพูดคุยกับ ‘วอยซ์’ ผมไม่ได้มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความงมงาย ผมมองว่ามันคือ สิ่งที่ประเทศต้องมี เราต้องมีความภูมิใจในความเป็นไทย มันต้องมีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวคนไทยทั้งประเทศเอาไว้ ด้วยความรัก ความสามัคคี เพื่อให้ทุกคน ไม่ว่าคุณจะมาจากภาคไหน อายุเท่าไหร่ เพศไหน ฐานะคุณเป็นยังไง มันสามารถรวมกันได้ด้วยความภูมิใจในความเป็นไทย 

ส่วนนโยบายของพรรคที่เราจะดูในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน เราอย่าไปมองเฉพาะถนนหนทาง แต่เมื่อเราเชื่อมั่นในการปกครองด้วยหลักนิติธรรม นิติรัฐ มันต้องมีการพัฒนากฎหมายไปด้วย เพราะบ้านเมืองมันต้องปกครองด้วยกฎหมาย กฎระเบียบ กติกาที่มันล้าสมัย ต้องรื้อให้หมด มีการทบทวน ทั้งหมดนี้คือ ดีเอ็นเอ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ และทุกคนที่จะมาร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ผมก็ซักซ้อมหมดว่า มีแนวคิดที่เห็นตรงกันไหม ถ้าใครขึ้นเวทีปราศรัยไปแล้วพูดถึงนโยบายที่แจกเงิน ให้เงิน ลดแลกแจกแถม หรือประกันค่าแรง ผมไม่เห็นด้วย เพราะถ้าเราแข่งกันใช้ แข่งกัน มันก็เหมือนกับแข่งกันประมูลให้ประเทศล้มละลาย

ถ้าผมจะทำสิ่งที่ผมพูดเมื่อสักครู่ให้สำเร็จได้ พรรคต้องเป็นสถาบันทางการเมือง และเวลาเพียง 1 ปี ผมทำไม่สำเร็จหรอกครับ ในสิ่งที่ผมยากทำ และอยากให้่มันอยู่กับเราต่อไปมันต้องยั่งยืน ใช้ระยะเวลานานไม่ใช่แค่ 5-10 ปี มันต้องเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเราไปตลอดยาวนานมากกว่านั้น นั่นคือ "ความใฝ่ฝันของผม

เอกนัฏ VoicePolitcs IMG_8096.jpeg
ความในใจศิษย์เก่า ‘ประชาธิปัตย์’ ผ่าวิกฤติผลัดใบ

ผมกล้าพูดเลยว่า "ผมเติบโตมากับพรรคประชาธิปัตย์..."

จริงๆ ตอนปิดเทอม ผมกลับมาจากต่างประเทศในช่วงวันหยุด ผมไปเกาะติดข้างเวทีปราศรัยตลอด เพราะชอบฟังเวลาเขาพูด หรือเวลาเขาไปหาเสียง ทำกิจกรรมทางการเมืองผมก็ไปตลอด และได้มีโอกาสเจอคุณอภิสิทธิ์ ก็เข้าไปยกมือไหว้สวัสดีบอกกับเขาว่า เราอยากมาทำการเมือง ท่านก็ตบไหล่เราบอกว่า เดี๋ยวเรียนจบแล้วมาช่วยกัน แล้วก็ได้มาช่วยงานจริงๆ

แต่เรื่องความนิยมของพรรค เกิด แก่ เจ็บ ตายมันเป็นเรื่องธรรมชาติ ผมก็ยังมีความรัก มีความเคารพผูกพันกับพรรคประชาธิปัตย์อยู่พอสมควร แล้วก็มีผู้ใหญ่หลายท่านในพรรคที่ผมให้ความเคารพนับถือ ส่วนหนึ่งที่ผมมีวันนี้ได้ก็มาจากพรรคประชาธิปัตย์ แล้วก็เป็นสถาบันที่ให้ผมเรียนรู้อะไรหลายอย่าง มีประสบการณ์อะไรหลายอย่างที่ทั้งดี และไม่ดีกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่มันก็เป็นประสบการณ์ที่เราสามารถเรียนรู้จากมัน และทำให้เป็นตัวเราในวันนี้ ผมไม่อยากไปวิจารณ์ไม่อยากไปพูด ต้องให้สิทธิ์เขาในการที่จะชี้แจงเองว่าเป็นยังไง เราคิดแค่ว่า วันนี้เราคิดทำตัวให้ดีก็ยากมากแล้ว 


คำเตือนจาก ‘ขิง (กึ่ง) แก่’ แด่ ‘ขิง’ หน่อใหม่ในสภาฯ 

ผมดีใจทุกครั้งที่เห็นคนใหม่ๆ ตัดสินใจเข้ามาสู่การเมือง มันมาทำให้ผมย้อนกลับไปคิดทบทวนถึงวันแรกที่ผมเข้ามาในการเมืองไทยด้วยจินตนาการ ด้วยไฟ ด้วยความหวังที่มันเต็มเปี่ยม เต็มที่ แล้วก็ดีใจที่เห็นคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามา หรือคนใหม่ที่ไม่ใช่รุ่นใหม่เข้ามา

สิ่งที่ผมอยากบอกคือ "ไม่อยากให้ปฏิเสธการเมือง" เพราะผมรู้สึกไม่ดีที่หลายครั้งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การเมืองมันแย่ แต่เราก็เข้าใจ ในทางกลับกัน ถ้าอยากให้การเมืองมันดีก็ต้องมาช่วยกันทำ อยากเห็นคนเก่งๆ คนมีความสามารถเข้ามาทำการเมือง 

ผมอยากให้พวกเขาเข้ามา ในแบบที่ผมวันแรกเข้ามาคือ พกไฟมาให้เต็มที่เลย พกพลังมาให้เต็มเลยเพราะเดี๋ยวคุณต้องได้ใช้แน่นอน แล้วก็เป็นคำเตือนไว้ก่อนว่า "ในวงการนี้มันเป็นวงการที่อาจจะพิเศษ บางมุมคนก็มองว่า มันพิศดาร มันต้องใช้ความอดทน"

พวกคุณมีความตั้งใจ คุณจะขยัน คุณสู้แน่ แต่คุณต้องประสบกับปัญหา คุณอาจจะต้องผิดพลาด คุณอาจจะต้องมีความล้มเหลว แต่ให้ใช้ความอดทน และให้นึกถึงวันแรกที่คุณเข้ามา แล้วให้นึกถึงวันแรกทบทวนว่าจุดยืนของคุณวันแรกที่คุณเข้ามาคืออะไร แล้วให้มีใจ แล้วเราต้องมีใจมีความตั้งใจที่จะก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ เพื่อที่จะผลักดัน สิ่งที่เราอยากให้มันสำเร็จให้ได้ ก็อันนี้เป็นคำเตือนไว้ เพราะนอกจากให้เข้ามา ผมอยากให้อยู่ด้วย บางคนเข้ามาเสร็จ 2-3 เดือนพอถูกรับน้อง ก็ลาออก เราก็ได้แต่บอกให้ใจเย็นๆ ไม่เป็นไร อดทนไป เดี๋ยวมันก็ดีขึ้นเอง เราต้องมาช่วยกัน มาช่วยกันทำการเมืองให้มันดี

เอกนัฏ VoicePolitcs  IMG_8102.jpegเอกนัฏ VoicePolitics โคทเพท IMG_8239.jpeg

ภาพ - ปฏิภัทร จันทร์ทอง

ทัตตพันธุ์ สว่างจันทร์
คนหาข่าวการเมืองประจำทำเนียบฯ-องค์กรอิสระ-กระทรวงมหาดไทย เนิร์ดเรื่องการเมืองวัฒนธรรม-วาทกรรมการเมือง-เบียร์
18Article
0Video
0Blog